สบส.เล็งตั้ง 2 กองทุนดูแลสวัสดิการอสม.

สบส.เล็งตั้ง 2 กองทุนดูแลสวัสดิการอสม.

สบส.เดินหน้าจัดสวัสดิการอสม. เล็งตั้ง 2 กองทุนดูแล เร่ง "กองทุนฌาปนกิจสงเคราะห์" ให้เสร็จใน 2 เดือน หวังเป็นของขวัญปีใหม่ เบื้องต้นคาดเก็บ 50 สตางค์ต่อศพ เสียชีวิตครอบครัวได้ 5 แสนบาท พร้อมผุด "กองทุนบำนาญ"

นพ.ณัฐวุฒิ ประเสริฐสิริพงศ์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ(สบส.) กล่าวว่า ตามที่นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข(รมว.สธ.) และนายสาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข(รมช.สธ.) มีนโยบายชัดเขนในการที่จะดูแลอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน(อสม.)ที่ทั่วประเทศมีอยู่กว่า 1.5 ล้านคน ไม่เฉพาะเรื่องค่าตอบแทนรายเดือนเท่านั้น แต่สิ่งที่สบส.จะดำเนินการคู่ขนาน คือ การจัดตั้งกองทุนในการดูแลอสม.ให้ดีที่สุด ขณะนี้มีความเป็นไปได้ที่จะดำเนินการใน 2 กองทุน ได้แก่ 1.กองทุนฌาปนกิจสงเคราะห์ ที่คาดว่าจะเสร็จสิ้นภายใน 2 เดือน เพื่อเป็นของขวัญปีใหม่ให้กับอสม. ในหลักการ คือ เก็บเงินจากอสม.เพื่อไปจ่ายให้กับครอบครัวอสม.ที่สูญเสีย

เบื้องต้นมีการตกลงว่าจะเก็บศพละ 50 สตางค์ เมื่ออสม.มีอยู่ราว 1 ล้านคนก็จะได้ 5 แสนบาทต่อ 1 ศพ และอนาคตกองทุนเข้มแข็ง อาจจะเพิ่มเป็น 1 บาทต่อศพ ครอบครัวอสม.ก็จะได้ 1 ล้านบาท หรือเปิดให้คู่สมรสเข้าด้วยกองทุนด้วย ถ้าเก็บศพละ 1 บาทก็จะกลายเป็น 2 ล้านบาทต่อศพ ซึ่งน่าสนใจมากและอาจจะเป็นกองทุนฌาปนกิจสงเคราะห์ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ส่วนการจ่ายเงินของอสม.ก็จะหักจากบัตรสมาร์ทการ์ดที่อสม.มีประจำตัวอยู่แล้ว โดยที่จะมีการทำรายงานส่งให้อสม.ทราบว่าแต่ละเดือนถูกหักเงินอะไร เท่าไหร่ อย่างไร

นพ.ณัฐวุฒฺ กล่าวอีกว่า และ2.กองทุนที่จะเป็นการดูแลอสม.ขณะที่ยังมีขีวิตอยู่ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณารูปแบบ ซึ่งเดิมมองไปที่กองทุนการออมแห่งชาติ(กอช.) แต่มีจุดอ่อนอยู่ที่เมื่ออายุเกิน 60 ปีจะไม่รับ แต่ปัจจุบันอสม.มีคนอายุเกิน 60 ปีร่วม 4 แสนคน หากกอช.ไม่รับคนจำนวนนี้ก็จะไม่มีแนวทางในการดูแล เพราะการจะใช้แนวทางใดจะต้องดำเนินการในรูปแบบเดียวกัน จึงมีความเป็นไปได้ที่จะดำเนินการเอง เป็นกองทุนบำนาญอสม. สมมติ อสม.ออม 100 บาท รัฐบาลสมทบเข้าไป 200 บาท เป็นเดือนละ 300 บาท เป็นต้น เป็นรูปแบบผสมผสานระหว่างประกันสังคมและบำเหน็จบำนาญข้าราชการ เพราะอสม.ก็ทำงานด้วยความเสียสละให้ส่วนรวมและไม่มีเงินเดือน ซึ่งหากมีการบริหารกองทุนดีๆเงินเดือนละ 300 บาทก็จะมีดอกเบี้ย โดยคาดว่าจะบริหารแบบกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการหรือกบข.ก็จะมีรายได้ เพิ่มขึ้นมาอีก 7-8 %ต่อปี

"กองทุนนี้จะทำให้อสม.ได้รับสวัสดิการไม่ต้องรอให้เสียชีวิต แต่หากอสม.เกษียณตนเองเมื่อไหร่ เงินส่วนนนี้ก็จะกลับคืนให้กับอสม.เหมือนบำนาญของข้าราชการ แต่จะใช้วิธีแบบบำนาญข้าราชการเลยไม่ได้ เพราะอสม.ไม่ใช่เจ้าหน้าที่ของรัฐ จึงต้องใช้รูปแบบให้อสม.ต้องลงขันด้วย ส่วนรัฐบาลก็สมทบเหมือนกับรูปแบบของประกันสังคม น่าจะเดินหน้าได้ในเร็วๆนี้ ขณะนี้รัฐมนตรีอยู่ระหว่างการพิจารณา" นพ.ณัฐวุฒิกล่าว

นพ.ณัฐวุฒิ กล่าวอีกว่า ส่วนค่าตอบแทนอสม.คนละ 2,500 บาทต่อเดือนนั้น จะชัดเจนในปี 2563 ในรูปแบบของการวิจัย เพราะรัฐบาลนี้เข้ามาในช่วงปลายปีงบประมาณ2562แล้ว การที่จะจ่ายเป็นค่าป่วยการหรือค่าแรง ด้วยวิธีการงบประมาณต้องมีการตกลงล่วงหน้า ต้องออกเป็นหมวดที่ชัดเจน แต่เพื่อให้นโยบายดีๆของรัฐบาลเดินหน้าได้เร็ว รัฐมนตรีสั่งการให้กรมหาวิธี จึงคิดว่าใช้วิธีวิจัยเรื่องการให้อสม.เป็นหมอประจำบ้าน เพื่อดูว่าเมื่อมีการเติมความรู้ให้อสม.และปฏิบัติหน้าที่เป็นหมอประจำบ้านแล้ว ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นใน 4 ข้อสำคัญเป็นอย่างไร คือ 1.ลดความแออัดของรพ.ช่วยให้ผู้ป่วยที่จำเป็นเข้าถึงการบริการได้มากขึ้น 2.ลดค่าใช้จ่ายรพ.ได้หรือไม่ 3.ลดค่าใช้จ่ายของผู้ป่วย และ4.ลดโรคแทรกซ้อน เช่น ผู้ป่วยติดบ้านติดเตียงที่ต้องนอนนานๆ เมื่ออสม.ไปดูแลบ่อยๆ การมีแผลกดทับอาจจะไม่เกิด

"ถ้าอสม.ที่เป็นหมอประจำบ้านทำสิ่งเหล่านี้ได้แล้ว เป็นการลดค่าใช้จ่าย จากนั้นก็จะนำมาเปรียบเทียบดูว่า 4 ข้อนี้ ที่ช่วยลดค่าใช้จ่ายได้กับการให้ค่าตอบแทนอสม.2,500 บาทเป็นอย่างไร ซึ่งอาจจะมีส่วนที่ลดได้ 1 หมื่นบาท แต่มาจ่ายให้อสม.แค่ 2,500 บาท แบบนี้ถือว่าคุ้ม ในปี 2563 จะนำร่อง 1 หมื่นคนแรกก่อนในการวิจัย ถ้าสำเร็จก็จะตั้งงบประมาณต่อไป และปีงบประมาณ 2564 ก็น่าจะเป็นรูปธรรม เพราะนโยบายที่มีงานวิจัยรองรับจะทำให้การจ่ายเงินมีทิศทางที่ชัดเจน"นพ.ณัฐวุฒิกล่าว