ทำไมคนเกลียดเกรต้า

ทำไมคนเกลียดเกรต้า

เกรต้า ธันเบิร์ก สาวน้อยชาวสวีเดนวัย 16 ขวบ เป็นที่รู้จักทั่วโลกในฐานะนักรณรงค์เพื่อสิ่งแวดล้อม ขณะที่คนทั้งโลกชื่นชอบ แต่ก็มีคนจำพวกหนึ่งเกลียดชัง

 """""""""""""""""""""

ถึงวันนี้คงแทบไม่มีใครไม่รู้จักเกรต้า ธันเบิร์ก สาวน้อยชาวสวีเดนอายุ 16 ขวบ ภายในช่วงเวลาเพียงปีเดียว เธอกลายเป็นผู้นำรณรงค์ผลักดันวาระโลกร้อนที่ทรงอิทธิพลที่สุด

กลางเดือนนี้ปีที่แล้ว (กันยายน 2561) เธอเริ่มละห้องเรียน ออกมานั่งประท้วงนักการเมืองหน้าสภาสวีเดนอยู่คนเดียว คำพูดเรียบง่าย แต่เฉียบคมและตรงผ่าซากอย่างบริสุทธิ์ใจที่สุดของเธอเขย่าผู้คนออกจากมายาคติและความเฉื่อยชาต่อระดับวิกฤตและความเร่งด่วนของปัญหาโลกร้อน เธอจุดประกายให้เด็กนักเรียนทั่วโลกพากันโดดเรียนประท้วงกดดันรัฐบาล เพราะมันเป็นปัญหาที่คนรุ่นเธอต้องประสบหากคนรุ่นผู้ใหญ่ที่ก่อเหตุไม่ทำอะไรเพื่อบรรเทาสถานการณ์ จนโลกขนานนามเด็กรุ่นนี้ว่า “เจนเกรต้า”

เธอเรียกร้องความรับผิดชอบจากนักการเมืองและผู้มีอำนาจ หลายคนเริ่มฟังเธอและเชิญเธอไปพูดในงานประชุมระดับโลกต่างๆ รวมทั้ง World Economic Forum เมื่อเธอไปพูดในรัฐสภาอังกฤษ รัฐบาลอังกฤษก็สนองตอบทันที โดยประกาศการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศโลกเป็นภาวะวิกฤต โพลสำรวจความคิดเห็นคนเยอรมันพบว่า พลเมืองหนึ่งในสามบอกว่า เกรต้าได้เปลี่ยนมุมมองพวกเขา นั่นคือ 30 เปอร์เซ็นต์ มันเป็นสัดส่วนที่มากพอจะหันทิศทางการขับเคลื่อนของสังคม

แต่ยิ่งมีคนฟังเธอมากเท่าไหร่ ปฏิกิริยาจากอีกขั้วก็ยิ่งแรงขึ้น เป็นเสียงสะท้อนความเกลียดชังและหมั่นไส้ ไอ้เด็กปากไม่สิ้นกลิ่นน้ำนม ฟังมันทำไม บียอน ลอมบอร์ก เจ้าหน้าที่กรีนพีซเก่าที่ดังจากเขียนหนังสือกังขาต่อโลกร้อนเมื่อ 20 ปีก่อน เหยียดว่า เธอเป็นหุ่นเชิดของกลุ่มแอคติวิสต์สิ่งแวดล้อมหากินกับเด็ก

แทนที่จะให้เธอพูดบนเวทีระดับโลก เขาบอกว่า เป็นหน้าที่ของผู้ใหญ่ที่จะต้องตักเตือนพฤติกรรม อันมาจากความไร้เดียงสาของเธอ

กระแสด่าเกรต้ารุนแรงมากยิ่งขึ้น เมื่อเธอรับคำเชิญจากทีมเรือแข่ง Malizia IIของอังกฤษ ให้นั่งเรือใบเร็วข้ามมหาสมุทรแอตแลนติก เพื่อเดินทางไปประชุมสหประชาชาติที่นิวยอร์ค คอลัมนิสต์หนังสือพิมพ์ขวาจัดในออสเตรเลียเรียกเธอว่า เป็นศาสดาโรคจิตแห่งกระบวนการโลกร้อน และเศรษฐีอังกฤษ อารอน แบงค์ส นักรณรงค์ Brexit ให้อังกฤษออกจากสหภาพยุโรป แช่งให้เธอเกิดอุบัติเหตุกลางท้องทะเล

หลายคนตั้งข้อสังเกตว่า คนเกลียดเกรต้าเป็นผู้ชายขวาจัด เป็นผู้ได้เปรียบในความสัมพันธ์เชิงอำนาจของโครงสร้างโลกยุคเก่า ทั้งด้วยความเป็นชาย เป็นคนขาว ความอาวุโสรุ่นเบบี้บูมเมอร์ รับไม่ได้กับเด็กผู้หญิงเขย่าโลกจนสถานะพวกเขาอาจสั่นคลอน

ผู้ชายเกลียดเกรต้าพวกนี้เป็นข่าว เพราะเป็นคนมีชื่อในสังคม แต่เมื่อไล่ดูช่องคอมเมนต์ในเฟซบุ๊คหน้าข่าวเกรต้าหลายชิ้นจากเพจสื่อใหญ่ต่างๆ เรากลับเห็นความหมั่นไส้เกรต้าจากคนธรรมดาทั่วไปอีกไม่ใช่น้อย ก็จริงที่จำนวนมากเป็นผู้ชาย แต่ก็มีผู้หญิงด้วย อย่าว่าแต่ใครอื่นไกล แม้แต่ญาติอเมริกันลูกดกของฉันยังเหยียดยี้ดูแคลนเกรต้า เธอเป็นคริสต์คลั่งศาสนาโหวตทรัมป์

คนเหล่านี้พยายามเยาะเย้ยและดิสเครดิตการใช้เรือใบข้ามมหาสมุทรของเกรต้า บ้างว่าเป็นแค่การแสดงเพื่อพีอาร์ บ้างด่าแผนเดินทางกลับบ้านของพวกเขา ว่าจะมีนักเดินเรืออีกสองคนบินมานิวยอร์คเพื่อช่วยแล่นเรือกลับ จึงกลายเป็นเผาผลาญคาร์บอนมากกว่าเกรต้าบินเองคนเดียว ทั้งๆ ที่เป็นการประสานตารางงานซ้อมแข่งเรือที่ไม่ได้เกี่ยวกับเกรต้า บ้างก็ตั้งคำถามถึงปริมาณคาร์บอน พลังงาน และทรัพยากรในการต่อเรือลำนี้ขึ้นมาตั้งแต่แรก ซึ่งเอาจริงแล้วก็หนักโลกน้อยกว่ากระบวนการสร้างเครื่องบินโดยสารมากมาย (แถมอู่ต่อเรือลำนี้ได้ชี้แจงไว้อย่างละเอียดว่าสรรหาวัตถุดิบรีไซเคิลอะไรมาอย่างไรให้กระทบโลกน้อยที่สุด) บ้างก็ประชดประชันว่า เรือรักษ์โลกของเล่นมหาเศรษฐี คนธรรมดาอย่างพวกชั้นจะมีใช้ได้อย่างไรล่ะ เชอะ!

บางคนก็เยาะอาการออทิสติกและสีหน้าท่าทางของเธอ

เกรต้าเป็นเด็กที่มีวุฒิภาวะอย่างเหลือเชื่อ เธอมองออกว่า การโจมตีเรื่องส่วนตัวเหล่านี้เป็นสัญญาณอาการของผู้ที่กำลังแพ้ หมดหนทางจะถกเถียงด้วยเหตุผลดีๆ

แต่เราสนใจว่า ทำไมคนเหล่านี้จึงเกลียดเธอ

เราเข้าใจความเกลียดจากคนมีอิทธิพลไม่อยากสูญเสียสถานะเดิม แต่คนอื่นๆ ทั่วไปล่ะ คนอย่างญาติเราล่ะ เขาออกจะขัดสนด้วยซ้ำ เขาจะได้ประโยชน์จากการจัดสรรดูแลทรัพยากรโลกในแนวทางที่ยั่งยืนขึ้นและเป็นธรรมมากขึ้น เข้าถึงทรัพยากรสาธารณะที่มีคุณภาพได้มากขึ้น ลูกๆ จำนวนเกือบโหลของเขาจะมีโอกาสได้ชีวิตที่ดีขึ้น ต้องเข้าใจด้วยว่าเรากำลังพูดถึงคนที่มีการศึกษาดีจากมหาวิทยาลัยชั้นนำ

คนเหล่านี้อาจจะเพียงอิจฉาริษยา อีแบบนี้ชั้นก็พูดได้ ทำไมไม่มีคนมาชื่นชมชั้น เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม เกรต้าได้ทำให้วาระโลกร้อนเป็นการต่อสู้ทางการเมืองในสงครามทางวัฒนธรรมระดับโลก เธอสลัดความเฉยชาในสังคมทิ้งไปได้สำเร็จ ทำให้เกิดความชัดเจนปรากฎขึ้นมาเป็นความขัดแย้งระหว่างข้อเท็จจริงทางวิทยาศาสตร์กับความโลภ

แต่การ “ฟังวิทยาศาสตร์” อย่างที่เกรต้าขอให้เราทำ หมายถึง การปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตในระดับพลิกผันถอนรากถอนโคนในเวลาไม่มากนัก ก่อนที่สถานการณ์จะสะสมไปสู่ความรุนแรงในจุดที่หวนกลับคืนไม่ได้ คนที่ขับรถยนต์ส่วนตัวต้องเปลี่ยนมานั่งรถเมล์ไฮบริดหรือขี่จักรยาน ทุกคนต้องลดบริโภคเนื้อสัตว์ ถ้าให้ดีต้องเปลี่ยนเป็นมังสวิรัติ 

ความสะดวกสบายหลายประการจะมีเทคโนโลยีใหม่ๆ เจ๋งๆ เข้ามาเกื้อหนุนในอนาคต แต่ความคุ้นชินหลายประการต้องปรับเปลี่ยน สำหรับบางคนมันหมายถึงความสบายน้อยลง อภิสิทธิ์พิเศษหายไป ต้องแบ่งปันทรัพยากรร่วมกับคนที่ไม่เคยอยากสุงสิงด้วยมากขึ้น เป็นต้น

เป็นธรรมดาที่คนจะกลัวการเปลี่ยนแปลง และความกลัวเป็นแรงขับเคลื่อนที่ทรงพลังมากมาย มันมีกำลังมากจนน่ากลัว ดังที่โสคราติสเคยพูดไว้หลายพันปีก่อน 

“From the deepest desires often come the deadliest hate” -ความเกลียดชังที่น่าสะพรึงที่สุดมักผุดจากความปรารถนาเบื้องลึกที่สุด

 .........................

ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ เซคชั่นจุดประกาย คอลัมต์โลกในมือคุณ เขียนโดย สรณรัชฎ์ กาญจนะวณิชย์ ฉบับวันที่ 5 กันยายน 2562