โมเดลโต 'ออโตคอร์ป โฮลดิ้ง' กินรวบตลาดภูธร

โมเดลโต 'ออโตคอร์ป โฮลดิ้ง' กินรวบตลาดภูธร

ชูจุดเด่นเป็นแบรนด์เบอร์ 1 รถยนต์นั่งส่วนบุคคลความนิยมของคนไทย 3 ปีซ้อน 'ภานุมาศ รังคกูลนุวัฒน์' ผู้ก่อตั้ง 'ออโตคอร์ป โฮลดิ้ง' โชว์พันธกิจสร้างการเติบโต 4 ปี โชว์รูมและศูนย์บริการทั่วภูมิภาคเมืองไทย 15 แห่ง จาก 9 สาขา !!

'จุดเด่น' ของ บมจ.ออโตคอร์ป โฮลดิ้ง หรือ ACG ที่ว่าด้วยเรื่องศักยภาพการเติบโตได้ดีต่อเนื่องจากรถยนต์ 'แบรนด์ฮอนด้า' ได้รับความนิยมจากผู้บริโภคในเมืองไทย สะท้อนผ่าน 'ส่วนแบ่งทางการตลาด' (มาร์เก็ตแชร์) ในตลาดรถยนต์นั่งส่วนบุคคลอันดับ 1 ติดต่อกัน 3 ปี (ปี 2557-2560) ที่ระดับ 31.5% , 32.7% และ 32.2% ตามลำดับ

แต่หากย้อนดูความสามารถในการทำ 'กำไรสุทธิ' ของหุ้น ACG จะพบว่า ตั้งแต่ปี 2559 จนถึงช่วง 6 เดือนแรกของปี 2562 บริษัทมีอัตราการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง จาก 8.741 ล้านบาท ในปี 2559 เป็น 21.54 ล้านบาท ในปี 2560 เป็น 27.68 ล้านบาท ในปี 2561 และงวด 6 เดือนแรกปี 2562 (ม.ค.-มิ.ย.) 30.68 ล้านบาท ในแง่ของรายได้ 1,515.11 ล้านบาท 1,847.14 ล้านบาท 2,413.35 ล้านบาท และ 1,540.97 ล้านบาท ตามลำดับ 

ฐานะการเงินที่เติบโตทุกปี น่าจะสอดคล้องกับ 'วิสัยทัศน์' ของตระกูล 'รังคกูลนุวัฒน์' ในฐานะหุ้นใหญ่สัดส่วน 74% ที่ว่า 'ก้าวขึ้นสู่ความเป็นผู้นำตัวแทนจำหน่าย (Dealers) ของฮอนด้า' โดยมุ่งสู่เป้าหมายการเติบโตต่อเนื่องและยั่งยืน ฉะนั้น เงินที่ได้จากการะดมทุนรอบนี้ประมาณ 200 ล้านบาท สู่เป้าหมายการขยายสาขาทั่วภูมิภาคของประเทศไทย โดยตามแผนธุรกิจตั้งเป้ามีสาขาทั่วทุกภูมิภาคภายในปี 2565 จำนวน 15 สาขา จากปัจจุบันมีจำนวน 9 สาขา  

ปัจจุบัน ACG มีโชว์รูมและศูนย์บริการทั้งหมด 9 แห่ง ประกอบด้วย 1.สาขาจังหวัดสุรินทร์ 2.สาขาจังหวัดบุรีรัมย์ 3.สาขานางรอง จังหวัดบุรีรัมย์ 4.สาขาประชาสโมสร จังหวัดขอนแก่น 5.สาขามะลิวัลย์ (สำนักงานใหญ่) จังหวัดขอนแก่น 6.สาขาวีรวัฒน์โยธิน จังหวัดสุรินทร์ (ศูนย์แสดงสินค้า) 7.สาขาจังหวัดภูเก็ต 8.สาขานาคา จังหวัดภูเก็ต และ 9.สาขาจังหวัดกระบี่

4 ปีข้างหน้า (2562-2565) บริษัทอยากมีสาขาเปิดให้บริการจำนวน 15 แห่ง ปัจจุบัน 9 แห่ง จากประสบการณ์ตัวแทนจำหน่าย (ดีลเลอร์) 26 ปี ของ 'เปิ้ล-ภานุมาศ รังคกูลนุวัฒน์' ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.ออโตคอร์ป โฮลดิ้ง หรือ ACG ผู้ประกอบธุรกิจการถือหุ้นในบริษัทอื่น (Holding Company) ที่ประกอบธุรกิจจำหน่ายและให้บริการในอุตสาหกรรมรถยนต์ และธุรกิจอื่นที่เกี่ยวเนื่องอื่นๆ ปัจจุบันมี บริษัท ฮอนด้ามะลิวัลย์ จำกัด เป็นบริษัทแกน ซึ่งเป็นผู้จำหน่ายรถยนต์ 'ฮอนด้า' บอกกับ 'กรุงเทพธุรกิจ BizWeek' เช่นนั้น !! 

ก่อนเข้าเรื่องแผนธุรกิจ เขาเล่าประวัติตัวเองให้ฟังว่า หลังเรียนจบปริญญาตรีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ก็ไปนั่งทำงานตำแหน่งพนักงานมาร์เก็ตติ้งในบริษัทหลักทรัพย์แห่งหนึ่งอยู่ 1 ปี แต่ด้วยเป็นลูกชายคนโต เกิดและเติบโตในครอบครัวค้าขายต้องกลับไปช่วย 'ธุรกิจค้าขายวัสดุก่อสร้าง' ที่จังหวัดสุรินทร์ แต่ด้วยความที่ไม่อยากทำธุรกิจของครอบครัว แต่ธุรกิจก่อสร้างเป็นธุรกิจที่ดีมาก แต่ส่วนตัวมองไม่เห็นว่าจะไปแข่งขันยังไง 

ด้วยความบังเอิญเมื่อปี 2535 หลังจากเลิกงานก็กลับบ้าน และเป็นคนชอบอ่านหนังสือก็ไปเจอหนังสื่อพิมพ์เก่าที่บ้าน หยิบไปอ่านเปิดไปเจอหน้าที่ประกาศรับสมัครเป็น 'ตัวแทนจำหน่าย' (Dealers) ยี่ห้อฮอนด้าพอดี ผมก็ตัดสินใจไปสมัครเป็นดีลเลอร์ดังกล่าวทันที เมื่อสมัยนั้นรถยนต์ในเมืองไทยมีอยู่ไม่กี่ยี่ห้อ และผมก็สามารถฝ่าด่านได้เป็นตัวแทนจำหน่ายจนถึงปัจจุบัน  

'นายใหญ่' เล่าแผนธุรกิจว่า จากเป้าหมาย 4 ปีข้างหน้า ที่พูดไปข้างต้น หากถามว่าจะเดิน 'กลยุทธ์' ด้วยวิธีใด แน่นอนเป้าหมายคือต้องการขยายสาขาด้วยการเปิดโชว์รูมและศูนย์บริการใหม่ที่หัวเมืองใหญ่และเมืองรองของภูมิภาคต่างๆ ของประเทศทั้ง ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (อีสาน) ภาคตะวันตก ภาคกลาง และภาคใต้ เป็นจำนวน 5 แห่ง ภายในระยะเวลา 4 ปี (2562-2565) ซึ่งจะใช้เงินจากการระดมทุน IPO เงินกู้สถาบันการเงิน และเงินทุนหมุนเวียนจากการดำเนินงาน 

โดยแต่ละแห่งที่ลงทุนคาดหวังระยะเวลาคืนทุนโดยเฉลี่ยในช่วงประมาณ 3 ปี 1 เดือนถึง 4 ปี 9 เดือน ขึ้นอยู่กับในแต่ละพื้นที่ โดยกลุ่มบริษัทประมาณการเงินลงทุนในการก่อสร้างโชว์รูมใน 3 รูปแบบ (Model) ซึ่งแบ่งเป็นขนาดเล็ก (small) , กลาง (Medium) และใหญ่ (Large) คือ ขนาดเล็ก (Model Small) เงินลงทุน 60-80 ล้านบาท ขนาดกลาง (Model Medium) 80-100 ล้านบาท และขนาดใหญ่ (Model Large) 100-120 ล้านบาท

'ตั้งเป้าขยายสาขาเพิ่มอีก 5 สาขา ภายในปี 2565 เชื่อว่าจะทำให้เกิดการประหยัดในแง่ต้นทุน หรือ Eco nomy of Scale รวมทั้งจะมีรายได้จากการให้บริการและค่านายหน้าประกันภัยเพิ่มขึ้น ซึ่งจะช่วยสนับสนุนอัตรากำไรสุทธิเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง จากปัจจุบันมีอัตรากำไรสุทธิราว 1.9%'

ทั้งนี้ ผลจากกลยุทธ์ในการขยายสาขาส่งผลให้รายได้เติบโตมากขึ้น สะท้อนผ่านปี 2559-2561 โดยรายได้ในปี 2559 เพิ่มขึ้น สาเหตุจากการออกรถรุ่น HondaBR-V ครั้งแรก และ Civic โฉมใหม่ ขณะที่ในปี 2560 เติบโตตามภาวะอุตสาหกรรมรถยนต์ในประเทศ และจากการขายรถในกลุ่ม SUV และในปี 2561 ยอดขายเพิ่มตามการขยายสาขาที่ภูเก็ต ล่าสุดปี 2562 งวด 3 เดือนแรก รายได้เพิ่มจากการออกผลิตภัณฑ์ที่ปรับรูปแบบใหม่ของฮอนด้าในกลุ่ม Compact (Civic) และจากการขยายสาขาภูเก็ตเมื่อเดือน มี.ค.2561 

เขาบอกต่อว่า ลักษณะผลิตภัณฑ์และบริการของ ACG ประกอบธุรกิจเป็นผู้จำหน่ายรถยนต์ยี่ห้อฮอนด้า รวมถึงการให้บริการที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วย 1.ธุรกิจจากส่วนงานจำหน่ายรถยนต์และอุปกรณ์ตกแต่ง ซึ่งธุรกิจหลักของบริษัทแกน คือเป็นผู้จำหน่ายรถยนต์ยี่ห้อฮอนด้า โดยปัจจุบันมีโชว์รูมและศูนย์บริการทั้งหมด 9 แห่ง 2.ธุรกิจส่วนงานบริการซ่อมและจำหน่ายอะไหล่ บริษัทแกนมีศูนย์บริการที่ทันสมัยและปลอดภัยตามมาตรฐานของฮอนด้า เพื่อให้บริการดูแลหลังการขาย เช่น บริการซ่อมบำรุง ซ่อมตัวถังและสี ตลอดจนการจำหน่ายอะไหล่

3.ธุรกิจจากการนำเสนอบริการสินเชื่อเช่าซื้อและประกันภัยรถยนต์ ในกรณีที่ลูกค้ามีความประสงค์จะเช่าซื้อรถยนต์ กลุ่ม ACG จะนำเสนอสถาบันการเงินที่ให้บริการสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ ให้แก่ลูกค้าในการซื้อรถใหม่ และเมื่อมีความประสงค์จะทำประกันภัยรถยนต์ ทางกลุ่ม ACG จะนำเสนอบริษัทนายหน้าตัวแทนประกันภัยหรือบริษัทประกันภัย ให้แก่ลูกค้าทั้งที่ซื้อรถใหม่และลูกค้าเดิมของฮอนด้า

4.การให้บริการหลังการขาย กลุ่ม ACG มีการให้บริการหลังการขายหลายรูปแบบ ที่จะช่วยอำนวยความสะดวกและให้บริการที่สอดคล้องกับความต้องการและความพึงพอใจสูงสุดของลูกค้า พร้อมให้บริการดูแลรถยนต์โดยช่างผู้เชี่ยวชาญของฮอนด้าที่ทุ่มเทเอาใจใส่ภายใต้คุณภาพมาตรฐานพร้อมการตรวจเช็คที่ได้มาตรฐานจากฮอนด้า

ณ ปัจจุบันรายได้มาจากการขายรถยนต์ฮอนด้า คิดเป็น 83% และรายได้จากการบริการ 17% 

สำหรับจุดเด่นที่สำคัญอีกประการหนึ่ง คือ แนวโน้มรายได้ค่านายหน้าจากการบริการเช่าซื้อและประกัน เพิ่มขึ้นทุกปี โดยในปี 2561 เติบโตสูงถึง 41.30% เมื่อเทียบกับปี 2560 เนื่องจากปริมาณการขายรถยนต์ที่เพิ่มขึ้น และเพิ่มสูงขึ้นกว่า 54.2% จากปริมาณการขายที่เพิ่มมากขึ้นในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2562 อีกด้วย

'บริษัทตั้งเป้ารายได้ปี 2562 ไม่ต่ำกว่า 3,000 ล้านบาท โดยเตรียมเปิดสาขาใหม่ในช่วงครึ่งปีหลังอีก 2 แห่ง ในพื้นที่ภาคเหนือและภาคตะวันออก' 

ทั้งนี้ ธุรกิจครึ่งปีหลังยังมีแนวโน้มที่ดีต่อเนื่องจากครึ่งปีแรก เนื่องจากความต้องการ (ดีมานด์) ใช้รถยนต์ยังรักษาการเติบโตได้ รวมทั้งสถานการณ์ภาพรวมเศรษฐกิจน่าจะมีทิศทางที่ดีขึ้นหลังจากรัฐบาลประกาศนโยบายกระตุ้นกำลังซื้อของผู้บริโภคเพิ่มขึ้นโดยในช่วงครึ่งปีแรก บริษัทสามารถเติบโตได้ตามที่คาดการณ์ไว้ เนื่องจากได้รับผลดีจากยอดขายรถยนต์ที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ตามที่ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.)ได้เปิดเผยตัวเลขเมื่อปลายเดือน มิ.ย. ที่ผ่านมา ยอดขายรถยนต์ในรอบ 5 เดือนเติบโต 'ระดับ 9%'

ท้ายสุด 'ภานุมาศ' ทิ้งท้ายไว้ว่า การเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ mai ในครั้งนี้ ถือ เป็นก้าวที่สำคัญของ ACG ในการขยายสาขา เพื่อเพิ่ม Eco nomy of Scale ช่วยลดต้นทุนธุรกิจ เพิ่มอำนาจในการต่อรอง เพิ่มแหล่งที่มาของรายได้ให้กับธุรกิจ และสามารถตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคได้อย่างครบวงจร ครอบคลุมทั่วภูมิภาค 

โบรกฯ ส่องรายได้เติบโต

บริษัทหลักทรัพย์โกลเบล็ก ระบุว่า ให้ราคาเหมาะสม หุ้น ออโตคอร์ป โฮลดิ้ง หรือACG เท่ากับ 1.85 บาท โดยคาดอัตราการเติบโตเฉลี่ยของกำไรปี 2560-2562 ราว 18% โดยภาพรวมการดำเนินงานในอนาคตมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่องตามจำนวนสาขาที่จะเปิดเพิ่มขึ้น 

โดยบริษัทมีแผนขยายโชว์รูมและศูนย์บริการ ซึ่งในปี 2562 ประมาณการรายได้รวมราว 3,140 ล้านบาท เติบโต 30% เทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากสาขาภูเก็ตทั้ง 2 แห่งที่เปิดบริการในปี 2561ให้บริการเต็มปีในปี 2562 และสาขากระบี่ที่เริ่มให้บริการในปี 2562 ด้วยสมมติฐานอัตรากำไรขั้นต้นที่ปรับดีขึ้นเป็น 7.7% จาก 7.5% ในปี 2561 และคาดอัตราส่วนค่าใช้จ่ายขายและบริหารต่อรายได้ลดเหลือ 7.6% จาก 8%

ในปี 2561 จากค่าใช้จ่ายขายที่เพิ่มขึ้นในสัดส่วนน้อยกว่ามูลค่าขายรถและไม่มีค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นครั้งเดียวเช่นในปีที่ผ่านมา ส่งผลให้คาดการณ์กำไรอยู่ที่ราว 60 ล้านบาท เติบโต 117% เทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน คิดเป็นอัตรากำไรสุทธิ 2% โดยมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยของกำไรสุทธิ (CAGR) ปี 2560-2562 เท่ากับ 18%

อย่างไรก็ตาม ประเมินมูลค่าพื้นฐานด้วยวิธี PER โดยใช้ Prospect PER ที่ระดับ 18.5  เท่าซึ่งต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของกลุ่มอุตสาหกรรมที่ระดับ 26 เท่า และจากการประเมินกำไรต่อหุ้นแบบ Fully diluted อยู่ที่ราวราว 0.10 บาทต่อหุ้น