In-Betweenness กับความทรงจำของวันวาน

In-Betweenness  กับความทรงจำของวันวาน

In-Betweenness เป็นนิทรรศการศิลปะที่ว่าด้วยเรื่อง “พื้นที่”และ”ความทรงจำ” ผ่านมุมมองของ 3 ศิลปิน พิษณุ ศุภนิมิตร รัฐ เปลี่ยนสุข และ นักรบ มูลมานัส

พิษณุ ศุภนิมิตร สะท้อนภาพวันวาน-วันนี้ของสวนลุมพินีผ่านมิติของกลางคืน-กลางวัน นักรบ มูลมานัส ชวนระลึกถึงบุคคลในวันนี้ที่จะไม่มีชื่อบันทึกอยู่ในประวัติศาสตร์ความรุ่งเรืองของวันหน้า ในขณะที่ รัฐ เปลี่ยนสุข เปรียบความเปลี่ยนแปลงเป็นดั่งสายลมจากตะวันตกที่พัดพาพื้นที่เกษตรกรรมในอดีตนำไปสู่โครงการเมกะโปรเจคของโลกในวันนี้

สายลมที่มาพร้อมกับฤดูที่เปลี่ยนแปลง ศิลปินแต่ละคนก็เลือกที่จะบันทึกความทรงจำกับ “พื้นที่”ทางประวัติศาสตร์ย่านถนนวิทยุ ศาลาแดง และสวนลุมพินี ในแนวทางของตน

สถานีวิทยุ-ทุ่งนา-อุทยาน 

ทุกวันนี้เราคุ้นเคยกับถนนวิทยุจนลืมไปเลยว่าบริเวณนี้เคยเป็นที่ตั้งของสถานีวิทยุโทรเลขแห่งแรกของประเทศไทย พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชดำริให้กระทรวงทหารเรือเป็นผู้รับผิดชอบในการจัดตั้งและดำเนินกิจการ เพื่อทดลองการส่งสัญญาณวิทยุโทรเลขระหว่างสถานีวิทยุศาลาแดงและสถานีในจังหวัดสงขลา เนื่องจากเป็นกิจการที่มีความสำคัญกับการสื่อสารของทหารเรือโดยตรง

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินไปทรงเปิดสถานีวิทยุโทรเลขที่สร้างขึ้นบนถนนศาลาแดง เมื่อวันที่ 13 มกราคม 2456 ต่อมาในปี 2456 ทรงพระราชทานนามถนนด้านหน้าว่า ถนนวิทยุ

ในขณะที่สวนลุมพินี เดิมเป็นทุ่งนากว้างใหญ่ที่ใช้ประกอบพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญหลายครั้ง ก่อนที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวจะพระราชทานให้เป็นสมบัติของแผ่นดินพร้อมนาม สวนลุมพินี

ในนิทรรศการ In-Betweenness มีการนำภาพถ่ายขาวดำอัดจากฟิล์มกระจกชุดหอพระสมุดวชิรญาณ สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ ซึ่งได้รับการขึ้นทะเบียนจากองค์การยูเนสโกให้เป็นมรดกความทรงจำแห่งโลก ปี 2560 มาจัดแสดงเพื่อย้อนให้เห็นภาพอดีตของสถานีวิทยุศาลาแดง

รวมถึงหอนาฬิกาที่สวนลุมพินี หลักฐานที่เหลืออยู่ของแผนการจัดงาน “เอกซ์โป” ครั้งแรกในสยาม หรือชื่อทางการว่า งานสยามรัฐพิพิธภัณฑ์ ในปี 2468 หากมีอันต้องยกเลิกไปก่อนกำหนดเปิดเพียงไม่นาน เนื่องด้วยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคตอย่างกะทันหันเสียก่อน

พื้นที่แห่งตำนานสวนลุมพินี

  พิษณุ ศุภนิมิต ศิลปินภาพพิมพ์ อาจารย์ และนักเขียน เลือกที่จะนำเสนอผลงาน "พื้นที่แห่งตำนานสวนลุมพินี" ผ่านผลงานจิตรกรรมเทคนิคผสมที่จัดวางราวกับเป็นคัมภีร์เล่มใหญ่ (ขนาด 50x40x200 ซม.) โดยปกหนังสือแต่ละด้านนำเสนอเรื่องราวที่แตกต่างกันในช่วงของยามค่ำกับยามเช้า

“ยามค่ำ สื่อถึงอดีต” อาจารย์พิษณุกล่าวถึงเนื้อหาในส่วนนี้ว่าแบ่งออกเป็น 3 ส่วนด้วยกัน โดยนำแผ่นแม่พิมพ์ไม้ 3 แผ่นมาวางซ้อนกันเหมือนมิติของเวลา

“แผ่นแรกสุดเล่าเรื่องจุดเริ่มต้นของการสร้างสถานีวิทยุ ใช้แม่พิมพ์แกะสลักไม้ที่เราแกะสลักเรื่องราวในส่วนนี้ลงไปมาจัดวางเป็นผลงานเลย (จากปกติที่จะนำกระดาษที่พิมพ์จากแม่พิมพ์มาจัดแสดง) เพราะเราเองเป็นช่างพิมพ์เราอดที่จะใช้เทคนิคเหล่านี้ไม่ได้

ผลงานในส่วนยามค่ำจึงใช้แม่พิมพ์แกะสลักไม้มาทำหน้าที่แทนแคนวาส โดยแผ่นที่สองมีการเพ้นท์สีทับลงไป เนื้อหาเล่าถึงในช่วงรัชกาลที่ 6 เป็นยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 ทรงมีพระราชดำริจะจัดงานเอ็กซโปขึ้นมาเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจ แต่ท้ายที่สุดงานนี้ไม่ได้จัดขึ้นเนื่องจากทรงเสด็จสวรรคตก่อน

โครงการนี้จึงเป็นเพียงโครงการในฝัน

แผ่นที่สามเล่าถึงเหตุการณ์ในช่วงรัชกาลที่ 7 ทรงพระราชทานสวนลุมพินีให้เป็นของประชาชนอย่างแท้จริง ทรงมีดำริให้เป็นเหมือนสวนสนุก มีกระเช้า มีเวทีสำหรับเล่นดนตรีเป็นสถานที่จัดประกวดนางสาวสยาม สวนลุมฯจึงเป็นสถานที่ที่ประชาชนสามารถเข้าไปพักผ่อนหย่อนใจ จัดกิจกรรมสันทนาการ

แผ่นสุดท้ายจึงมีการเพ้นท์สีให้สดใสมากหน่อยเพื่อแสดงให้เห็นช่วงเวลาของการเปลี่ยนแปลง”ศิลปิน บอกกับเรา

ในขณะที่ปกหนังสือยามเช้า นำเสนอภาพจิตรกรรมบนผืนผ้าใบ “หน้านี้พูดถึงรุ่งอรุณของวันใหม่ งานชิ้นนี้จะอยู่ในช่วงเวลาปัจจุบัน เพราะหลังจากนี้ต่อไปพื้นที่ตรงนี้จะเปลี่ยนแปลงไปหมดเลย ช่วงเวลาที่เห็นในภาพอาจไม่มีอีกแล้ว เราอยากบันทึกเอาไว้ ด้วยภาพเล่าเรื่องสิ่งที่เกิดในสวนลุมพินีเพราะเราไม่รู้ว่าอนาคตอะไรจะเกิดขึ้นกับพื้นที่นี้ แต่เราอยากให้คงพื้นที่สีเขียวเอาไว้” ศิลปินกล่าว

สายลมอันอบอุ่น 

รัฐ เปลี่ยนสุข ศิลปิน นักออกแบบ เจ้าของรางวัลนักออกแบบแห่งปี 2561 กล่าวถึงประติมากรรมเทคนิคผสม ชื่อ Zephyr

“คำว่าZephyrแปลว่าลมอันอ่อนโยน ลมอันอบอุ่นหรือลมที่พัดมาจากทิศตะวันตกก็ได้ ในที่นี้เราพูดถึงลมที่เปลี่ยนฤดูกาล ที่เราบอกว่า หว่านวันแม่เก็บเกี่ยววันพ่อ จากต้นกล้าอ่อนในวันแม่พอมาถึงวันพ่อในฤดูหนาวต้นข้าวก็เปลี่ยนเป็นสีทองให้เราเก็บเกี่ยวได้

ผลงานชิ้นนี้มีลักษณะเป็นรวงข้าวสีทองที่สื่อถึงสังคมเกษตรกรรมมีตัวหมู่บ้านที่เป็นสเกลระดับเล็กลมที่มาจากทิศตะวันตกเหมือนพูดถึงอิทธิพลที่มาจากประเทศตะวันตกเช่นกัน ซึ่งนำมาสู่การเปลี่ยนของประเทศไทยด้วย เปลี่ยนภาพลักษณ์ของพื้นที่ด้วย จากพื้นที่เกษตรกรรมในอดีตปัจจุบันเป็นเมกะโปรเจคของโลกไปแล้ว

จากเมืองที่มีบ้านเรือนแบบเกษตรกลายเป็นตึกทาวเวอร์ เหมือนกับข้าวที่ออกรวงเป็นสีทองสุกทำให้เป็นลักษณะของงานเหมือนมีลมพัดจากด้านล่างซึ่งเป็นพื้นฐานเกษตรกรรมขึ้นไปเป็นทาวเวอร์ ในขณะเดียวกันถ้าเข้าไปชมงานใกล้ๆจะมองเห็นรูปทรงบ้านหลายหลังอยู่ข้างในนั้น

การเลือกใช้วัสดุเป็นสีทอง เป็นเพราะอยากให้บ้านแต่ละหลังทำหน้าที่เป็นกระจกสะท้อนภาพของคนที่มาชมงาน ให้รู้ว่าเขาก็เป็นส่วนหนึ่งในบริบทของพื้นที่ด้วย” ศิลปิน กล่าว

นอกจากแนวคิดแล้ว เทคนิคในการทำงานประติมากรรมชิ้นนี้ก็มีความน่าสนใจไม่แพ้กัน กล่าวได้ว่าเป็นงานแฮนด์เมดก็ไม่ผิดนัก เนื่องจากเป็นการนำชิ้นส่วนสแตนเลสที่ผ่านกระบวนการทำให้กลายเป็นสีทองตัดเป็นเส้นคล้ายตอกไม้ไผ่ จากนั้นขึ้นรูปด้วยการสานเทคนิคเดียวกับงานหัตถกรรม

“สะท้อนให้เห็นว่าบ้านเมืองเราที่เจริญขึ้นมาในทุกวันนี้ เติบโตมาจากพื้นฐานเกษตรกรรมจริงๆเมืองเกษตรกรรมที่สุกปลั่ง เมล็ดข้าวออกรวงจึงกลายเป็นตึกรามบ้านช่อง” ศิลปินทิ้งท้าย

 REINCARNATION

 REINCARNATION เป็นผลงานจัดวางภาพเคลื่อนไหวบนชุดจอโปร่งใส ของ นักรบ มูลมานัส ซึ่งทำให้ผู้ชมได้ตื่นตากับการก้าวออกมาจากการนำเสนอผลงานในระนาบ 2 มิติที่ผู้ชมคุ้นตา

“เราอยากทำงานที่มีความพิเศษออกจากกรอบที่เคยทำเลยออกมาเป็นวิดีโอ อินสตอลเลชั่น ประกอบไปด้วยหน้าจอ 5 ชิ้นที่แทนเฟรมของเรา

สิ่งที่เราสนใจคือความทรงจำทางประวัติศาสตร์ ทางวัฒนธรรมของชาติ ไปค้นคว้าข้อมูลว่าทางประวัติศาสตร์ แล้วมาดูพื้นที่จริงของวันแบงคอก ที่เรารู้สึกว่าครั้งหนึ่งเคยเป็นโรงเรียนเตรียมทหาร เคยเป็นสวนลุมไนท์บาร์ซาร์ที่เราเคยมาตอนเด็กๆแล้วจำภาพไม่ค่อยได้แล้ว กำลังเปลี่ยนผ่านเป็นสิ่งใหม่

แต่ในขณะที่เรามาดูมันเป็นพื้นที่ว่างเป็นดินที่เฉอะแฉะ เต็มไปด้วยโครงสร้างและพี่ๆพนักงานก่อสร้าง เรามาคิดถึงเรื่องคนที่อยู่ติดกับพื้นที่มาเชื่อมโยงกับความคิดไทยๆ ถ้าเราเคยมาที่นี่เคยเหยียบแผ่นดินที่นี่ เหมือนเรามีความใกล้ชิดกับสถานที่ที่สุด ทำให้นึกถึงการเวียนว่ายตายเกิด การกลับชาติมาเกิด

โครงการวันบางกอกเป็นโครงการยิ่งใหญ่อีกหน่อยจะได้รับการจารึกเป็นประวัติศาสตร์ แต่จะมีคนกลุ่มหนึ่งที่จะถูกละลืมไป เราก็เลือกที่จะจดจำพวกเขาในพื้นที่เหล่านี้ด้วยการนำภาพของคนงานที่ทำงานอยู่ที่นี่จริงๆ แล้วนำมาผสมผสานในงานรูปแบบคอลลาจด้วยการนำภาพที่เกี่ยวข้องกับเป็นประวัติศาสตร์ความเป็นมาของพื้นที่ในบริเวณนี้ ได้แก่ ภาพสนามมวยลุมพินี รูปวัวเพราะเคยเป็นทุ่งเลี้ยงวัว เคยเป็นสถานที่ประกอบพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ บ้านศาลาแดงที่มาของชื่อ ศาลาแดง ในทุกวันนี้”

นอกจากภาพความทรงจำในอดีตและปัจจุบันที่กำลังจะกลายเป็นอดีตแล้ว ในผลงานชิ้นนี้นักรบยังได้ร่วมมือกับผู้เชี่ยวชาญด้านเสียงออกแบบเสียงเพื่อเพิ่มอรรถรสในการชมผลงานเคลื่อนไหวนี้ด้วย

“งานชิ้นที่ทำขึ้นมาเพื่อจดจำ ในงานนี้มีสิ่งใหม่ที่เกิดขึ้นคือเสียง เสียงได้ยินเกิดจากการนำอุปกรณ์ดักจับเสียงไปวางตามที่ต่างๆใกล้ๆสถานที่ก่อสร้าง อัดเสียงบรรยากาศ เสียงลมคนเดิน นำไปประกอบกับเสียงเก่าๆที่บ่งบอกความเป็นมาของที่นี่ เช่น สถานที่นี้เคยเป็นที่ตั้งของสถานีวิทยุแห่งประเทศไทย

 เราพยายามหาเสียงวิทยุในยุคแรกๆของไทยแต่หาไม่เจอ เลยไปเทียบเคียงกับเสียงวิทยุในยุคใกล้ๆกัน นำมามิกซ์ผสมรวมกับเสียงการฝึกทหารเพราะที่นี่เคยเป็นที่ตั้งของโรงเรียนเตรียมทหารมาก่อน นอกจากนี้ยังมีเสียงปี่จากพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ

มีภาพแล้วเราก็อยากให้มีเสียงมาช่วยเล่าประวัติศาสตร์ด้วย” ศิลปินบอกกับเรา

 

นิทรรศการ In-Betweenness จัดแสดงที่ เดอะ พรีลูด โครงการวัน แบงค็อก (The Prelude One Bangkok)จันทร์ – เสาร์ 09.00–17.00 น. วันนี้ - 30 พฤศจิกายน (ไม่เสียค่าเข้าชม) โทร.0 2080 5777