องค์คณะอุทธรณ์คดีข้าวจีทูจี นัดฟังคำพิพากษา 6 ก.ย.นี้

องค์คณะอุทธรณ์คดีข้าวจีทูจี นัดฟังคำพิพากษา 6 ก.ย.นี้

"ทนายบุญทรง-ข้าราชการกรมการค้าต่างประเทศ" เผย ได้รับหมายศาลนัดฟังคำพิพากษาชั้นวินิจฉัยอุทธรณ์แล้วพร้อมฟังคำตัดสิน 11 โมงเช้า หวังศาลเมตตาให้ความเป็นธรรม หลังลุ้นสู้คดี 2 ปี

เมื่อวันที่ 3 ก.ย.62 นายนรินทร์ สมนึก ทนายความของนายบุญทรง เตริยาภิรมย์ อดีตรมว.พาณิชย์ จำเลยคดีทุจริตโครงการระบายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ (จีทูจี) กล่าวถึงการนัดฟังคำพิพากษาชั้นวินิจฉัยอุทธรณ์คดีดังกล่าว ว่า ตนในฐานะทนายความ ก็ได้รับหมายแจ้งจากศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองแล้ว นัดฟังคำพิพากษาชั้นวินิจฉัยอุทธรณ์คดีนี้ในวันศุกร์ที่ 6 ก.ย.นี้ เวลา 11.00 น.

โดยในส่วนของนายบุญทรงที่อยู่ในเรือนจำได้ทราบนัดแล้ว ซึ่งตนได้พูดคุยกับนายบุญทรง ก็เตรียมพร้อมที่จะฟังผลคำพิพากษาในวันดังกล่า วโดยเมื่อมีหมายศาลแจ้งถึงฝ่ายจำเลยแล้ว ก็คาดว่าจะได้มีการอ่านคำพิพากษาตามวันเวลาดังกล่าวอย่างแน่นอน ขณะที่จำเลยทุกคนก็หวังที่จะได้รับความเมตตาจากศาล

ด้าน นายธนกร แหวกวารี ทนายความกลุ่มข้าราชการกรมการค้าต่างประเทศ และสำนักการค้าข้าวต่างประเทศ จำเลยร่วมคดีดังกล่าว ก็ระบุว่า ได้รับหมายศาลแจ้งกำหนดฟังคำพิพากษาชั้นวินิจฉัยอุทธรณ์แล้วเช่นกัน ซึ่งในการยื่นอุทธรณ์คดีของจำเลยที่ 4-6 ที่ตนรับผิดชอบดูแล ก็ได้ยื่นอุทธรณ์ทั้งประเด็นข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย จำเลยก็ยืนยันว่าการปฏิบัติหน้าที่เป็นไปตามกฎหมาย ขอให้คณะผู้พิพากษาวินิจฉัยอุทธรณ์ ( ผู้พิพากษา 9 คนซึ่งเลือกจากที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา) พิพากษายกฟ้อง หรือลงโทษสถานเบา หรือพิจารณารอการลงโทษ ตามขั้นตอนแนวทางการพิจารณาคดีอย่างเหมาะสมและเป็นธรรม

โดยคดีนี้อัยการสูงสุดยื่นฟ้องขอลงโทษจำเลยในหลายกรรม เราก็โต้แย้งประเด็นด้วยว่าพฤติการณ์ตามฟ้องนั้นเป็นการกระทำกรรมเดียวหรือไม่ ซึ่งในส่วนของจำเลยที่ยังคงอยู่ในเรือนจำมาตลอด สภาพจิตใจก็ยังคงดีอยู่ ทั้งนี้ก็หวังว่าจะได้รับความเมตตาและความเป็นธรรมศาล

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับคดีกล่าวหา กลุ่มนักการเมืองที่เป็นรัฐมนตรี และกลุ่มข้าราชการ รวมทั้งเอกชนประกอบกิจการโรงสีข้าว รวม 28 ราย ร่วมกันทุจริตโครงการระบายข้าวจีทูจีนั้น อัยการสูงสุด ได้เป็นโจทก์ ยื่นฟ้องเมื่อวันที่ 15 มี.ค.58 ในคดีหมายเลขดำ อม.25/2558 มีนายภูมิ สาระผลอดีต รมช.พาณิชย์ ในฐานะประธานอนุกรรมการพิจารณาระบายข้าว เป็นจำเลยที่ 1 ,นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ อดีต รมว.พาณิชย์ ในฐานะประธานอนุ กก.พิจารณาระบายข้าว จำเลยที่ 2 , พ.ต.นพ.ดร.วีระวุฒิ หรือหมอโด่ง วัจนะพุกกะ อดีตเลขานุการ รมว.พาณิชย์ จำเลยที่ 3 , นายมนัส สร้อยพลอย อดีตอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ จำเลยที่ 4 ,

นายทิฆัมพร นาทวรทัต อดีตรองอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ จำเลยที่ 5 , นายอัครพงศ์ ช่วยเกลี้ยงหรือทีปวัชระ อดีต ผอ.สำนักการค้าข้าวต่างประเทศ จำเลยที่ 6 , นายสมคิด เอื้อนสุภา จำเลยที่ 7 , นายรัฐนิธ โสจิระกุล จำเลยที่ 8 , นายลิตร พอใจ จำเลยที่ 9 , บริษัท สยามอินดิก้า จำกัด จำเลยที่ 10 ,น.ส.รัตนา แซ่เฮ้ง จำเลยที่ 11 , น.ส.เรืองวัน เลิศศลารักษ์ จำเลยที่ 12 , น.ส.สุทธิดาหรือสุธิดา ผลดีหรือจันทะเอ จำเลยที่ 13 , นายอภิชาติ หรือเสี่ยเปี๋ยง จันทร์สกุลพร นักธุรกิจค้าข้าวคนสำคัญ จำเลยที่ 14 , นายนิมล หรือโจ รักดี จำเลยที่ 15 , นายสุธี เชื่อมไธสง คนสนิทของนายอภิชาติหรือเสี่ยเปี๋ยง จำเลยที่ 16 ,

นางสุนีย์ จันทร์สกุลพร ญาติเสี่ยเปี๋ยง จำเลยที่ 17 , นายกฤษณะ สุระมนต์ จำเลยที่ 18 , นายสมยศ คุณจักร จำเลยที่ 19 , บริษัท กีธา พร็อพเพอร์ตี้ จำกัดหรือบริษัท สิราลัย จำกัด จำเลยที่ 20 , น.ส.ธันยพร จันทร์สกุลพร บุตรสาวเสี่ยเปี๋ยง จำเลยที่ 21 , ห้างหุ้นส่วนจำกัด โรงสีกิจทวียโสธร จำเลยที่ 22 , นายทวี อาจสมรรถ หุ้นส่วนผู้จัดการ จำเลยที่ 23 , บริษัท กิจทวียโสธรไรซ์ จำกัดโดยนายทวี อาจสมรรถ กรรมการ จำเลยที่ 24 , บริษัท เค.เอ็ม.ซี. อินเตอร์ไรซ์ (2002) จำกัด จำเลยที่ 25 , นายปกรณ์ ลีศิริกุล กรรมการบริษัท จำเลยที่ 26 , บริษัท เจียเม้ง จำกัด จำเลยที่ 27 และนางประพิศ มานะธัญญา กรรมการบริษัท จำเลยที่ 28 ในความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่ซื้อ จัดการหรือรักษาทรัพย์ ใช้อำนาจโดยทุจริตสร้างความเสียหายแก่รัฐ ตามประมวลกฎหมายอาญา ม.151 ,ม.157 ฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบหรือโดยทุจริตสร้างความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด และ พ.ร.บ.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มาตรา 4, 123 ,123/1 และ พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานรัฐ (ฮั้วประมูล) พ.ศ.2542 มาตรา 4, 9, 10,12 พร้อมขอให้ศาลสั่งปรับจำเลย รวม 35,274,611,007 บาทด้วยซึ่งคิดคำนวณจากมูลค่าครึ่งหนึ่งในสัญญาระบายข้าวกว่า 5 ล้านตันที่พบว่ามีการกระทำผิดสัญญา 4 ใน 8 ฉบับ โดย ก.ม.ฮั้วประมูล ม.4 กำหนดให้ขอปรับได้ร้อยละ 50 จากมูลค่าตามสัญญา และให้กลุ่มเอกชนและบริษัทนิติบุคคล 15 ราย (จำเลยที่ 14-28) ร่วมกันชดใช้ความเสียหายทางแพ่งด้วยประมาณ 2.6 หมื่นล้านบาทพร้อมดอกเบี้ยด้วย

ขณะที่ระหว่างพิจารณา พ.ต.นพ.ดร.วีระวุฒิ หรือหมอโด่ง วัจนะพุกกะ อดีตเลขานุการ รมว.พาณิชย์ จำเลยที่ 3 และ นายสุธี เชื่อมไธสง จำเลยที่ 16 คนสนิทของนายอภิชาติหรือเสี่ยเปี๋ยง นักค้าข้าวรายสำคัญได้หลบหนีคดีไปศาลจึงให้จำหน่ายคดีไว้ชั่วคราว (ออกหมายจับรอติดตัวกลับมาดำเนินคดี)

สุดท้ายชั้นพิจารณาจึงเหลือจำเลยทั้งสิ้น 26 ราย โดยทั้งหมดให้การปฏิเสธต่อสู้คดี ซึ่งศาลให้ประกันจำเลยทั้งหมด โดยในส่วนของนายภูมิ อดีต รมช.พาณิชย์ จำเลยที่ 1, บุญทรง อดีตรมว.พาณิชย์ จำเลยที่ 2 , นายอภิชาติ หรือเสี่ยเปี๋ยง นักค้าข้าวคนสำคัญ จำเลยที่ 14 ประกันตัวหลักทรัพย์คนละ 20 ล้านบาท ส่วนจำเลยอื่นศาลตีราคาประกันคนละ 5 - 8 ล้านบาท ซึ่งคดีศาลไต่สวนพยานเสร็จสิ้นเมื่อวันที่ 5 ก.ค.60 และอ่านคำพิพากษาขององค์คณะศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เมื่อวันที่ 25 ส.ค.60 เห็นว่าข้อตกลงตามสัญญาให้ขายข้าวแก่บริษัท กว่างตง จำกัด และบริษัทไห่หนาน จำกัด ที่อ้างว่าเป็นผู้แทนจากประเทศจีน 4 ฉบับ มีข้อพิรุธหลายประการ โดยบริษัทเอกชนที่อ้างว่าเป็นผู้แทนจากประเทศจีนนั้นก็ไม่ได้รับมอบหมายจากรัฐบาลจีน เป็นรัฐวิสาหกิจจีนจริงเท่านั้น พฤติการณ์จึงเป็นการจงใจปล่อยปละละเลย ซ่อนเร้นอำพรางปิดบังความจริงเกี่ยวกับสัญญาการซื้อขายข้าว เพื่อเอื้อประโยชน์เปิดช่องทางให้มีข้าวกลับมาหมุนเวียนขายในประเทศ ไม่ได้เป็นการทำการซื้อขายรัฐต่อรัฐจึงพิพากษาให้จำคุก นายภูมิ อดีต รมช.พาณิชย์ จำเลยที่ 1 รวม 2 กระทง 36 ปี ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคา (ฮั้วประมูล) มาตรา 12 ซึ่งเป็นบทหนักสุด , นายบุญทรง รมว.พาณิชย์ จำเลยที่ 2 ให้จำคุกรวม 3 กระทง 42 ปี ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคา (ฮั้วประมูล) มาตรา 12 และประมวลกฎหมายอาญามาตรา 151 จำคุกคนละ 4 กระทง

นายมนัส อดีต อธ.กรมการค้าต่างประเทศ จำเลยที่ 4 เป็นเวลา 40 ปี , นายทิฆัมพ อดีตรอง อธ.กรมการค้าต่างประเทศ จำเลยที่ 5 เป็นเวลา 32 ปี , นายอัครพงศ์ อดีต ผอ.สำนักการค้าข้าวต่างประเทศ จำเลยที่ 6 เป็นเวลา 24 ปี
นายอภิชาต หรือเสี่ยเปี๋ยง นักค้าข้าวคนสำคัญ จำเลยที่ 14 จำคุก 48 ปี , นายนิมล หรือโจ คนสนิทเสี่ยเปี๋ยง จำเลยที่ 15 จำคุก 32 ปี ฐานร่วมกันสนับสนุนเจ้าหน้าที่กระทำผิด พ.ร.บ.ฮั้วประมูลฯ ให้ปรับ บจก.สยามอินดิก้า จำเลยที่ 10 รวม 4 กระทงเป็นเงิน 1 ล้านบาท และให้ บจก.สยามอินดิก้า , เสี่ยเปี๋ยง และ นายนิมล ร่วมกันชดใช้กระทรวงการคลัง 16,912,128,273.66 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 นับแต่วันที่รับมอบข้าวตามสัญญาแต่ละฉบับ
ส่วนจำเลยที่ 7,8,9,11,12 ให้จำคุกคนละ 8-16 ปี ฐานสนับสนุนทำผิดพ.ร.บ.ฮั้วประมูลฯ กับให้จำคุก จำเลยที่ 13,17,18 เป็นเวลา 4 ปี ฐานสนับสนุนทำผิดตาม ป.อาญา มาตรา 151 และ พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทุจริตฯ มาตรา 123/1

ปรับ บจก.กีธา พร็อพเพอร์ตี้ จำเลยที่ 20 จำนวน 25,000 บาท และ น.ส.ธันยพร จันทร์สกุลพร บุตรสาวเสี่ยเปี๋ยง จำเลยที่ 21 (ไม่มาศาลวันอ่านคำพิพากษา) จำนวน 40,000 บาท ฐานสนับสนุนทำผิดตาม ป.อาญา มาตรา 151 และ พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทุจริตฯ มาตรา 123/1 รวมทั้งให้ทั้งสองร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายด้วยจำนวน 1,294,109,764.80 บาท

โดยให้ยกฟ้อง จำเลยที่ 19 ซึ่งเป็นสามีของญาตินายอภิชาต และกลุ่มโรงสีกับผู้บริหารโรงสี จำเลยที่ 22 , 23 , 24 , 25 , 26 , 27 , 28 เนื่องจากพยานหลักฐานที่ไต่สวนมา ยังไม่เพียงพอให้รับฟังว่าจำเลยทั้งแปดเกี่ยวข้องกับการกระทำ

ผู้สื่อข่าวรายงานอีกว่า อย่างไรก็ดีสำหรับ พ.ต.นพ.ดร.วีระวุฒิ หรือหมอโด่ง อดีตเลขานุการ รมว.พาณิชย์ จำเลยที่ 3 และ นายสุธี คนสนิทของนายอภิชาติหรือเสี่ยเปี๋ยง จำเลยที่ 16 หลังจากที่ศาลสั่งจำหน่ายคดีชั่วคราวไปเพราะจำเลยหนีคดี ก็ปรากฏว่าต่อมามี พ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง (วิ อม.) พ.ศ.2560 ออกมาบังคับใช้ ให้อำนาจศาลฎีกาฯ พิจารณาคดีที่ฟ้องและออกหมายจับจำเลยแล้วได้ใหม่โดยไม่มีตัวจำเลย อัยการสูงสุดจึงได้ยื่นคำร้องขอให้ศาลนำคดีของทั้งสองพิจารณาใหม่ โดยเมื่อวันที่ 28 พ.ค.62 องค์คณะศาลฎีกาฯ มีคำพิพากษาว่าทั้งสองได้ร่วมกระทำผิดด้วย ให้จำคุก พ.ต.นพ.ดร.วีระวุฒิ หรือหมอโด่ง อดีตเลขานุการ รมว.พาณิชย์ จำเลยที่ 3 รวม 4 กระทงเป็นเวลา 72 ปี แต่เมื่อรวมโทษทุกกระทงความผิดแล้วให้จำคุกทั้งสิ้น 50 ปี และ นายสุธี คนสนิทของนายอภิชาติ หรือเสี่ยเปี๋ยง จำเลยที่ 16 จำคุก 4 กระทงเป็นเวลารวม 32 ปี และให้จำเลยที่ 16 ชดใช้ค่าเสียหายให้กับกระทรวงการคลังด้วยจำนวน 16,912,128,273.66 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี นับจากวันทำสัญญา