ทีโอทียิ้มรับยุติข้อพิพาท “เอไอเอส”

ทีโอทียิ้มรับยุติข้อพิพาท “เอไอเอส”

รับรายได้ค่าเช่าเสายาว 10 ปีๆ ละ 2,800 ล้านบาท

ทีโอทีเปิดโต๊ะเคลียร์คดีข้อพิพาทเอไอเอส ปิดดีลเช่าเสาโทรคมฯ2จีคลื่น900ได้แล้ว รับทรัพย์สัญญา 10 ปีๆละ 2,800 ล้านบาท ระบุรับเป็นรายได้แน่นอนจากที่อดีตเป็นเพียงแค่เอ็มโอยูเท่านั้น พร้อมลุยยุติคดีกับเอไอเอสที่เหลืออีกกว่าพันล้านบาท ชี้เป็นการปูทางไปสู่การควบรวมบริษัทกับกสทฯในอนาคตให้เสร็จได้โดยเร็ว

นายมนต์ชัย หนูสง กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 4 ก.ย.2562 ที่ผ่านมา ทีโอทีและ บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ เอไอเอสได้เข้าทำสัญญาระงับข้อพิพาทเกี่ยวกับเสาโทรคมนาคมตามข้อพิพาทหมายเลขดำที่ 53/2557 ที่อยู่ในระหว่างการพิจารณาของคณะอนุญาโตตุลาการ ดังนั้น ส่งผลให้เสาโทรคมนาคมตามข้อพิพาทดังกล่าว ซี่งเป็นเสาโทรคมนาคม 2จีบนคลื่นความถี่ 900 เมกะเฮิรตซ์ภายใต้สัญญาสร้าง-โอน-บริการ (บีทีโอ) จำนวน 13,198 ต้น เป็นกรรมสิทธิ์ของบริษัท

ขณะเดียวกัน ยังได้เข้าทำสัญญาให้บริการเกี่ยวกับเสาโทรคมนาคม โดย บริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด หรือ เอดับบลิวเอ็น บริษัทย่อยของเอไอเอส ตกลงการเช่าใช้บริการเสาโทรคมนาคมจากบริษัท และบริษัทตกลงใช้บริการพื้นที่และบริการบำรุงรักษาจากเอดับบลิวเอ็นเป็นระยะเวลา 10 ปี เริ่มตั้งแต่เดือน ม.ค.2562 เป็นต้นไป ซึ่งเอไอเอสจะจ่ายย้อนหลัง โดยบริษัทจะได้รับค่าเช่าเสาโทรคมนาคมจากเอไอเอส ตลอดอายุสัญญา 10 ปี ประมาณ 28,000 ล้านบาท หรือปีละ 2,800 ล้านบาท

นายมนต์ชัย กล่าวว่า การเข้าทำสัญญาดังกล่าว ได้ประโยชน์ทั้ง 2 บริษัท โดยบริษัทมีรายได้ที่แน่นอนจากค่าเช่าโทรคมนาคมเป็นระยะเวลาถึง 10 ปี จากเดิมทีโอทีและเอไอเอสทำบันทึกข้อตกลงร่วมกันเท่านั้น ซึ่งเป็นเพียงข้อตกลงที่เอไอเอสจ่ายให้บริษัทเดือนละ 300 ล้านบาท หรือปีละ 3,600 ล้านบาท ซึ่งเริ่มจ่ายให้ตั้งแต่ปี 2559 และได้ช่องว่างบนเสาโทรคมนาคม สามารถติดสายอากาศได้จำนวนหลายชุด ขณะที่ค่าเช่าเสาโทรคมนาคมของเอไอเอสลดลงจากปีละ 3,600 ล้านบาท เหลือปีละ 2,800 ล้านบาท

“เรามีการเจรจากันมาตลอดในหลายโมเดล ทั้งเช่าระยะยาว, คืนเสามาให้เราแล้วตั้งกิจการร่วมค้า (Joint Venture) หรือ จัดตั้งกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งในตอนแรกได้สรุปเป็นข้อตกลงจ่ายค่าเช่าให้เราเดือนละ 300 ล้านบาท ตั้งแต่ปี 2559 และสุดท้ายมาได้ข้อสรุปเป็นการทำสัญญาเช่าระยะยาว 10 ปี มูลค่ารวม 28,000 ล้านบาท แม้เราจะได้ค่าเช่าน้อยลงจากปีละ 3,600 ล้านบาท เหลือปีละ 2,800 ล้านบาท แต่เรามีรายได้ที่แน่นอนถึง 10 ปี จึงถือว่าวินวินทั้งเราและเอไอเอส” นายมนต์ชัย กล่าว

นอกจากนี้ บริษัทมีการเจรจาระงับข้อพิพาทอื่นๆ กับเอไอเอสในโครงการอื่นด้วย เช่น กรณีการเรียกค่าใช้จากการใช้เครื่อง และอุปกรณ์โทรคมนาคมและโครงข่ายโทรคมนาคมช่วงระยะเวลาคุ้มครองผู้ใช้บริการเป็นการชั่วคราว มูลค่าประมาณกว่า 500 ล้านบาท และกรณีเรียกร้องให้ชำระค่าเชื่อมโยงโครงข่าย (อินเตอร์คอนเน็คชั่น ชาร์จ หรือ ไอซี) มูลค่าประมาณ 600-700 ล้านบาท ซึ่งก็น่าจะแล้วเสร็จได้ในเร็วๆนี้

“ในการเจรจาระงับข้อพิพาทไม่ได้เจรจาเพียงเรื่องเดียว แต่มีในเรื่องอื่นๆ ด้วย เช่น กรณีการเรียกค่าใช้จากการใช้เครื่องและอุปกรณ์โทรคมนาคมช่วงเยียวยา และกรณีเรียกร้องให้ชำระค่าไอซี มูลค่ารวมประมาณกว่า 1,000 ล้านบาท ซึ่งได้ข้อสรุปแล้วเช่นกัน โดยในส่วนนี้เอไอเอสยอมที่จะยุติและจ่ายให้เรา นอกจากนี้ การเคลียร์ปัญหาข้อพิพาทกับเอไอเอสหรือแม้แต่หน่วยงานรัฐเอง ก็จะทำให้การควบรวมบริษัทกับบมจ.กสท โทรคมนาคม เสร็จสมบูรณ์ได้โดยเร็ว” นายมนต์ชัย กล่าว