มาสด้าพร้อมลุย “พลังงานไฟฟ้า” ปูพรม “EV-Range Extender-PHEV”

มาสด้าพร้อมลุย “พลังงานไฟฟ้า”  ปูพรม “EV-Range Extender-PHEV”

พร้อมโชว์ตัวงาน โตเกียว มอเตอร์โชว์ ปีนี้

       มาสด้า ออกมาประกาศอย่างชัดเจนที่กรุงออสโล นอร์เวย์ ซึ่งใช้เป็นเวทีจัดงาน “Global Tech Forum 2019” ว่า พร้อมที่จะเปิดตลาดรถยนต์พลังงานไฟฟ้า หรือ EV อย่างเป็นทางการในปีหน้า แต่พร้อมที่จะนำรถออกแสดงให้ผู้ชมทั่วโลกได้ชมก่อน ในงาน “โตเกียว มอเตอร์ โชว์  2019” ที่จะเริ่มขึ้นช่วงปลายเดือน ต.ค.ที่จะถึงนี้ 

tpv2

       อีวี เป็นเทคโนโลยีที่ทั่วโลกพูดถึงและเร่งดำเนินการ และในส่วนมาสด้า ก็ไม่ได้เพิ่งขยับตัว แต่มาสด้าเคยนำเสนอแผนงานไว้ก่อนหน้านี้แล้วว่า จะโดดลงสู่เวทีแข่งขัน อีวี เช่นกัน แต่ครั้งนี้ เป็นการพูดพร้อมกับมีตัวอย่างเป็นรูปธรรม นั่นคือ รถต้นแบบ อีวี คันแรก ที่เรียกว่า e-TPV โดยใช้ตัวถังของ ซีเอ็กซ์-30 แต่ว่าโฉมหน้าที่แท้จริง รวมถึงสเปคทั้งหมด จะเห็นได้ในโตเกียว

       แต่เบื้องต้นมาสด้า บอกว่าหัวใจหลักของรถมาจากแบตเตอรี ลีเธียม ไอออน ความจุ 35.5 กิโลวัตต์ชั่วโมง ขับเคลื่อนมอเตอร์ไฟฟ้า โดยให้กำลังสูงสุด 105 กิโลวัตต์ หรือประมาณ 141 แรงม้า และแรงบิดสูงสุด 265 นิวตันเมตร 

spec

       ซึ่งแน่นอนอาจจะมีคำถามตามมาว่า ทำไมไม่ใช้แบตเตอรีที่มีความจุมากกว่านี้ 

       มาสด้า มีคำตอบ 

       มาสด้าบอกว่า เป้าหมายหลักของการสร้างอีวี ก็คือ การเพิ่มความสะอาดให้สิ่งแวดล้อม ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ แต่ไม่ได้หมายว่าวัดกันเฉพาะที่ตัวรถเท่านั้น แต่วัดกันทั้งกระบวนการ รวมถึงการเปลี่ยนแบตเตอรีชุดใหม่ซึ่งอยู่ที่ระยะ 1.6 แสน กม. และเห็นว่าการใช้แบตเตอรีขนาด 35.5 กิโลวัตต์ชั่วโมง เหมาะสมที่สุด เพราะยิ่งความจุมาก ก็มีผลต่อการปล่อยคาร์บอนไซด์มากตามไปด้วย 

bat co2

       เพิ่มทางเลือกใช้งาน

       แล้วทีนี้หากมีคำถามว่าถ้าอย่างนั้น มันจะตอบสนองการใช้งานจริงในชีวิตประจำวันได้เพียงพอหรือไม่ ซึ่งที่ออสโล แม้มาสด้ายังไม่ได้เปิดเผยข้อมูลสุดท้าย โดยเฉพาะเกี่ยวกับระยะทางการใช้งาน แต่ยืนยันว่าเพียงพอแน่นอน โดยเฉพาะการใช้งานในเขตเมืองเป็นหลัก

       ทั้งนี้มาสด้าบอกว่า ก่อนพัฒนา ได้ศึกษากลุ่มผู้บริโภคที่ใช้งาน อีวี พบว่าส่วนใหญ่ใช้รถในเขตเมืองเป็นหลัก และนอกจากนี้ยังพบว่าภาครัฐหลายประเทศ ก็ส่งเสริมการใช้งานอีวีในเขตเมือง เพื่อลดปัญหาสิ่งแวดล้อม 

       ดังนั้นก็ไม่จำเป็นจะต้องสร้างรถที่มีความจุแบตเตอรีมากเกินไป เพราะทำให้เกิดคาร์บอนไดออกไซด์มากขึ้น น้ำหนักรถที่เพิ่มขึ้น และอาจะมีผลต่อประสิทธิภาพการขับขี่อีกด้วย และแน่นอน ราคาที่จะต้องสูงขึ้น เพราะแบตเตอรีเป็นต้นทุนหลักของ อีวี และ ทีมวิศวกร มาสด้า ที่มาร่วมงานก็ตอบคำถามนี้ชัดเจนว่า ความท้าทายหลักของการพัฒนาอีวี คือ ต้นทุน แบตเตอรี 

       และถ้าหากมีคำถามต่อว่า แล้วคนที่ต้องการใช้รถระยะทางไกลๆ และต้องการมีส่วนช่วยรักษ์โลกด้วย จะทำอย่างไร มาสด้ากางแผนให้ดูเพื่อให้เห็นว่า ไทม์ไลน์ของมาสด้ามีทางเลือกที่หลากหลาย และหนึ่งในนั้นคือ Range Extender

       เครื่องยนต์โรตารีเพิ่มระยะทางใช้งาน

       รถที่ใช้พลังงานไฟฟ้า รุ่นแรกที่มาสด้าจะเปิดตัวจะเป็นอีวี 100% เหมือนกับรถโปรโตไทป์ที่นำมาให้ลองขับกันที่ออสโล แต่ว่าหลังจากนั้น มาสด้าจะเปิดตัวในเวอร์ชั่นที่เรียกว่า Range Extender โดยการนำเครื่องยนต์โรตารี ซึ่งมีขนาดเล็ก และน้ำหนักเบา มาติดตั้งเสริมเข้าไป เพื่อทำหน้าที่เป็นตัวสร้างกระแสไฟ ป้อนให้กับแบตเตอรี ซึ่งจะทำให้สามารถใช้งานได้ระยะทางที่ไกลขึ้น โดยเวอร์ชั่นนี้ ก็ยังสามารถลดปริมาณแบตเตอรีลงได้อีกด้วย 

rotary

       และหลังจากนั้นในปีถัดไป มาสด้าก็จะมีรถ ปลั๊กอิน ไฮบริด ตามมาเสริมอีก 1 รุ่น โดยทั้งหมดนี้เริ่มต้นพัฒนาพร้อมๆ กัน เพื่อให้สามารถใช้โครงสร้างพื้นฐานหรือแพลทฟอร์มร่วมกันได้ 

       “เราพยายามสร้างทางเลือกให้ผู้บริโภค สามารถใช้งานรถได้ตรงกับความต้องการ และยังสามารถตอบสนองนโยบายของรัฐบาลในแต่ละประเทศอีกด้วย” ฮิโรยูกิ มัตสุโมโตะ เจ้าหน้าที่บริหาร ฝ่ายพัฒนายานยนต์และวางแผนผลิตภัณฑ์กล่าว

       พัฒนาเองไม่ร่วมมือใคร 

       การที่มาสด้าวางแผนเปิดตัว อีวี ก่อน ปลั๊กอิน ไฮบริด เพราะต้องการให้เห็นว่า มาสด้ามีเทคโนโลยีไฟฟ้าที่ดีพอ และสามารถต่อยอดไปยังทางเลือกอื่นๆ ได้ และการพัฒนา อีวี ครั้งนี้ มาสด้าดำเนินการเองทั้งหมดไม่ร่วมมือกับใคร เพราะต้องการทำให้ทุกคนเห็นว่า พลังงานไฟฟ้าที่เกิดขึ้นนี้ เป็นเทคโนโลยีของมาสด้าเอง แต่หลังจากนั้น ในเจเนอเรชั่นต่อไปถึงจะมีแผนที่ร่วมมือกับพันธมิตรอื่นๆ ตามความเหมาะสม ไม่ว่าจะเป็นในเชิงของธุรกิจ การบริหารจัดการต้นทุน หรือการขยายตลาด แต่เมื่อถึงเวลานั้น โลกก็ยังรับรู้อยู่เช่นเดิมว่า นี่คือเทคโนโลยีไฟฟ้าของมาสด้า 

tpv5

       คงดีเอ็นเอรถขับสนุก

       ส่วนแนวทางการพัฒนารถ มาสด้ายืนยันว่า สิ่งสำคัญคือ ต้องทำให้มีเอกลักษณ์ของมาสด้าเอง โดยเฉพาะหัวใจสำคัญคือ เป็นรถยนต์ที่ขับสนุก แม้ขุมพลังจะเปลี่ยนมาเป็นไฟฟ้าแล้วก็ตาม 

       ทั้งนี้มาสด้ามองว่า ภาพรวมของอีวีนั้นที่แต่ละบริษัททำกัน ซึ่งมีความซับซ้อนน้อยกว่ารถที่ใช้เครื่องยนต์สันดาปภายใน หัวใจหลักไม่แตกต่างกัน นั่นก็คือ มีแบตเตอรี และ มอเตอร์ไฟฟ้า ดังนั้นการสร้างความแตกต่างในมุมมาสด้าคือ ต้องทำให้เป็นรถที่มีการขับขี่ที่มีเอกลักษณ์ ขับสนุก และต้องการให้ลูกค้าที่ขับ มาสด้า อีวี ไม่อยากไปขับ อีวี ยี่ห้อไหนอีก

       ดังนั้นเทคโนโลต่างๆ ที่มีอยู่ในรถยนต์สันดาปภายใน จะถูกยกมาไว้ในอีวีเช่นกัน ทั้งระบบช่วงล่างที่ได้รับการยอมรับว่าเกาะถนนดี รวมถึง ระบบที่เป็นจุดขายสำคัญในขณะนี้ คือ G-Vectoring Control หรือ GVC ระบบที่ควบคุมแรงบิดให้เหมาะสม ช่วยให้รถขับขี่ในเส้นทางโค้งด้วยความเร็วสูงทำได้ง่ายขึ้น รถมีการทรงตัวที่ดีขึ้น ลดการปวดหัวหรือเมารถของคนที่อยู่ในรถ โดยระบบจะคำนวณจากทั้งความเร็ว องศาการเลี้่ยวของพวงมาลัย 

gvc

       แล้วเมื่อเปลี่ยนจากเครื่องยนต์มาเป็นไฟฟ้า GVC จะยังคงใช้ได้ผลหรือไม่ 

       มัตสุโมโตะ บอกว่าทำได้ง่ายกว่าเดิมด้วยซ้ำไป เพราะการเขียนโปรแกรมควบคุมมอเตอร์ไฟฟ้า นั้นทำง่ายกว่า การควบคุมเครื่องยนต์

       ดังนั้นเมื่อรวมกับจุดเด่นที่จะได้จากมอเตอร์ไฟฟ้า อย่างเช่น แรงบิดที่ตอบสนองได้รวดเร็วขึ้น 60% เมื่อเทียบกับเครื่องยนต์ ทำให้มาสด้ามั่นใจว่า พร้อมแล้ว ที่จะโดดลงสนาม อีวี ที่มีการแข่งขันรุนแรงขึ้นทุกวัน 

tpv4