"ดีอี" ไขลานแผนควบรวม "ทีโอที-กสท" 

"ดีอี" ไขลานแผนควบรวม "ทีโอที-กสท" 

ชงแผนปรับองค์กรเข้าครม.กลางเดือนต.ค.

กระทรวงดีอีตื่นเร่งเครื่องแผนควบรวมทีโอที-กสทฯ วางกรอบภายในกลางต.ค.นี้ สององค์กรต้องสรุปแผนบริหารงาน การจัดการสินทรัพย์ และข้อพิพาท จากนั้นเตรียมชงเข้าสู่ที่ประชุม ครม.คาดได้เห็นแนวทางเป็นรูปธรรมภายใน 6 เดือนต่อจากนี้ ลั่นไม่อยากช้าเพราะจะเสียโอกาสทางธุรกิจ พร้อมหนุนดีป้าจัดมหกรรมดิจิทัล ไทยแลนด์ บิ๊กแบง 2019 ระหว่างวันที่ 28-31 ต.ค.นี้ คาดมีเม็ดเงินสะพัด 1,000 ล้านบาท ตั้งเป้าผู้เข้าร่วมงาน 500,000 คน

นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) เปิดเผยถึงความคืบหน้าการควบรวมบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) และบริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) เป็นบริษัทโทรคมนาคมแห่งชาติ (เอ็นที เทเลคอม) ว่า จากการหารือร่วมกับ 4 ฝ่าย ได้แก่ คณะผู้บริหารของทีโอที, คณะผู้บริหารของแคท, สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจทีโอที และสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจกสทฯไปเมื่อปลายสัปดาห์ที่แล้ว

เบื้องต้นได้กำหนดให้ทั้ง 2 องค์กรคือทีโอทีและกสทฯ ส่งแผนงานการควบรวมองค์กรมาภายใน 45 วัน หรือภายในกลางเดือนตุลาคม 2562 ต้องมีข้อสรุปใน 3 เรื่อง ได้แก่ 1.แผนบริหารจัดการบุคลากร ว่า หลังจากการควบรวมกิจการจะมีแนวทางอย่างไร 2. สินทรัพย์ และหนี้สิน ที่จะมีข้อสรุปร่วมกันได้หรือไม่ ทั้งนี้ สำนักงานอัยการสูงสุด มีคำวินิจฉัยเบื้องต้นว่า การควบรวมกิจการดังกล่าวจะไม่กระทบต่อสินทรัพย์ และหนี้สิน ของทั้ง 2 องค์กร และ 3.สัญญา และสัมปทานต่างๆ ที่เมื่อเกิดการควบรวมแล้ว จะเกิดผลกระทบหรือไม่ เพื่อเสนอต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดีอี และเข้าสู่ที่ประชุมร่วมกันอีกครั้ง

นายพุทธิพงษ์ กล่าวว่า เมื่อที่ประชุมเห็นชอบร่วมกัน จึงจะนำเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) และหาก ครม. เห็นชอบ จะมีการว่าจ้างที่ปรึกษาฝ่ายกฏหมาย ฝ่ายสินทรัพย์ และฝ่ายสัญญา เพื่อขับเคลื่อนการควบรวม​กิจการ​ให้เป็นรูปธรรม ซึ่งคาดว่า จะใช้อย่างน้อย 6 เดือน หรือช่วงไตรมาส 2/2563 น่าจะแล้วเสร็จ

“การตัดสินใจในการควบรวมกิจการเป็นสิ่งสำคัญ จึงต้องอาศัยระยะเวลาและการพิจาณาอย่างรอบคอบ ทั้งนี้ ที่ผ่านมา 2 องค์กร มีการทำงานที่ซ้ำซ้อนกัน ทำให้ธุรกิจ​ไม่สามารถแข่งขันกับภาคเอกชนได้ ส่งผลให้ทั้ง 2 องค์กร เสียโอกาสในการดำเนินธุรกิจ​ ประกอบกับคาดว่า ไม่เกิน 2 ปีจากนี้ จะมีอุตสาหกรรม​ด้านโทรคมนาคม​เกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก หากการควบรวมกิจการเป็นไปอย่างรวดเร็ว เชื่อว่า บริษัทโทรคมนาคมแห่งชาติที่เกิดขึ้น จะเป็นองค์กรหลักในการขับเคลื่อน​เทคโนโลยี​ใหม่ๆ ทำให้องค์กรมีความเข้มแข็ง​ และมีรายได้เพิ่มขึ้น” นายพุทธิพงษ์ กล่าว

หนุนดีป้าจัดดิจิทัล ไทยแลนด์ บิ๊กแบง

พร้อมกันนี้ นายพุทธิพงษ์ กล่าวว่า แม้ที่ผ่านมาเราจะตระหนักถึงความสำคัญของเทคโนโลยีดิจิทัล แต่ก็ต้องยอมรับด้วยว่าประชาชนคนไทยทุกคนไม่ได้มีโอกาสเข้าถึงเทคโนโลยีดิจิทัลได้อย่างทั่วถึงและเท่าเทียม ยกตัวอย่างประชาชนบางกลุ่มสามารถเข้าถึงดิจิทัลได้อย่างดีแต่ยังขาดความรู้ความเข้าใจในการใช้งานให้เกิดประโยชน์ ในบางกลุ่มยังห่างไกลมากจนปิดโอกาสในการยกระดับคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ รวมถึงยังมีอีกหลายกลุ่มคนที่ยังไม่สามารถปรับตัวในยุคดิจิทัลได้

ซึ่งตรงนี้ เป็นหน้าที่ของกระทรวงดีอี ที่จะผลักดันให้เทคโนโลยีดิจิทัลได้เข้าถึงประชาชนทุกระดับชั้น และทุกพื้นที่ของประเทศไทยเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ โดยล่าสุดกระทรวงดีอีจึงได้มอบหมายให้สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (ดีป้า) จัดงานดิจิทัล ไทยแลนด์ บิ๊กแบงระหว่างวันที่ 28-31 ต.ค.นี้ โดยภายในงานจะมีการรวมตัวของผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีดิจิทัล กว่า 300 บูธ เน้นการนำเสนอรูปแบบการส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล และพัฒนาผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมดิจิทัล ทั้งนี้ เบื้องต้นคาดว่า จะมีเม็ดเงินสะพัดในงานราว 1,000 ล้านบาท เกิดมูลค่าจากการจับคู่ธุรกิจมากกว่า 500 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากครั้งที่ผ่านมาที่มีมูลค่า 200 ล้านบาท ขณะที่ตั้งเป้าผู้เข้าร่วมงาน 500,000 คน