เพื่อไทยแนะรัฐรับมือสงครามการค้า

เพื่อไทยแนะรัฐรับมือสงครามการค้า

"พรรคเพื่อไทย" เสนอรัฐบาลรับมือสงครามการค้า 2 ระดับ เน้นร่วมมืออาเซียนสร้างโมเมนตัมลดเศรษฐกิจโลกชะลอตัว

พรรคเพื่อไทยร่วมกับสถาบันสร้างไทย จัดงานสัมมนาวิชาการ “ผลกระทบของสงครามทางการค้าจีน-สหรัฐ : สถานะทางยุทธศาสตร์และการรับมือของไทย” โดยนายบัณฑิต นิจถาวร อดีตรองผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย เผยว่าสงครามการค้าเป็นเรื่องน่าเป็นห่วงมาก คนไทยต้องเตรียมตัวรับมือให้ดี เพราะบริบทของปัญหาไม่ใช่เรื่องของการค้า แต่เป็นการแข่งขันระหว่างสองประเทศ คือระหว่างสหรัฐกับจีนที่กำลังก้าวขึ้นมามีความสามารถทางเศรษฐกิจสูงมาก ศักยภาพใกล้เคียงกัน แต่ที่แตกต่างกันคือ ผู้นำจีนยุคนี้แตกต่างกับเมื่อก่อน

ผู้นำจีนสมัยก่อนเก็บเนื้อเก็บตัว แต่สิบปีที่ผ่านมาผู้นำจีนแสดงให้โลกเห็นถึงความสำเร็จ โครงการหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง เป็นตัวอย่างชี้ให้เห็นว่าจีนกำลังเชื่อมต่อโลก หรือการตั้งธนาคารเอไอไอบี ขึ้นมาแข่งกับธนาคารโลก และกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ)

นายบัณฑิต ยังกล่าวถึงโครงการเมดอินไชน่า 2025 ที่ระบุชัดว่าจีนจะเป็นผู้นำด้านเศรษฐกิจและเทคโนโลยี ยิ่งทำให้สหรัฐกังวลมาก จึงหันมาระมัดระวังมากขึ้น ส่งผลกระทบเป็นสงครามการค้า หรือการกีดกันบริษัทหัวเว่ย รวมไปถึงการทหาร การลงทุน จนคล้ายเป็นสงครามเย็นรอบใหม่

“สาเหตุของสงครามการค้ามาจากการเปิดเสรีทำให้อุตสาหกรรมสหรัฐต้องปิดตัวลง ชาวอเมริกันระดับล่างกลายเป็นผู้สูญเสียจากโลกาภิวัตน์ อีกทั้งความขัดแย้งยังเกิดขึ้นในหลายมิติ เช่น ด้านทรัพย์สินทางปัญญา ที่องค์การการค้าโลก (ดับเบิลยูทีโอ) แก้ไขไม่ได้ ทั้งสองประเทศต้องมาคุยกันเอง ซึ่งเป็นความตั้งใจของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์อยู่แล้วตั้งแต่ต้น”

นายบัณฑิตย้ำว่า ผลกระทบจากสงครามการค้ายังไม่เท่ากับความไม่แน่นอน กล่าวคือไม่มีใครรู้ว่าจะจบเมื่อใด จบอย่างไร ส่งผลต่อความเชื่อมั่นทั้งภาคธุรกิจ ผู้บริโภค ตลาดเงิน และตลาดทุน

สำหรับการตั้งรับของไทยอดีตรองผู้ว่า ธปท.แนะนำไว้ 2 ระดับ 1.ระดับภูมิภาค ทั้งอาเซียนได้รับผลกระทบทั้งหมด ไทยควรวางนโยบายกระตุ้นการค้าขายในอาเซียน ให้ช่วยรองรับการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก 2.ระดับประเทศ การช่วยเหลือของภาครัฐจะต้องได้ผลในวงกว้าง คนส่วนใหญ่ได้ประโยชน์ เศรษฐกิจเติบโตครอบคลุม ดูแลเรื่องสภาพคล่อง การเข้าถึงสินเชื่อ รวมทั้งรัฐต้องปฏิรูปเศรษฐกิจ แต่ต้องมียุทธศาสตร์ชัดเจน “แต่ไทยเราไม่ได้มีทั้ง 2 อย่าง”

ด้านนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย อดีตรองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ในสถานการณ์แบบนี้ไทยเสียการส่งออกไม่ได้ ดังนั้นนโยบายการเงินและนโยบายอัตราแลกเปลี่ยนที่เอื้อต่อการส่งออกยังคงมีความสำคัญ “ถ้าบาทแข็งหรือแข็งกว่านี้จะยิ่งรับมือยาก”