นักเศรษฐศาสตร์หวั่นแบงก์ชาติทั่วโลกไร้เครื่องมือกระตุ้นศก.

นักเศรษฐศาสตร์หวั่นแบงก์ชาติทั่วโลกไร้เครื่องมือกระตุ้นศก.

เพราะการประกาศลดอัตราดอกเบี้ยเร็วเกินไปในช่วงที่ยังไม่จำเป็น จะทำให้ธนาคารกลางสหรัฐขาดเครื่องมือที่มีประสิทธิผลเมื่อภาวะเศรษฐกิจถดถอยมาถึงจริง

บรรดานักเศรษฐศาสตร์จำนวนมากวิตกกังวลว่า ธนาคารกลางหลายประเทศอาจทำอะไรไม่ได้มากนักในการรับมือกับภาวะเศรษฐกิจซบเซา เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยของโลกอยู่ในระดับต่ำอยู่แล้ว ประกอบกับปัญหาท้าทายทางเศรษฐกิจที่กำลังโถมทับเข้ามาหลายด้าน ทั้งสงครามการค้าระหว่างสหรัฐกับจีน ปัญหาเบร็กซิท และการชะลอตัวของเศรษฐกิจในยุโรป

ทั้งนี้ เยอรมนี ซึ่งเป็นประเทศที่มีเศรษฐกิจแข็งแกร่งที่สุดในยุโรป เริ่มส่งสัญญาณถึงการหดตัวทางเศรษฐกิจและการจ้างงานที่ลดลง ส่วนเดือนส.ค. กิจกรรมการผลิตทางอุตสาหกรรมโดยรวมของประเทศในกลุ่มสหภาพยุโรป หดตัวเป็นเดือนที่ 7 ติดต่อกัน ส่วนในอังกฤษ ปัญหายืดเยื้อและความไม่ชัดเจนเกี่ยวกับเบร็กซิท เป็นผลให้การผลิตทางอุตสาหกรรมของอังกฤษหดตัวในอัตรามากที่สุดในรอบ 7 ปีเมื่อเดือนส.ค.

ส่วนผู้ประกอบการในสหรัฐ เริ่มปลดลดคนงานเพื่อเตรียมรับมือกับการชะลอตัวทางเศรษฐกิจที่คาดว่าอาจเกิดขึ้นในช่วงปีหน้า และสี่สัปดาห์ที่ผ่านมา ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ของสหรัฐทวีตกว่า 30 ครั้งให้ระบบธนาคารกลางของสหรัฐลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง และระบบธนาคารกลางสหรัฐ มีกำหนดจะประชุมด้านนโยบายครั้งต่อไปในวันที่ 18 ก.ย.นี้ เพื่อตัดสินใจเกี่ยวกับทิศทางของอัตราดอกเบี้ย

อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่ระดับสูงของธนาคารกลางสหรัฐ กล่าวว่า การลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายในขณะนี้จะเป็นเรื่องผิดพลาด เพราะเศรษฐกิจของสหรัฐขณะนี้แม้จะมีดัชนีบ่งชี้บางอย่างที่ทำให้น่ากังวล แต่อัตราดอกเบี้ยระยะสั้นในสหรัฐนั้นค่อนข้างต่ำอยู่แล้ว และอัตราการว่างงานรวมทั้งการใช้จ่ายของผู้บริโภคก็ยังเป็นที่น่าพอใจ ดังนั้นผู้กำหนดนโยบายของระบบธนาคารกลางสหรัฐจึงต้องชะลอการลดอัตราดอกเบี้ยออกไปก่อนจนกว่าจะมีสัญญาณของปัญหาเศรษฐกิจที่ชัดเจน

เพราะการประกาศลดอัตราดอกเบี้ยเร็วเกินไปในช่วงที่ยังไม่จำเป็น จะทำให้ธนาคารกลางสหรัฐขาดเครื่องมือที่มีประสิทธิผลเมื่อภาวะเศรษฐกิจถดถอยมาถึงจริง

แต่จากเงื่อนไขและสภาพเศรษฐกิจของโลกปัจจุบัน นักเศรษฐศาสตร์รวมทั้งผู้บริหารธนาคารกลางของหลายประเทศ เริ่มกังวลว่าเครื่องมือทางการเงินที่มีอยู่ เช่น การลดอัตราดอกเบี้ย อาจไม่เพียงพอที่จะช่วยฉุดเศรษฐกิจโลกให้ฟื้นตัวได้ เพราะอัตราดอกเบี้ยในยุโรปและญี่ปุ่นขณะนี้ต่ำจนอยู่ในแดนลบอยู่แล้ว


นอกจากนั้น ปัญหาเรื้อรังอีกด้านหนึ่งของหลายประเทศในขณะนี้ คือ หนี้สาธารณะ หรือหนี้ภาครัฐ ที่เป็นภาระหนักของรัฐบาลหลายประเทศจากการออกพันธบัตรมูลค่าหลายล้านล้านดอลลาร์เพื่อนำเงินมากระตุ้นเศรษฐกิจ ภาระหนี้ที่ว่านี้หากมีสัดส่วนมากเกินไป และไม่ช่วยเพิ่มผลผลิตทางเศรษฐกิจของประเทศ จะส่งผลให้ค่าเงินตราของประเทศนั้นตกต่ำลงและสร้างปัญหาทางเศรษฐกิจซ้ำสองได้