กรมชลประทานเพาะเมล็ดพันธุ์คนรักษ์น้ำ

กรมชลประทานเพาะเมล็ดพันธุ์คนรักษ์น้ำ

คนทุกคนคือกำลังหลักในการพัฒนาประเทศชาติ ยิ่งสร้างคนรุ่นใหม่ให้แข็งแกร่งและมีศักยภาพได้มากเท่าไรอนาคตของประเทศชาติก็มีโอกาสสดใสมากเท่านั้น

กรมชลประทานที่มีพันธกิจด้านการพัฒนาและดูแลเรื่องน้ำอันเป็นทรัพยากรสำคัญที่ช่วยหล่อเลี้ยงคนไทยจึงให้ความสำคัญเรื่องการสร้างจิตสำนึกให้แก่เยาวชน

ตลอดหลายปีที่ผ่านมากรมชลประทานได้นำความรู้เรื่องทรัพยากรน้ำเข้าไปถ่ายทอดให้เด็กนักเรียนภายใต้โครงการ ‘ยุวชลกร โดยอบรมให้เด็กรู้ถึงความสำคัญของระบบชลประทาน ตลอดจนจิตสำนึกการดูแลรักษาระบบชลประทาน

69865384_2482953108430153_8208391640411275264_o

“เราได้เข้าไปตามโรงเรียนต่างๆ เริ่มจากโรงเรียนที่อยู่ใกล้ๆ โครงการก่อนแล้วค่อยๆ ขยับขยายขอบเขตไปเรื่อยๆ เพราะฉะนั้นจะมีทั้งชั้นประถม มัธยม เราทำมานานแล้ว” นายมหิทธิ์ วงศ์ษา หัวหน้าฝ่ายวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมที่ 2 สำนักบริหารโครงการ กรมชลประทาน กล่าว

และในปัจจุบันที่มีการนำสื่อโซเชียลมีเดียเข้ามาให้เยาวชนได้ใช้เผยแพร่เรื่องราวต่างๆ ทั้งปัญหาและความสวยงามของพื้นที่อ่างเก็บน้ำนฤบดินทรจินดา (ห้วยโสมง) ผ่านโครงการ R.I.D. Young Team น้ำมีชีวิต...ภารกิจพิทักษ์น้ำ

“การที่เรานำเยาวชนเข้ามาเรียนรู้เรื่องการดูแลสิ่งแวดล้อมจะช่วยให้เราแบ่งเบาบุคลากรในช่วงที่บุคลากรในพื้นที่ยังไม่เพียงพอ อีกอย่างคือเยาวชนเหล่านี้เป็นคนที่นั่น การดูแลพื้นที่โครงการให้ยั่งยืนได้ ไม่ว่าจะเรื่องประมงหรือคุณภาพน้ำ มันเป็นที่ทำมาหากินของครอบครัวเขา ถ้ารักษาตรงนี้ได้เขาก็จะมีอาชีพ มีรายได้ มีความเป็นอยู่ที่ดี ซึ่งจากโครงการที่ทำมาก็ได้ผลนะ และเราจะขยายต่อเป็นโครงการต่อไป เพราะเหมือนเราได้เจ้าหน้าที่เพิ่มขึ้นอีกเยอะเลยที่จะมาช่วยดูแลเรื่องต่างๆ”

69699607_2482953405096790_2875371572632223744_o

นอกจากนี้กรมชลประทานยังได้ร่วมกับสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดเข้ามาให้การอบรมด้านสิ่งแวดล้อมตามโรงเรียนต่างๆ ด้วย โดยกรมชลประทานรับเป็นเจ้าภาพด้านทรัพยากรน้ำ

นับตั้งแต่ทุกโครงการดำเนินมา หัวหน้าฝ่ายวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมที่ 2 บอกว่าเห็นผลสัมฤทธิ์ว่าเด็กเหล่านี้เติบโตขึ้นมาเป็นผู้ใช้น้ำที่มีคุณภาพ มีความรักและหวงแหนทรัพยากรธรรมชาติมาก หลายพื้นที่เกิดเป็นเครือข่ายคนรุ่นใหม่

“ตอนนี้เรามีเครือข่ายทั่วประเทศที่จะมาทำงานเรื่องชลประทาน เพราะฉะนั้นการช่วยกันดูแลทำให้เกิดความสมานสามัคคีกัน เพราะพวกเขามีระเบียบการส่งน้ำ การบำรุงรักษาร่วมกัน ในพื้นที่จึงไม่มีปัญหาทะเลาะกันในกลุ่มผู้ใช้น้ำ เพราะทุกคนเคารพกฎระเบียบที่กลุ่มสร้างเอาไว้”

การเข้าไปทำงานร่วมกับเยาวชนจึงเป็นเสมือนการเพาะเมล็ดพันธุ์คนรักษ์น้ำ ที่ไม่ได้หยุดแค่พลังเล็กๆ แต่จะเติบโตเป็นพลังที่ยิ่งใหญ่อย่างน่ามหัศจรรย์