17 ปี 'พส.' ขอสร้างสังคมไทยยั่งยืน

17 ปี 'พส.' ขอสร้างสังคมไทยยั่งยืน

"อธ.กรมพัฒนาสวัสดิการ" ชวน ปชช.เป็น "วิศวกรทางสังคม" ร่วมออกแบบซ่อม-สร้างสรรค์สังคม ยกภาครัฐ-เอกชน-ประชาสังคม เป็นเจ้าของสังคมร่วมกัน

เมื่อวันที่ 1 ก.ย.62 ที่ห้องประชุม ชั้น 2 กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) สะพานขาว เมื่อช่วง 07.30 น. ที่ผ่านมา นางนภา เศรษฐกร อธิบดีกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ เป็นประธานในพิธีเปิดงาน “17 ปี มิติใหม่แห่งการพัฒนาสังคมไทยอย่างยั่งยืน” ซึ่งวันที่ 1 ก.ย. ของทุกปี เป็นวันสถาปนากรมประชาสงเคราะห์ ปัจจุบัน "กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ" หรือ พส. ซึ่งเป็น 1 ใน 6 กรม สังกัดกระทรวง พม. โดยมี น.ต.สุธรรม ระหงษ์ เลขานุการของนายจุติ ไกรฤกษ์ รมว.กระทรวง พม. พร้อมด้วยคณะผู้บริหารกระทรวง พม. , ข้าราชการ , เจ้าหน้าที่ เข้าร่วมพิธี ซึ่งช่วงเช้าในเวลา 07.30 - 09.30 น. เป็นกิจกรรมพิธีสงฆ์ สักการะพระภูมิเจ้าที่ พิธีบวงสรวงสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ปกปักษ์รักษาลูกพระประชาบดี และภายหลังเสร็จสิ้นพิธีสงฆ์และการบวงสรวง ในเวลา 09.45 น.

นางนภา อธิบดีกรมพัฒนาสังคมฯ หรือ พส. ได้เป็นประธานมอบรางวัล "คนดี ศรีพส. ประจำปี 2562" จำนวน 3 รางวัล ให้กับข้าราชการ , พนักงานราชการ และลูกจ้างประจำ ที่กำหนดส่วนละ 1 คน ซึ่งปีนี้เป็นครั้งแรกในการมอบรางวัลเชิดชูเกียรติดังกล่าว ซึ่งเป็นผู้มีคุณธรรมจริยธรรมและความซื่อสัตย์สุจริตจนเป็นที่ประจักษ์

นอกจากนี้ ยังมีการมอบโล่เกียรติคุณ และใบประกาศเกียรติคุณ ให้ข้าราชการและลูกจ้างประจำดีเด่น ประจำปี 2561 ด้วยอีก 10 รางวัล ประกอบด้วยส่วนของข้าราชการประเภทอำนวยการระดับต้น , ข้าราชการประเภทวิชาการระดับชำนาญการและระดับชำนาญการพิเศษ , ข้าราชการประเภททั่วไประดับชำนาญงาน และลูกจ้างประจำ ซึ่งเป็นผู้ที่ปฏิบัติหน้าที่ราชการด้วยความวิริยะอุตสาหะด้วยผลงานเป็นที่ประจักษ์และเกิดประโยชน์ต่อองค์กรและกลุ่มเป้าหมาย พร้อมกันนี้ยังมอบโล่และใบประกาศเกียรติคุณ ให้แก่ผู้แทนองค์การสวัสดิการสังคมที่ผ่านการรับรองมาตรฐานการปฏิบัติงานด้านการจัดสวัสดิการสังคม จำนวน 7 องค์กร และมอบเข็ม-ใบรับรองมาตรฐาน แก่นักสังคมสงเคราะห์ที่ผ่านการประเมินมาตรฐานการปฏิบัติงานด้านการจัดสวัสดิการสังคม จำนวน 53 คน โดยการมอบรางวัล และโล่เกียรติคุณพร้อมใบประกาศเกียรติคุณนั้น เพื่อยกย่องเชิดชูเกียรติ สร้างขวัญกำลังใจแก่ข้าราชการ , เจ้าหน้าที่ , ภาคีเครือข่ายด้านการจัดสวัสดิการสังคมและสังคมสงเคราะห์ นอกจากนี้ยังมีการมอบทุนการศึกษามูลนิธิลูกประชาสงเคราะห์ ประจำปี 2562 ให้แก่บุตรของเจ้าหน้าที่ พม. ด้วยอีก 124 ทุน

ทั้งนี้ นางนภา อธิบดี พส. กล่าวว่า วันที่ 1 ก.ย.ของทุกปี เป็นวันสถาปนากรมประชาสงเคราะห์ ซึ่งปัจจุบัน คือ กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ มีการขับเคลื่อนภารกิจด้านสวัสดิการสังคมเป็นระยะเวลากว่า 17 ปี โดยมุ่งมั่นในการพัฒนาสังคมและจัดสวัสดิการสังคมแก่ผู้ประสบปัญหาทางสังคม คนไร้ที่พึ่ง ผู้ทำการขอทาน สมาชิกนิคมสร้างตนเอง ราษฎรบนพื้นที่สูง และกลุ่มเป้าหมายพิเศษ โดยการมอบรางวัลต่างๆ และทุนการศึกษาก็ด้วยคุณงามความดี ซึ่งแรงจูงใจตรงนี้ก็คิดว่าผู้ที่ทำความดีทั้งหมด รวมทั้งน้องๆ ที่ได้รับทุนก็จะเป็นแม่แบบที่ดีอันเป็นตัวอย่างที่ดีสำหรับบุคลากรของกระทรวง พม.ต่อไป ส่วนในเรื่องของ 17 ปีมิติใหม่ เราก็มองว่าถ้าเทียบเป็นอายุของคนเราจะเป็นวัยที่มีพลังมากที่สุด ซึ่งเราได้เดินทางมาจนถึงวันนี้ก็ได้คิดสร้างสิ่งที่เป็นประโยชน์และงานที่มีผลต่อประชาชนทั่วไปได้อย่างยั่งยืน โดยสิ่งสำคัญช่วงที่ผ่านมาเราได้เน้นความยั่งยืน ซึ่งกิจกรรมและสวัสดิการต่างๆ ที่จัดก็ไม่ได้เป็นการให้เปล่าแต่เพื่อจะให้มีการพัฒนาตนเอง และเพื่อให้เป็นบุคคลที่จะร่วมพัฒนาบุคคลอื่นได้อีกต่อไป

ขณะที่เราก็พยายามสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ด้วยการขับเคลื่อนองค์ความรู้ นวัตกรรมการพัฒนาสังคมและสวัสดิการ เช่นความเข้มแข็งของสวัสดิการProductive Welfare สวัสดิการเพื่อการพัฒนาและพึ่งตนเองอย่างยั่งยืน , Family Data เปิดประตูเยี่ยมบ้านสร้างสะพาน สู่สวัสดิการสังคม และการสร้างความร่วมมือภาคเอกชนและภาคประชาชน เช่น การจัดตั้งศูนย์ส่งเสริมความรับผิดชอบต่อสังคมของภาคธุรกิจ (CSR) การขับเคลื่อนกิจการเพื่อสังคม (SE) การขับเคลื่อนงาน อพม. และการสร้างจิตอาสาแก่ประชาชน เพื่อให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมกัน “เหลียวหลังแลหน้า สร้างสรรค์คุณภาพชีวิต และความมั่นคงอย่างยั่งยืน”

นางนภา อธิบดี พส. กล่าวอีกว่า สำหรับปี 2562 ขอเชิญชวนทุกท่านร่วมเป็นจิตอาสาพัฒนาสังคม เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการก้าวย่างสู่ “17 ปี มิติใหม่ แห่งการพัฒนาสังคมไทยอย่างยั่งยืน” เนื่องจากกระทรวง พม. ไม่อาจสร้างสังคมคุณภาพได้โดยลำพัง จำเป็นต้องอาศัยการมีส่วนร่วมจากภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐ , เอกชน และประชาสังคม รวมทั้งประชาชน โดยการเป็นเจ้าของสังคมร่วมกันและเป็น “วิศวกรทางสังคม” เพื่อร่วมกันออกแบบซ่อมและสร้างสรรค์สังคมที่เปรียบเสมือนบ้านให้มีความน่าอยู่และเข้มแข็งอย่างยั่งยืน เพื่อคลอบคลุมประชาชนทุกคนทุกกลุ่มเป้าหมายต่อไป

อย่างไรก็ดี ในอนาคตเราก็จะพัฒนาและสร้่งาสรรค์นวัตกรรมใหม่เพิ่มขึ้นอีกอย่างแน่นอน