‘อินโดฯ’ เล็งเก็บภาษียักษ์เทคโนโลยี

‘อินโดฯ’ เล็งเก็บภาษียักษ์เทคโนโลยี

รัฐบาลอินโดนีเซียเล็งออกกฎหมายเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม (แวต) จากบริษัทเทคโนโลยีต่างชาติ รวมถึง “กูเกิล” และ “อเมซอน” แม้ไม่มีสำนักงานในประเทศ

สำนักคณะรัฐมนตรีอินโดนีเซียเผยแพร่แถลงการณ์ของนางศรีมุลยานี อินทราวาตี รัฐมนตรีคลัง เมื่อเร็ว ๆ นี้ ระบุว่า รัฐบาลอินโดนีเซียกำลังเตรียมออกกฎหมายที่จะทำให้บริษัทเทคโนโลยี เช่นอัลฟาเบท อิงค์ ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของกูเกิล และบริษัทอเมซอน ต้องจ่ายภาษีมูลค่าเพิ่ม (แวต)

นางอินทราวาตีชี้ว่า บริษัทเทคโนโลยีเหล่านี้จะถูกจัดให้อยู่ในกลุ่ม “สถานประกอบการถาวร” ที่ต้องจ่ายแวตให้กับอินโดนีเซีย ไม่ว่าบริษัทเหล่านี้จะมีสำนักงานอยู่ในประเทศนี้หรือไม่ก็ตาม

“เป็นเพราะบริษัทเทคโนโลยีเหล่านี้มีสถานะทางเศรษฐกิจที่สำคัญ แม้ว่าพวกเขาจะไม่มีสำนักงานสาขาในอินโดนีเซีย” นางอินทราวาตีกล่าว และระบุว่า กูเกิล อเมซอน และเน็ตฟลิกซ์ เป็นตัวอย่างของบริษัทที่จะได้รับผลกระทบจากกฎหมายใหม่ที่จะมีขึ้น

ปัจจุบัน อัตราภาษีมูลค่าเพิ่มในอินโดนีเซียอยู่ที่ 10% ซึ่งกำหนดไว้สำหรับผลิตภัณฑ์และบริการส่วนใหญ่

กูเกิลมีข้อพิพาทด้านภาษีกับอินโดนีเซียในปี 2559 เกี่ยวกับการหลีกเลี่ยงภาษี รวมถึงการไม่ชำระแวตจากรายได้ในการโฆษณา ซึ่งมีการยุติคดีกันได้ด้วยข้อตกลงที่ไม่มีการเปิดเผย

ก่อนหน้านี้ รัฐบาลอินโดนีเซียได้เปิดเผยหลายครั้งว่า ต้องการให้บรรดาผู้ให้บริการสตรีมมิ่ง เช่น เน็ตฟลิกซ์ จ่ายภาษีอย่างเป็นธรรม

ขณะที่บริษัทอเมซอนแม้ยังไม่มีธุรกิจอีคอมเมิร์ซในอินโดนีเซีย แต่ดำเนินการด้านบริการคลาวด์อยู่ในปัจจุบัน

อย่างไรก็ตาม บริษัทที่ถูกกล่าวถึงข้างต้น ยังไม่แสดงความเห็นต่อรายงานนี้

ร่างกฎหมายฉบับปรับปรุงใหม่ที่ต้องรอรัฐสภาอนุมัติก่อนนั้น เป็นส่วนหนึ่งของการปฏิรูปภาษีในประเทศที่มีเศรษฐกิจขนาดใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพื่อกระตุ้นรายได้จากการจัดเก็บภาษีของรัฐบาลและดึงดูดนักลงทุน

ช่วงหาเสียงเลือกตั้งที่ทำให้ประธานาธิบดีโจโก วิโดโด ได้รับชัยชนะกลับมาบริหารประเทศอีกสมัยเขาให้คำมั่นว่าร่างกฎหมายดังกล่าวจะครอบคลุมถึงการลดภาษีนิติบุคคลด้วย

นางอินทราวาตี ระบุว่า รัฐบาลมีแผนจะลดภาษีนิติบุคคลเหลือ 20% จาก 25% ในปัจจุบัน เริ่มตั้งแต่ปี 2564 ขณะที่บริษัทจดทะเบียนที่มีหุ้นซื้อขายในตลาดอย่างน้อย 40% จะเสียภาษีในอัตรา 17% จาก 20% ในปัจจุบัน