กรุงไทยจับมือมหาวิทยาลัยบูรพาพัฒนาสู่ Smart University

กรุงไทยจับมือมหาวิทยาลัยบูรพาพัฒนาสู่ Smart University

กรุงไทยจับมือมหาวิทยาลัยบูรพาพัฒนาสู่ Smart University

นายผยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย และ รองศาสตราจารย์ ดร.วัชรินทร์ กาสลัก ผู้รักษาการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยบูรพา ร่วมลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในโครงการ BUU Smart University เพื่อพัฒนาไปสู่การเป็นมหาวิทยาลัยอัจฉริยะและสังคมไร้เงินสด โดยเชื่อมโยงระบบสารสนเทศทางการศึกษาของมหาวิทยาลัย กับระบบชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์ของธนาคาร และให้บริการจัดการทางการเงินแบบครบวงจร ผ่านระบบ Krungthai Digital Platform ที่มหาวิทยาลัยบูรพา เมื่อวันที่ 3 กันยายน 2562

นายผยง ศรีวณิช เปิดเผยว่า ธนาคารได้พัฒนาบัตรนักศึกษาและบัตรบุคลากรของมหาวิทยาบูรพา (IPAC) ซึ่งเป็นบัตรวีซ่าเดบิต ที่สามารถทำธุรกรรมการเงินผ่านเครื่อง ATM และชำระค่าสินค้าและบริการผ่านเครื่อง EDC โดยเตรียมเชื่อมโยงทุกการใช้ชีวิตภายในมหาวิทยาลัย เช่น เช็คเวลาเข้าเรียน เช็คชื่อเข้าชั้นเรียนเข้าห้องสมุด ใช้ยืม-คืนหนังสือในห้องสมุด เช็คชื่อในวันรับปริญญา เช็คเวลาเข้างาน และนำรถเข้าออกลานจอดรถ รวมทั้งติดตั้งเครื่อง EDC ตามจุดรับชำระเงินต่างๆ ภายในมหาวิทยาลัย และให้บริการ QR Code เพื่อรับชำระเงินของหน่วยงานและร้านค้าภายในมหาวิทยาลัย อีกทั้งจะขยายความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยบูรพาในด้านอื่นๆ เพื่อให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยที่ผ่านมา ได้ร่วมเป็นผู้สนับสนุนกิจกรรมงานวิชาการต่างๆ ที่มหาวิทยาลัยเป็นเจ้าภาพ เช่น การจัดการแข่งขันคอมพิวเตอร์โอลิมปิก ระดับนานาชาติ ครั้งที่ 15

นอกจากนี้ ธนาคารได้ปรับโฉม สาขามหาวิทยาลัยบูรพาใหม่ ให้ทันสมัย แต่ยังคงความเป็นสถาบันการเงินมืออาชีพ โดยออกแบบภายใต้แนวคิด  Loft- Young , Digital , Connect จัดวางพื้นที่แบบโล่งและมีพื้นที่สำหรับ Digital Learning ที่สามารถประยุกต์ใช้สำหรับ Meet & Learn พร้อมบริการ Wifi ฟรี มุ่งเน้นการบริการที่สะดวก รวดเร็ว ในรูปแบบ  Digital

รองศาสตราจารย์ ดร.วัชรินทร์ กาสลัก เปิดเผยว่า มหาวิทยาลัยบูรพา และธนาคารกรุงไทย ได้ร่วมลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในโครงการ BUU Smart University  โดยจัดทำบัตรนิสิตรูปแบบใหม่ เพื่อให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของสังคมที่ใช้เทคโนโลยีการสื่อสารในด้านต่างๆ รวมถึงการทำธุรกรรมทางการเงิน ซึ่งการที่นิสิตได้เข้าสู่โลกแห่งเทคโนโลยี อาทิ การใช้แอปพลิเคชั่นจากมือถือในการซื้อสินค้าและบริการผ่านบัตรนิสิตรูปแบบใหม่นี้ เป็นการสร้างสิ่งแวดล้อมรอบตัวให้เป็นไทยแลนด์ ยุค 4.0 เมื่อนิสิตสำเร็จการศึกษาแล้วเข้าสู่สังคมตลาดแรงงาน จะสามารถปรับตัวเข้าสู่ความเป็นยุคดิจิทัลได้อย่างรวดเร็วยิ่งขึ้น โดยบัตรนิสิตรูปแบบใหม่นี้จะเริ่มใช้กับนิสิต รหัส 62