อุตฯชงแผนกระตุ้น 'บีอีวี'

อุตฯชงแผนกระตุ้น 'บีอีวี'

อดิศักดิ์ "ยานยนต์สมัยใหม่จะเป็นประโยชน์กับผู้บริโภค ทั้งการเดินทาง การใช้พลังงานและเป็นมิตรสิ่งแวดล้อม"

สถาบันยานยนต์ เผยผลงานวิจัย ตั้งเป้าปี 2573 ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าบีอีวี 3.75 แสนคัน ผลิตรถยนต์ขับเคลื่อนอัตโนมัติ 1.5 ล้านคัน แนะรัฐปรับปรุงภาษีสรรพสามิตรถยนต์ไฟฟ้าใช้แบตเตอรี่ 100% ต่ำสุด เปิดทางผู้ซื้อนำค่าใช้จ่ายหักภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา

นายอดิศักดิ์ โรหิตะศุน ผู้ทำการแทนผู้อำนวยการสถาบันยานยนต์ กระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า สถาบันยานยนต์ทำรายงานการวิจัยทิศทางอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยในอนาคต เพื่อจัดทำข้อเสนอแนะเชิงนโยบายต่อการพัฒนาและส่งเสริมอุตสาหกรรมยานยนต์ของไทย ซึ่งจะเสนอให้หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องพิจารณาดำเนินการ 

การดำเนินการนี้มีผู้แทนจาก 4 หน่วยงานหลัก ได้แก่ 1.สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรม (สอวช.) 2.สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) 3.คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 4.สถาบันยานยนต์ กระทรวงอุตสาหกรรม

อุตฯชงแผนกระตุ้น \'บีอีวี\'

สำหรับ ผลการวิจัยได้คาดการณ์อนาคตจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียร่วมระดมสมองให้ได้ภาพอนาคตอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยปี 2573 และแนวทางดำเนินงานเพื่อไปสู่เป้าหมาย โดยมีตัวแทนจากภาครัฐและภาคเอกชนเข้าร่วมหารือ 100 หน่วยงาน ใช้เวลาดำเนินการ 1 ปี ทำให้ได้ภาพอนาคตของอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยที่สะท้อนความต้องการผู้บริโภคที่ต้องการการเดินทางอย่างชาญฉลาด หรือการเดินทางที่เชื่อมต่อการเดินทางรูปแบบอื่น โดยใช้พาหนะที่ใช้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม รวมทั้งมีราคาที่สมเหตุผล และเข้าถึงการเดินทางได้ทั่วถึง

ดันฐานผลิตรถยนต์สมัยใหม่

ทั้งนี้ ปี 2573 ไทยยังคงเป็นฐานการผลิตยานยนต์สมัยใหม่ที่สำคัญของภูมิภาค โดยจะผลิตรถยนต์ 2.5 ล้านคัน ในจำนวนนี้ผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศ 1.5 ล้านคัน ซึ่งจำนวนการผลิต 2.5 ล้านคัน จะผลิตรถยนต์ไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่ (BEV) 15% หรือ 3.75 แสนคัน และเป็นรถยนต์ที่ขับเคลื่อนอัตโนมัติในระดับ 3 ซึ่งรถยนต์ที่ขับเคลื่อนอัตโนมัติได้เองในพื้นที่จำกัด เช่น ทางด่วน รวมทั้งบางส่วนของพื้นที่พิเศษ เช่น เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) สัดส่วน 60% หรือ 1.5 ล้านคัน 

ส่วนรถที่ใช้ในกิจการสาธารณะ เช่น รถโดยสาร รถสามล้อ รถจักรยานยนต์ จะเป็นรถ BEV เพื่อเป้าหมายในระยะยาวที่ไทยจะเป็นฐานการผลิตยานยนต์สมัยใหม่ ซึ่งมีห่วงโซ่อุปทานที่มีมูลค่าเพิ่มสูง โดยการทำวิจัยและพัฒนาควบคู่กับการเป็นฐานการผลิตส่วนประกอบที่มีมูลค่าเพิ่มสูง อาทิ การผลิตแบตเตอรี่ มอเตอร์ กลุ่มชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์และซอฟต์แวร์ ยางล้อ และกลุ่มตัวถังที่ใช้วัสดุน้ำหนักเบา

“ยานยนต์สมัยใหม่จะเป็นประโยชน์แก่ผู้บริโภคด้านการเดินทางที่สะดวก ปลอดภัย มีประสิทธิภาพการใช้พลังงานและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม รวมทั้งด้านธุรกิจมีมูลค่ามหาศาล โดยคาดการณ์ว่าปี 2573 มูลค่าธุรกิจยานยนต์และบริการที่เกี่ยวข้องกับยานยนต์สมัยใหม่ทั่วโลกจะสูงถึง 1 ล้านล้านดอลลาร์ ดังนั้นไทยควรเร่งพัฒนาตนเอง เพื่อชิงรายได้มหาศาลดังกล่าวเข้าประเทศให้ได้มากที่สุด ซึ่งความสำเร็จนี้จะเกิดขึ้นได้แค่ไหนขึ้นกับการดำเนินนโยบายที่เหมาะสมและความร่วมมือทุกภาคส่วน”

เสนอ5แผนหนุนรถยนต์ไฟฟ้า

นอกจากนี้ ภาครัฐต้องดำเนินการ 5 มาตรการเร่งด่วน คือ 1.ปฏิรูปโครงสร้างภาษีสินค้ายานยนต์ทั้งระบบ ให้สอดคล้องกันภายใต้แนวคิด “สะอาด-ประหยัด-ปลอดภัย” เพราะระบบภาษีสรรพสามิตปัจจุบันลักลั่น เช่น ลดภาษีเพื่ออุดหนุนการใช้เอทานอลและไบโอดีเซล แต่เก็บภาษีรถยนต์อี 85 ในราคาต่ำ ซึ่งผู้ซื้อก็อาจนำไปใช้เติมน้ำมันชนิดอื่นได้ 

รวมทั้งนโยบายลดภาษีให้รถยนต์ไฟฟ้าที่ลดการไม่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ แต่เก็บภาษีรถยนต์ BEV 100% ใกล้เคียงกับรถยนต์ปลั๊กอินไฮบริดและไฮบริด ทำให้ไม่เกิดแรงจูงในซื้อรถยนต์ BEV เพียงพอ

2.กำหนดสิทธิประโยชน์แก่ผู้บริโภค ทั้งที่เป็นตัวเงินและมิใช่ตัวเงิน เพื่อสร้างตลาด เช่น ให้ผู้ที่ซื้อรถยนต์ไฟฟ้าสามารถนำรายจ่ายนี้ไปหักภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาได้ การลดค่าทางด่วนสำหรับรถยนต์ไฟฟ้า 3. ปรับปรุงกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจการประจุไฟฟ้า ซึ่งจะต้องมีสถานีชาร์จไฟฟ้าให้ครอบคลุมทั่วประเทศ

4.ยกระดับความสามารถการผลิตของผู้ประกอบการปัจจุบันและการพัฒนาบุคลากร ให้พร้อมสำหรับการผลิตยานยนต์สมัยใหม่ 5.เตรียมบุคลากรที่อยู่ในระบบการศึกษาเพื่อเข้าสู่อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่

คาด5ปีราคาแบตลดลง50%

นายอดิศักดิ์ กล่าวว่า เป้าหมายดังกล่าวอาจจะเกิดขึ้นได้เร็วกว่าที่กำหนดไว้หากเทคโนโลยีรถยนต์ไฟฟ้ามีราคาลดลงกว่าที่คาดและความต้องการของตลาดเพิ่มขึ้น รวมทั้งอาจยกระดับไปผลิตรถยนต์อัตโนมัติระดับ 4-5 ที่ขับเคลื่อนได้เอง หากเทคโนโลยีเติบโตก้าวกระโดด แต่ไทยต้องเตรียมความพร้อมในการปรับปรุงกฎหมาย ออกนโยบายและแผนงาน เพื่อรองรับรถยนต์ที่ขับขี่อัตโนมัติ และการใช้พาหนะร่วมกัน (Shared mobility)

“ในอนาคตรถยนต์ BEV จะมีราคาถูกลง โดยคาดว่าภายในปี 2568 ราคาแบตเตอรี่จะลดลง 50% ทำให้ราคารถยนต์ไฟฟ้าต่ำลงมาก เพราะแบตเตอรี่เป็นต้นทุนหลักของรถยนต์ไฟฟ้า และปี 2573 ราคาจะลดลงอีก ประกอบกับรายได้ประชาชนสูงขึ้นจึงทำให้คนทั่วไปเข้าถึงรถยนต์ BEV ได้ง่าย จึงทำให้เป้าหมายการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าเป็นไปได้

นายอดิศักดิ์ กล่าวว่า หากทำได้ตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ขั้นต้น จะทำให้ปี 2579 รถยนต์สะสมที่วิ่งในท้องถนนจะเป็นรถยนต์ไฟฟ้าทั้งปลั๊กอินไฮบริดและแบตเตอรี่รวม 1.2 ล้านคัน จากจำนวนรถยนต์สะสมที่วิ่งบนถนน 15 ล้านคัน ซึ่งเพิ่มขึ้นจากปัจจุบันที่มีรถยนต์ไฟฟ้าทุกประเภทและรถจักรยานยนต์ไฟฟ้า 1 แสนคัน จากรถยนต์สะสมทั้งหมด 10 ล้านคัน

สศอ.เตรียมเสนอรัฐบาล

นายอดิทัต วะสีนนท์ รองผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) กล่าวว่า สศอ.กำลังทบทวนมาตรการส่งเสริมรถยนต์ไฟฟ้าที่ประกาศใช้ตั้งแต่ปี 2560 ว่าจะต้องเพิ่มเติมในส่วนใดและมีด้านใดที่ยังไม่สำเร็จจะต้องปรับปรุงอย่างไร ซึ่งผลการวิจัยของสถาบันยานยนต์นี้ได้มีมาตรการครบทุกด้าน ซึ่งจะนำเป็นเป็นส่วนหนึ่งของการปรับปรุงมาตรการส่งเสริมรถยนต์ไฟฟ้าที่คาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2563 จากนั้นจะเสนอรัฐบาลพิจารณา

“ที่ผ่านมาบางมาตรการไม่สำเร็จ เช่น การส่งเสริมใช้รถยนต์ไฟฟ้าในประเทศ โดยหน่วยราชการต้องนำร่องก่อนเพื่อให้เกิดความต้องการใช้และสร้างความมั่นใจให้ประชาชน แต่ที่ผ่านมาไม่มีการกำหนดราคากลางของรถยนต์ไฟฟ้า ทำให้หน่วยราชการเช่าหรือซื้อรถยนต์ไฟฟ้าไม่ได้ ซึ่งจะต้องหารือกับกรมบัญชีกลางเพื่อผลักดันเรื่องนี้”