STRATA สิ่งที่เห็นอาจไม่ใช่สิ่งที่เป็น

STRATA สิ่งที่เห็นอาจไม่ใช่สิ่งที่เป็น

STRATA โปรเจคงาน Pop-up Exhibition ภาพถ่ายจัดโดยโฟโต้บางกอกและวันโปรเจค (1PROJECTS) สะกดเราด้วยภาพถ่ายขาวดำของนางแบบที่โพสต์ท่าคู่กับกล้องถ่ายรูปในท่วงท่าน่ามอง

ภาพสะท้อนความงามความมีชีวิตชีวาขณะเดียวกันก็แฝงไปด้วยกลิ่นอายของแฟชั่น ทำให้เราไม่อาจละสายตาไปจากภาพประชาสัมพันธ์งานแสดงภาพถ่ายนี้ไปได้เลย

STRATA จัดแสดงผลงานภาพถ่ายจาก 7 ศิลปิน แบ่งออกเป็น 5 นิทรรศการ ได้แก่ Madrid in Black and White โดย  Luis Del Amo นำเสนอภาพถ่ายแฟชั่นของมาดริด ประเทศสเปนในยุค 80s และ 90s ผ่านภาพถ่ายฟิล์มขาวดำ 35 มม.และฟิล์ม medium format ในยุคที่ยังไม่มีโรงเรียนสอนถ่ายภาพ ไม่มีโปรแกรมโฟโต้ช้อป เบื้องหลังของภาพถ่ายแต่ละภาพรวมทั้งภาพที่นำมาเป็นโปสเตอร์ประชาสัมพันธ์นี้ล้วนเกิดจากความคิดสร้างสรรค์ประกอบกับไหวพริบในการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าของช่างภาพและผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่าย

  Expanse โดย Suzanne Moxhay ศิลปินชาวอังกฤษที่นำเทคนิค matte painting ที่ใช้ในภาพยนตร์สมัยก่อน นำมาผสมผสานกับการแต่งภาพด้วยดิจิทัลและเทคนิค  mixed media สร้างภาพขึ้นมาใหม่ที่เสมือนเป็นการจัดฉากของสถานที่ซึ่งหลอมรวมความจริงและจินตนาการเข้าด้วยกันจนยากที่จะชี้ชัดลงไปได้

  ฉันรักเมืองไทย นิทรรศการของ นรภัทร ศักดิ์อาธรทรัพย์ และชรินทร ราชุรัชต สะท้อนภาพสภาพสังคมไทยผ่านแนวคิดของคนรุ่นใหม่ ชรินทร เลือกวิเคราะห์ประโยค “ฉันรักเมืองไทย” ที่ถูกสอนให้ท่องซ้ำๆในตอนที่เป็นนักเรียน ขณะที่นรภัทรใช้ดอกไม้เป็นสื่อในการบอกเล่าถึงผลกระทบของสังคมที่มีต่อบุคคล

What a wonderful World ?  โดย 2 ศิลปิน ได้แก่ Tetsuya Kusu และ John Hulme  ศิลปินชาวญี่ปุ่นกับผลงานภาพถ่ายที่ดูเหมือนแฝงไปด้วยอารมณ์ขัน หากความจริงกลับเป็นการบันทึกและวิเคราะห์ตัวเองผ่านผลงานภาพถ่าย ในส่วนของช่างภาพชาวสก็อตแลนด์นำเสนอภาพชีวิตของแรงงานข้ามชาติอย่างตรงไปตรงมา เพื่อแสดงให้เห็นถึงความภาคภูมิใจในตัวตนและศักดิ์ศรีของตนเองแม้จะอยู่ในสถานการณ์ชีวิตที่ลำบาก

และ Interlude  นิทรรศการที่นำเสนอภาพกรุงเทพฯในมุมที่นิ่ง สงบ ราวกับเมืองหลวงอันวุ่นวายได้หยุดหายใจ ผลงานภาพถ่ายของ เอกรัตน์ ปัญญะธารา ที่หยุดเวลาไว้ได้อย่างน่าทึ่ง

  นิ่ม นิยมศิลป์ ภัณฑารักษ์ อธิบายถึงความหมายของคำว่า STRATA ในที่นี้ว่า เปรียบเสมือนกับเป็นชั้น หรือ layer ของสังคมที่มีความแตกต่างกัน ไม่ว่าจะเป็นศิลปินที่แต่ละคนล้วนมีที่มาและเรื่องราวที่ต่างกัน

“ภาพถ่ายแฟชั่นบางคนอาจมองว่าเป็นภาพสวยงาม แต่ผลงานในยุค 80s-90s ช่วงนั้นเป็นช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม การทำงานด้านครีเอทีฟ ทุกคนต้องทำเอง ศึกษาเอง เบื้องหลังไม่ใช่ความสวยงาม เป็นส่วนหนึ่งที่เราอยากจะพูด

เราอยากนำเสนอกระบวนการทำงาน อยากให้วิเคราะห์ว่าอาจจะมีอะไรมากกว่านั้น อยากให้คนตั้งคำถามว่าสิ่งที่เราเชื่อ อาจจะไม่ใช่ความจริงก็ได้ ตอนนี้สังคมต้องการคนที่พยายามคิดให้เป็น ซึ่งสิ่งที่คิดก็ไม่ได้จะบอกว่ามันถูกหรือผิด แต่อย่างน้อยถ้าเริ่มคิดบ้าง โดยนำเสนอจากคนหลายรูปแบบจะได้มีตัวอย่างให้เราเห็น

งานของ Suzanne ได้แรงบันดาลใจมาจาก matte painting อุตสาหกรรมภาพยนตร์ เมื่อเพ้นท์สีลงไปบนกระจกแล้วถ่ายรูปออกมาอีกครั้งหนึ่ง แล้วนำเอาโมเดลต้นไม้ หรือ ภาพตัดจากนิตยสารมาจัดวางเหมือนเป็นฉาก

สิ่งที่ศิลปินต้องการพูดถึง คือ ความจริงกับจินตนาการ เป็นการสร้างพื้นที่ขึ้นมาพูดถึง ขอบเขตความจริงกับจินตนาการไม่มีเส้นแบ่งเขต ดูครั้งแรกอาจจะคิดว่าไปถ่ายที่ไหน แต่เมื่อมาพิจารณาจริงๆแล้วจะพบว่ามันมันไม่ใช่

งานเขาที่สร้างจากสิ่งเล็กๆ จริงๆแล้วสะท้อนสภาพสังคมปัจจุบัน ทุกอย่างเดี๋ยวนี้มันไม่มีอะไรที่จะง่ายหรือเป็นเส้นทางเดียว ความจริงทุกอย่างเกิดจากสิ่งเล็กๆมาประกอบกัน จริงๆแล้วก็อยู่ที่มุมมอง ของคน ว่าเราจะจับตรงไหน” ที่น่าสนใจคือ เป็นเทคนิคที่ไม่เคยเห็นมาก่อน นิ่มบอกกับเรา

สำหรับนิทรรศการ I love Thailand เป็นการจับคู่ผลงานของช่างภาพรุ่นใหม่ ชรินทร และนรภัทร ที่ชวนวิพากษ์สังคมในแง่มุมที่ต่างกัน

“ชรินทรทำซีรี่ส์เรื่องฉันรักเมืองไทย เขาตั้งคำถามว่าสิ่งที่โรงเรียนให้ท่องตอนเด็กๆว่า ฉันรักเมืองไทย ทำไมเราต้องพูด สิ่งที่พูดมีความหมายมากน้อยเพียงใด

นรภัทร ใช้การจัดดอกไม้เป็นการสื่อสาร พูดถึงสภาพสังคม เขานำดอกไม้ไปจัดตามพื้นที่ที่คุ้นเคย เขารู้สึกว่าสังคมไทยค่อนข้างมีข้อจำกัดในสิ่งที่เราสามารถเป็นหรือไม่ได้เป็น เด็กผู้ชายชอบดอกไม้ไม่ได้ ทำไมชอบสีชมพูไม่ได้

ทุกคนพยายามให้เขาต้องเป็นอะไรสักอย่าง คือสังคมไม่ได้เปิดกว้างกับตรงนี้ เขารู้สึกว่าเมื่อโตไปเขาสูญเสียบางอย่างเหมือนโดนจำกัด ด้วยสิ่งที่ทุกคนบอกว่าควรจะเป็น ตอนนี้พยายามกลับไปมองมันอีก คือไม่ได้พูดถึงตัวเองอย่างเดียวพูดถึงทุกคนที่โดนสภาพสังคมหรือกรอบสังคมทำให้หมดความเป็นตัวตนไป”

สิ่งที่ภัณฑารักษ์ต้องการบอกกับทุกคนก็คือ “อยากให้มองภาพถ่ายว่าเป็นงานศิลปะ ภาพถ่ายมีอะไรมากกว่านั้น ในการที่ศิลปินจะถ่ายภาพหรือเลือกที่จะใช้รูปไหนนำเสนอออกมาเขามี Message ที่ต้องการสื่อสารอยากให้มองดูว่าสิ่งที่เขานำเสนอคืออะไรอยากให้มองลึกลงไปจากสิ่งที่เห็น อาจไม่ใช่เรื่องการเมืองสังคม แต่ทุกคนมีagenda ของตัวเองอยู่แล้ว อยากให้ตั้งคำถามดู”

  เพราะบางทีสิ่งที่เห็นอาจไม่ใช่สิ่งที่เป็นก็ได้

หมายเหตุ : STRATA จัดแสดงที่ริเวอร์ซิตี แบงค็อก วันนี้ -29 กันยายน ,เฉพาะนิทรรศการ Interlude จัดแสดงที่ 1 PROJECTS วันนี้-22 กันยายน นัดหมายเข้าชมได้ที่โทร.08 1699 5298

เรื่อง : ปิ่นอนงค์ ปานชื่น

ภาพ : ปรีชา ภัทรอัมพรชัย