‘พัฒนาใต้ดิน’ แนวรบใหม่สิงคโปร์

‘พัฒนาใต้ดิน’ แนวรบใหม่สิงคโปร์

ประเทศเล็กๆ อย่างสิงคโปร์มีข้อจำกัดด้านพื้นที่ จึงต้องใช้วิธีถมทะเลและสร้างตึกสูงเพิื่อเพิ่มพื้นที่ในประเทศ แต่ก็ยังไม่พอ รัฐบาลเริ่มมองหาพื้นที่ใหม่รองรับการเติบโต คราวนี้ถึงทีต้องมุดลงไปใต้ดิน

สิงคโปร์ค่อยๆ จัดการกับการเติบโตอย่างรวดเร็ว เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาซ้ำรอยอย่างที่มหานครใหญ่ในเอเชียเคยเจอกันมาแล้วเช่น ปัญหาประชากรหนาแน่นและรถติดมหาศาลแต่ด้วยจำนวนประชากร 5.6 ล้านคนที่คาดว่าจะเติบโตต่อเนื่องในช่วงไม่กี่ปีข้างหน้า ทางการสิงคโปร์เริ่มคิดแล้วว่า จะใช้พื้นที่ใต้ดินของเมืองที่มีขนาดแค่ครึ่งหนึ่งของนครลอสแองเจลิส ให้เกิดประโยชน์มากที่สุดได้อย่างไร

สิงคโปร์ทำทางหลวงและระบบเครื่องปรับอากาศใต้ดินล้ำยุคไปเรียบร้อยแล้ว แต่ตอนนี้กำลังหาทางสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกเพิ่มเติม เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ที่ดินด้านบน

“เราจำเป็นต้องพิจารณาทางเลือกวางโครงสร้างพื้นฐานสำคัญไว้ใต้ดิน เพราะจำเป็นต้องใช้ที่ดินในประเทศทำอุตสาหกรรม การค้า ที่อยู่อาศัย และพื้นที่สีเขียวเพิ่มมากขึ้น”อภินิต กาอูลผู้เชี่ยวชาญการพัฒนาภาครัฐ บริษัทที่ปรึกษาฟรอสต์แอนด์ซัลลิแวนในสิงคโปร์กล่าว

ตามร่างแผนพัฒนาเผยแพร่เมื่อเดือน มี.ค. ทางการต้องการวางสิ่งอำนวยความสะดวก การขนส่ง โรงงานอุตสาหกรรมและคลังสินค้าไว้ใต้ดินเพื่อเปิดพื้นที่บนดิน แต่ยังไม่ถึงขนาดให้บ้านลงมาอยู่ใต้ดินด้วย

องค์การพัฒนาเมืองใหม่ ผู้ร่างและพัฒนาแผน เผยว่า จะใช้เทคโนโลยีสามมิติทำแผนที่ใต้ดินโครงการนำร่อง 3 โครงการ

สิงคโปร์ถือเป็นเมืองล่าสุดที่พยายามใช้ประโยชน์จากพื้นที่ใต้ดิน ก่อนหน้านี้กรุงเฮลซิงกิของฟินแลนด์เคยทำอุโมงค์ ห้างสรรพสินค้า และแม้แต่สระว่ายน้ำใต้ดิน ขณะที่นครมอนทรีออลของแคนาดา มี “อันเดอร์กราวด์ซิตี้” หรือเครือข่ายอุโมงค์เชื่อมโยงจุดสำคัญ

ตามข้อมูลจากรายงานเรื่อง “โลกในอีก 50 ปี” จัดทำโดยซัมซุง คณะผู้เชี่ยวชาญคาดการณ์ว่า จะมีการสร้างตึกระฟ้าใต้ดิน เพื่อประหยัดพื้นที่ในเมืองที่แออัดมาก

เดิมทีสิงคโปร์ขยายเมืองโดยใช้วิธีถมทะเลเป็นหลัก วิธีนี้เพิ่มขนาดประเทศได้กว่า 1 ใน 4 มาอยู่ที่ 720 ตารางกิโลเมตร ส่วนใหญ่ขยายหลังจากเป็นเอกราชในปี 2508แต่การถมทะเลต้องเสียต้นทุนมากขึ้น เนื่องจากต้องถมในระดับน้ำลึกกว่าเดิม พร้อมกันนั้นประเทศที่เคยขายทรายให้กับสิงคโปร์ก็เลิกส่งออกเพราะห่วงปัญหาสิ่งแวดล้อม

กลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมเผยว่า การขุดทรายโดยไร้การควบคุมทำให้ชายหาดและฝั่งแม่น้ำเสียหาย ส่งผลกระทบต่อสัตว์ป่า ทำลายแนวกั้นน้ำท่วมโดยธรรมชาติ อีกทั้งการขุดลอกก้นทะเลอาจทำลายระบบนิเวศ

สำหรับแนวคิดย้ายสาธารณูปโภคลงใต้ดินมีประโยชน์อีกหลายประการนอกเหนือจากประหยัดพื้นที่ เช่น ลดการใช้เครื่องปรับอากาศซึ่งช่วยประหยัดพลังงานให้กับสิงคโปร์ ที่มีสภาพภูมิอากาศร้อนชื้น

แต่การสร้างตึกใต้ดินในสิงคโปร์ก็ยังมีความท้าทาย การก่อสร้างใต้ดินที่มีสภาพแวดล้อมเป็นเมืองทันสมัยไปเรียบร้อยแล้วไม่ใช่เรื่องง่ายๆ อีกทั้งโครงการใหม่ๆ ก็ต้องแข่งกันหาที่ว่างที่มีสาธารณูปโภคใต้ดินรองรับอยู่แล้ว

“การก่อสร้างใต้ดินโดยปกติต้องใช้การระเบิดหิน และถ้าอยู่ในพื้นที่เขตเมือง คุณระเบิดไม่ได้หรอก”ชู เจี้ยนอาจารย์ด้านวิศวกรโยธาและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีนันยาง (เอ็นทียู) กล่าว

หนึ่งในโครงการใต้ดินที่สิงคโปร์ไปไกลที่สุดนับจนถึงวันนี้คือ ระบบสูบน้ำเย็นผ่านท่อไปทำความเย็นให้กับตึกรอบย่านมารีนาเบย์

ฟู หยางกวงหัวหน้าวิศวกรจากแผนกระบบทำความเย็น บริษัทเอสพีกรุ๊ป ผู้ทำโครงการเผยว่า

อาคารเหล่านี้ใช้ระบบปรับอากาศจากส่วนกลาง แทนการใช้เครื่องปรับอากาศของตนเอง ซึ่งช่วยลดการใช้พลังงานได้ราว 40%
ส่งผลให้อาคารลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ปีละ 34,500 ตัน เทียบเท่ากับหยุดนำรถ 10,000 คันมาวิ่งบนถนน

ส่วนโครงสร้างพื้นฐานอื่นๆ ที่สิงคโปร์นำลงไปไว้ใต้ดินแล้ว เช่น ทางด่วนยาวที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ 12 กิโลเมตร รถไฟใต้ดิน คลังสรรพาวุธ และถ้ำหินใต้ทะเลสำหรับเก็บน้ำมัน

ชู กล่าวเสริมว่า เอ็นทียู หนึ่งในมหาวิทยาลัยชั้นนำของประเทศกำลังพิจารณาสร้างห้องทดลองและห้องเรียนใต้ดิน แต่การย้ายสิ่งต่างๆ ลงใต้ดินเป็นแค่หนึ่งหนทางในการแก้ปัญหาการเติบโตของสิงคโปร์เท่านั้น

“ใต้ดินคือพรมแดนใหม่ แต่ไม่ใช่พรมแดนสุดท้าย ผมมั่นใจว่าเราจะสามารถหาวิธีอื่นๆ เพื่อสร้างพื้นที่ใหม่ได้”