'เฉลิมชัย' สั่งทุกหน่วย เฝ้าระวังพายุลูกใหม่ 24 ชม.

'เฉลิมชัย' สั่งทุกหน่วย เฝ้าระวังพายุลูกใหม่ 24 ชม.

"เฉลิมชัย" สั่งทุกหน่วยงาน เตรียมพร้อมตลอด 24 ชม.รับพายุลูกใหม่เข้าไทยพรุ่งนี้ หวั่นอุทกภัยซ้ำพื้นที่ภาคอีสาน -เหนือ

เมื่อวันที่ 2 ก.ย.62 นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่าสั่งการทุกหน่วยงานของกระทรวงเกษตรฯเตรียมพร้อมตลอด 24 ชม.โดยเฉพาะกรมชลประทาน ทั้ง 17 สำนักงานชลประทานทั่วประเทศ รับมือพายุดีเปรสชั่นจะเข้าอีกลูกวันที่ 3 ก.ย.นี้ ส่งผลมีฝนตกหนักพื้นที่ภาคอีสานและภาคเหนือ ทั้งนี้ให้เฝ้าระวังเป็นกรณีพิเศษในส่วนพื้นที่ที่ถูกน้ำท่วมจากพายุโพดุล อยู่แล้วจะเกิดอุทกภัยซ้ำได้ จึงสั่งกรมชลประทาน เร่งนำเครื่องมือ เครื่องจักร ออกมาทั้งหมดเพื่อระบายน้ำท่วมให้ไวที่สุด พร้อมเปิดทางน้ำทำทำนบกั้นน้ำ ไม่ให้ท่วมซ้ำพื้นที่ป้องกันบรรเทาความเดือดร้อนชาวบ้านให้ได้เร็วที่สุด โดยทิศทางของพายุลูกใหม่ ตนเห็นแนวพายุใกล้เคียง กับโพดุล เชื่อว่าความเสียหายน้อยกว่า แต่ระวังฝนตกซ้ำที่มีน้ำท่วม ในส่วนตัวเมือง ประสาน กระทรวงมหาดไทย สูบน้ำออกจากตัวชุมชน โดยขณะนี้ให้ระดมเครื่องมือเคลียร์ทางน้ำ เปิดทางน้ำให้ไหลสะดวก เร่งระบายได้เร็วช่วยลดความเสียหายได้

“น้อมนำพระราชกระแสในหลวง ทรงตรัสให้ทุกหน่วยงานดูแลราษฏรให้ดีที่สุดกลับมาใช้ชีวิตปกติได้โดยเร็ว พวกเราน้อมรับมาปฏิบัติอย่างเต็มกำลังความสามารถ ได้เตรียมการเชิงรุกรองรับโดยไม่ได้ประมาท ผมไปตรวจภัยแล้งจ.ขอนแก่น อุดรธานี ได้สั่งการเตรียมพร้อมทั้งแก้ไขปัญหาภัยแล้งและอุกภัยไว้ด้วย ซึ่งเมื่อสัปดาห์ก่อนน้ำยังแห้งมาก ชาวบ้าน เกษตรกร ยังขอให้ช่วยเรื่องน้ำ ขอให้ทำฝนหลวงช่วยพื้นที่เกษตร และได้ไปดูพื้นที่เกาะคำโชนด ซึ่งเป็นแหล่งสร้างรายได้ให้จังหวัด ทางผู้ว่าฯให้กรมชลฯทำระบบประตูน้ำ ควบคุมน้ำได้ ป้องกันน้ำท่วม เกาะคำโชนด ผมยังอษิฐานให้มีน้ำช่วยชาวบ้านเดือดน้อยลง ซึ่งไม่กี่วันสถานการณ์จากแล้งวิกฤติ จนไม่มีน้ำกินใช้ กลับเปลี่ยนผลิกมาท่วมอย่างฉับพลัน ผมสั่งไปทุกหน่วยงานทุกสำนักชลประทาน พื้นที่ที่ยังมีปัญหาอุทกภัย ให้เฝ้าระวังพายุลูกใหม่ กรมชลฯต้องเตรียมพร้อม 24 ชม.ทั้งเครื่องมือ กำลังคน ต้องพร้อม ให้กรมส่งเสริมการเกษตร รีบสำรวจพื้นที่เกษตรได้รับความเสียหายโดยเร็วหลังน้ำลดต้องเข้าสำรวจทันที”นายเฉลิมชัย กล่าว

ทั้งนี้ กรมส่งเสริมเกษตร จะสำรวจความเสียหายพื้นที่เกษตรจากภัยแล้ง หรืออุทกภัย อย่างใดอย่างหนึ่ง โดยจังหวัดประกาศเขตภัยพิบัติ เพราะในพื้นที่แปลงเดียว จะไม่มีการเสียหายสองกรณีซ้ำซ้อนกัน ซึ่งพื้นที่ประกาศเขตภัยแล้ง เช่นจ.ขอนแก่น ได้สำรวจไปแล้วหากเกษตรกรเสียหายสิ้นเชิงเกิน 50% จะได้รับชดเชยรายละไม่เกิน 30 ไร่ อาทิ นาข้าวไร่ละ 1,113 บาท พืชไร่ 1,148 บาท พืชอื่นๆ 1,690 บาท ทั้งนี้เกษตรกร ยังสามารถเข้าโครงการประกันรายได้ ตามฤดูกาลที่ยังมีผลผลิตเหลือจากความเสียหายมาเข้าโครงการได้ ซึ่งจะมีการขึ้นทะเบียนเกษตรกร ไว้ล่วงหน้า จะเป็นตัวควบคุม พื้นที่เกษตร จำนวนเกษตรกร ทำให้การสำรวจเกิดความแม่นยำ เมื่อผู้ว่าราชการ ประกาศเขตภัยพิบัติ พื้นที่ไหนเสียหายอย่างไร เสียบางส่วน หรือเสียหายทั้งหมด ทำให้เร่งสำรวจได้รวดเร็วหลังน้ำลด ตนได้สั่งเป็นคำสั่งให้ทุกพื้นที่เกษตรจังหวัด เกษตรอำเภอ ต้องลงพื้นที่สำรวจความเสียหายจริง ใครโดนภัยแล้ง ถูกตัดออกไป ไม่ใช่รับสองเด้ง เมื่อสำรวจความเสียหายจากภัยแล้งและอุทกภัยจะเสนอของบจาก ครม.มาชดเชยเกษตรกร สำหรับงบ 15,800 ล้าน เป็นงบกลางให้เรื่องแก้ภัยแล้ง ใช้ในการขุดลอกแห่งน้ำ เพิ่มแหล่งกักเก็บน้ำ 76 จังหวัด ที่รองรับอุทกภัยด้วย

info_graphic-0206

ด้านนายสำราญ สาราบรรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า รมว.เกษตรฯกำชับให้ทุกจังหวัด รายงานผลสำรวจให้กรมส่งเสริมการเกษตรทราบทุกวัน นอกจากนี้ยังได้เตรียมการให้ผลิตชีวภัณฑ์ เช่น ไตรโคเดอร์มา เพื่อเตรียมแจกจ่ายช่วยเหลือเกษตรกรหลังน้ำลดทันที หลังน้ำลดสารชีวภัณฑ์จะสามารถช่วยลดผลกระทบจากโรคพืชที่มากับน้ำได้ ด้านมาตรการให้ความช่วยเหลือเกษตรกรผู้ประสบภัยพิบัติ กรมส่งเสริมการเกษตรยึดหลักปฏิบัติตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยเงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ. 2562 โดยมีหลักเกณฑ์ช่วยเหลือเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนเกษตรกรกับกรมส่งเสริมการเกษตรไว้ก่อนเกิดภัย ตามจำนวนพื้นที่จริงที่ได้รับความเสียหาย รายละไม่เกิน 30 ไร่ ได้แก่ ข้าว อัตราไร่ละ 1,113 บาท พืชไร่ อัตราไร่ละ 1,148 บาท และพืชสวนและอื่น ๆ อัตรา ไร่ละ 1,690 บาท ทั้งนี้ เมื่อเกิดภัยพิบัติ และผู้ว่าราชการจังหวัดจะประกาศเขตพื้นที่การให้ความช่วยเหลือฯ เกษตรกรต้องยื่นแบบความจำนงขอรับการช่วยเหลือ (กษ 01) โดยให้ผู้นำท้องถิ่นรับรอง ก่อนจะมีการตรวจสอบทะเบียนเกษตรกร และพื้นที่เสียหายจริง เพื่อพิจารณาให้ความช่วยเหลือตามขั้นตอนต่อไป

ทั้งนี้ ให้เจ้าหน้าที่เกษตรกรลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์สภาพอากาศอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะพื้นที่เสี่ยง ที่อาจจะได้รับผลกระทบ โดยเกษตรกรสามารถขอความช่วยเหลือและคำแนะนำจากเจ้าหน้าที่ กรมส่งเสริมการเกษตรในพื้นที่ได้ ณ สำนักงานเกษตรอำเภอและสำนักงานเกษตรจังหวัดใกล้บ้าน