กรมชลฯ สนับสนุนคนรักบ้านเกิด

กรมชลฯ สนับสนุนคนรักบ้านเกิด

ถึงแม้กระแสของคนยุคใหม่จะเริ่มเปลี่ยนแปลงบ้างแล้ว จากที่เคยหลั่งไหลเข้าเมืองใหญ่เพื่อใช้แรงงานและความรู้ไปกับระบบอุตสาหกรรม กลายมาเป็นคนจำนวนไม่น้อยเลือกที่จะเป็นเจ้านายตัวเอง แต่การทำงานในรูปแบบเดิมที่ขึ้นอยู่กับสายพานการผลิตก็ยังคงมีอยู่มากเช่นกัน

ทว่ากับบางคนที่เกิดและเติบโตมาพร้อมกับทรัพยากรธรรมชาติอุดมสมบูรณ์ ครอบครัวหาอยู่หากินได้อย่างไม่ขัดสน มีข้าวปลาอาหารอิ่มท้องตลอด พวกเขากลับหันหลังให้เมืองใหญ่ แล้วลงหลักปักฐานในบ้านเกิดของตัวเอง ซึ่งในพื้นที่รอบอ่างเก็บน้ำมีคนกลุ่มนี้มากทีเดียว

แม้การทำมาหากินจะเป็นเรื่องส่วนบุคคล แต่กรมชลประทานก็พยายามมีส่วนช่วยส่งเสริมให้คุณภาพชีวิตของคนที่กลับมายังถิ่นฐานบ้านเกิดได้อยู่ดี กินดี ทั้งทางตรงและทางอ้อม

ในทางตรง มหิทธิ์ วงศ์ษา หัวหน้าฝ่ายวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมที่ 2 สำนักบริหารโครงการ กรมชลประทาน บอกว่า อ่างเก็บน้ำและระบบชลประทานคือแหล่งทำมาหากิน

“ที่ไหนที่มีแหล่งน้ำ เขาไม่ต้องเข้ามาทำงานในกรุงเทพฯเลย เพราะเขามีระบบส่งน้ำแล้วเหมือนเขามีครัวอยู่ใกล้บ้านเขาเลย ผักก็ปลูกได้ ปลาเขาก็หาได้ ขณะเดียวกันคนที่ไม่ได้อยู่ใกล้แหล่งน้ำอาจต้องเข้าไปทำงานในกรุงเทพฯ ต้องเช่าบ้าน ต้องซื้อหาทุกอย่าง การที่มีแหล่งน้ำในพื้นที่ก็เกิดประโยชน์ต่อชุมชนตรงนั้น เขาไม่ต้องไปทำงานห่างไกล ซึ่งสิ่งสำคัญกว่านั้นคือความอบอุ่นของครอบครัว พ่อแม่ทำมาหากินอยู่กับบ้าน ลูกก็เรียนใกล้บ้าน จะเกิดความอบอุ่น ไม่ใช่ว่าพ่อต้องไปทำงานในกรุงเทพฯเพื่อส่งเงินมา”

69669082_2482968038428660_4913366578587762688_o

หัวหน้าฝ่ายวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมที่ 2 ยังเล่าถึงประสบการณ์ที่ได้เจอมาว่ามีเด็กชาวอุตรดิตถ์เรียนจบปวส.แล้วเลือกที่จะไม่ทำงานในกรุงเทพฯ มีเพียงที่ดินทำกินก็อยู่ได้แล้ว เขาทำเกษตรกรรม ทางกรมชลประทานก็มีน้ำส่งให้ตลอดทั้งฤดูกาล ซึ่งที่นั่นเป็นอ่างเก็บน้ำขนาดกลาง กักเก็บน้ำได้ประมาณ 50 กว่าล้านลูกบาศก์เมตร ส่งน้ำให้พื้นที่ได้หมื่นกว่าไร่

“อาชีพคนรอบอ่างเก็บน้ำส่วนมากคือเกษตรกร เพราะถ้าเขามีน้ำเขาทำเกษตรกรรมได้โดยไม่ต้องทำอย่างอื่นเลย แต่นอกจากด้านเกษตรเรายังสนับสนุนเรื่องอื่นๆ เช่น ส่งเสริมอาชีพ อาชีพที่นอกเหนือจากเกษตรกร อย่างเช่นแปรรูปผลิตภัณฑ์ที่มีอยู่ในพื้นที่

ยกตัวอย่างพื้นที่อ่างเก็บน้ำห้วยน้ำรี อ.ท่าปลา จ.อุตรดิตถ์ มีกล้วยมาก จากแต่ก่อนที่จังหวัดอื่นๆ มีผลิตภัณฑ์จากกล้วย ทุกวันนี้มีกล้วยตากอุตรดิตถ์แล้ว ซึ่งเกิดจากกรมชลประทานร่วมส่งเสริมอาชีพเพิ่มเติมจากสิ่งที่ชาวบ้านมี

70609917_2482968175095313_419500704319668224_o

70366840_2482967998428664_5983631278669299712_o

“เมื่อก่อนเขาขายกล้วยได้หวีละ 8 บาท เดี๋ยวนี้เขาเพิ่มมูลค่าโดยการแปรรูปกล้วย มีรายได้เพิ่มขึ้นหลายเท่าตัว นอกจากนี้ยังมีเรื่องการท่องเที่ยว เป็นอีกเรื่องที่ทำให้ประชาชนในแต่ละพื้นที่มีรายได้เพิ่มขึ้น” นายมหิทธิ์กล่าว

จากแค่สร้างและพัฒนาแหล่งน้ำ กรมชลประทานมองไกลกว่านั้น เพราะคุณภาพชีวิตคนรอบอ่างเก็บน้ำเป็นภาพสะท้อนคุณภาพการทำงานของกรมชลประทานด้วย