'สนธิรัตน์' ถก 'กัมพูชา' เปิดเจรจาพื้นที่ทับซ้อนทางทะเล

'สนธิรัตน์' ถก 'กัมพูชา' เปิดเจรจาพื้นที่ทับซ้อนทางทะเล

“สนธิรัตน์” ใช้เวที “รัฐมนตรีอาเซียนด้านพลังงาน ครั้งที่37” หารือ กัมพูชา ร่วมผลักดันเปิดเจรจาพื้นที่ทับซ้อน หวังสร้างประโยชน์ด้านพลังงาน 2 ประเทศ พร้อมหนุนหน่วยงานรัฐ-เอกชนไทย ลงทุนโรงไฟฟ้าถ่านหินเกาะกง

นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า การประชุม “รัฐมนตรีอาเซียนด้านพลังงานครั้งที่ 37 (AMEM ครั้งที่ 37) วันที่ 5ก.ย.นี้ กระทรวงพลังงาน จะใช้เวทีนี้หารือถึงการเดินหน้าเจรจาพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลระหว่างไทยและกัมพูชา ซึ่งเป็นเรื่องที่ทั้ง 2 ประเทศมีความต้องการพื้นฐานที่จะใช้ประโยชน์ร่วมกัน เพื่อหาแนวทางดำเนินการร่วมกันให้เกิดความก้าวหน้าอย่างไร

โดยหัวใจสำคัญคือ ทางกัมพูชามีการเติบโตทางด้านเศรษฐกิจและมีความต้องการใช้พลังงานมากขึ้น ขณะที่ไทยก็มีกำลังผลิตไฟฟ้าส่วนเกิน ก็จะต้องหารือร่วมกันว่าจะสนองนโยบายเชื่อมโยงไฟฟ้าในภูมิภาค โดยการให้เป็นศูนย์กลางซื้อขายไฟฟ้าไปสู่กัมพูชาอย่างไร ขณะเดียวกันกัมพูชา ก็มีแผนขยายกำลังผลิตไฟฟ้าในประเทศด้วย และไทยเองก็มีความพร้อมที่จะร่วมลงทุน

“เวทีครั้งนี้ คงจะคุยกันจะจับมือเดินหน้าเรื่องนี้อย่างไร แต่คงไม่ถึงขั้นได้ข้อยุติอะไร เพราะเป็นเรื่องที่ต้องหารือ ไม่ใช่แค่กระทรวงพลังงาน แต่ต้องหารือเรื่องระหว่างประเทศด้วย ซึ่งด้านพลังงานก็เป็นส่วนหนึ่งของการหารือในเวทีนี้ที่นับเป็นเวทีแรกของรัฐบาลนี้ และเรื่องนี้ก็ยืดเยื้อมา 20-30 ปี โดยหากทั้ง 2 ประเทศมีความตั้งใจแก้ปัญหาก็จะผลักดันไปสู่ประโยชน์ทั้ง2ประเทศได้” นายสนธิรัตน์ กล่าว

ทั้งนี้ ในเบื้องต้น ทางกัมพูชา ได้แสดงความประสงค์จะซื้อไฟฟ้าจากไทย รวมถึงต้องการลงทุนผลิตไฟฟ้าถ่านหินที่เกาะกง เพื่อป้อนความต้องการใช้ไฟฟ้าในกัมพูชา ซึ่งโรงไฟฟ้าดังกล่าวจะตั้งอยู่ติดกับชายแดนไทย จึงต้องไปดูว่าจะร่วมมือกันสร้างประโยชน์อย่างไร และก็เป็นโอกาสทั้งหน่วยงานรัฐและเอกชนไทยที่จะเข้าไปร่วมลงทุนได้ เช่น การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) และบริษัท ปตท.จำกัด(มหาชน) ซึ่งเบื้องต้น รับทราบว่า ทาง ปตท. ก็สนใจขยายธุรกิจไฟฟ้าในเพื่อนบ้าน เช่น เมียนมา โดยทางรัฐบาลก็พร้อมที่จะส่งเสริมให้เอกชนไทยให้ไปเติบโตในภูมิภาคเพื่อให้เป็นผู้นำของภูมิภาค ซึ่งจะนำไปสู่ทิศทางที่เป็นการแลกเปลี่ยนซื้อขายพลังงานในระดับภูมิภาค (Grid Connectivity)

นอกจากนี้ ยังจะมีการผลักดันการใช้พลังงานทดแทนร่วมกันในอาเซียน ซึ่งมีเป้าหมายใน 6 ปีข้างหน้าเพิ่มสัดส่วนการใช้ไปถึง 23% ขณะที่ไทยมีเป้าหมายถึง 30% โดยหวังที่จะขึ้นสู่ความเป็นผู้นำด้านพลังงานทดแทนในอนาคต โดยเฉพาะพลังงานทดแทนที่มาจากพืชผลทางการเกษตร ซึ่งเป็นที่มาของการผลักดันนโยบายหนึ่งชุมชนหนึ่งพลังงานทางเลือก ทั้งโซลาร์ ฝายขนาดเล็ก ซึ่งจะเป็นหนึ่งทางเลือกของพลังงานชุมชนได้ด้วย โดยเรื่องนี้ กระทรวงพลังงาน จะผลักดันเข้าสู่การพิจารณาหลักเกณฑ์ของที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ในวันที่ 12 ก.ย.นี้