วางแนวทางแก้รธน. '30เครือข่ายปชช.' จัดเสวนาโต๊ะกลม

วางแนวทางแก้รธน. '30เครือข่ายปชช.' จัดเสวนาโต๊ะกลม

ผ่านสร้างพลังร่วมของปชช.-กดดันสภาฯ "สมชัย" เชื่อมีการเลือกตั้งใหม่ ก่อนแก้รธน.สำเร็จ เหตุสถานการณ์ไร้เสถียรภาพ ด้าน "พนัส" เชื่อกมธ.ของฝ่ายค้านจะกดดันให้ส.ว.เห็นร่วมแก้รธน.

คณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) ร่วมกับเครือข่ายภาคประชาชน 30 องค์กร อาทิ กลุ่มคนอยากเลือกตั้ง, กลุ่ม 24 มิถุนาประชาธิปไตย, กลุ่มสังคมนิยมประชาธิปไตย, คณะกรรมการรณรงค์แก้ไขรธน.60 ภาคประชาชน, สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน (สสส.), องค์กรกลางเพื่อประชาธิปไตย (พีเน็ต), ขบวนผู้หญิงปฏิรูปประเทศไทย, เครือข่ายประชาชนปฏิรูปตำรวจ ร่วมจัดเสวนาโต๊ะกลมเพื่อหาแนวร่วมและแนวทางขับเคลื่อนต่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560

โดยนายสมชัย ศรีสุทธิยากร อดีตกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กล่าวว่า รัฐธรรมนูญไม่เป็นประชาธิปไตย ออกแบบเพื่อให้กลุ่มของตนเองได้เปรียบต่อการจัดตั้งรัฐบาล ทั้งการออกแบบบัตรเลือกตั้งใบเดียว, การคำนวณคะแนนส.ส.บัญชีรายช่ือ, ออกแบบให้สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) มีสิทธิร่วมลงคะแนนเลือกนายกรัฐมนตรี ซึ่งตนมองว่าการออกแบบดังกล่าวไม่ได้ให้ความสนใจว่าฝ่ายบริหารจะมีประสิทธิภาพในการแก้ปัญหาบ้านเมืองหรือปัญหาประชาชน ดังนั้นตนมองว่าหากรัฐธรรมนูญไม่สามารถแก้ไขให้เป็นประชาธิปไตย ปัญหาของประชาชนจะไม่สามารถแก้ไขได้ ส่วนกลไกของการแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้นกำหนดนั้นเป็นไปได้ยาก และหากปล่อยให้เป็นเรื่องของสภาผู้แทนราษฎรจะไม่สำเร็จ โดยส่วนตัวมองว่าแนวทางแก้รัฐธรรมนูญที่สำเร็จ คือ บอกให้ประชาชนรับรู้ว่าประเด็นไหนของรัฐธรรมนูญมีปัญหา , สร้างการริเริ่มจากประชาชน เช่น รวมชื่อ 50,000 รายชื่อเพื่อยื่นขอแก้ไขเป็นญัตติเสนอต่อสภาผู้แทนราษฎร, ประสานทุกเครือข่ายที่เห็นปัญหารัฐธรรมนูญร่วมกัน โดยไม่แยกฝ่ายหรือแบ่งเป็นกลุ่มที่มีความคิดเห็นทางการเมืองแตกต่างกัน ทั้งนี้เพื่อสร้างกระแสการแก้ไขด้วยกระบวนการประชาชาติ

“การแก้ไขรัฐธรรมนูญในเชิงกลยุทธ์ต้องทำให้ต่อเนื่องไม่ว่าสภาฯ จะถูกยุบ หรือมีการเลือกตั้งใหม่หากแก้ไขก่อนการเลือกตั้งจะดี เพื่อให้การเลือกตั้งอยู่ภายใต้กติกาใหม่ไม่เป็นปัญหา แต่ผมเชื่อว่าไม่ง่าย เพราะเชื่อว่าการเลือกตั้งจะเกิดขึ้นเร็วภายใต้สถานการณ์ความมีเสถียรภาพปัจจุบัน อีกทั้งหากจะให้เกิดการแก้ไขรัฐธรรมนูญจะใช้เวลานาน ไม่ต่ำกว่า 6 เดือน เพราะอาจมีกระบวนการร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ และ กระบวนการร่างกฎหมายลูกเพื่อใช้ในการเลือกตั้ง และการลงประชามติ เป็นต้น ” นายสมชัย กล่าว

ทางด้านนายพนัศ ทัศนียานนท์ กลุ่มส.ส.ร.40 กล่าวว่าเงื่อนไขของการกแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 ต้องรณรงค์ให้ประชาชนเห็นด้วย โดยเฉพาะประเด็นที่รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 ประชาชนส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วย แม้จะผ่านการทำประชามติรับรัฐธรรมนูญ ทั้งนี้เงื่อนไขที่ต้องทำให้ประชาชนจำนวนมากเห็นด้วยเพื่อสร้างแรงกดดันให้ส.ว. เกินกว่า 84 คนเห็นด้วยและเข้ามามีส่วนร่วมต่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยไม่เห็นแก่ประโยชน์ส่วนตัวที่รัฐธรรรมนูญออกแบบไว้

“ผมว่า 7 พรรคร่วมฝ่ายค้านมีกลไกที่จะขับเคลื่อน คือ ตั้งกรรมาธิการในสภาผู้แทนราษฎร และให้รัฐบาลประกาศนโยบายเร่งด่วนศึกษาการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งการมีกรรมาธิการฯ ในสภา จะเป็นส่วนกระตุ้นให้รัฐบาลปฏิบัติตามนโยบายของตนเองโดยเร็วที่สุด ส่วนส.ว. ที่ต้องให้การยอมรับ กระแสผ่านสภาฯ จะช่วยได้ อย่างไรก็ตามนโยบายแก้ไขรัฐธรรมนูญ ผมเชื่อว่าเป็นประเด็นที่พรรคประชาธิปัตย์สร้างเป็นเงื่อนไขต่อการเข้าร่วมรัฐบาล หากรัฐบาลมีข้ออ้างทำให้เรื่องนี้ล่าช้าอาจมีปัญหา โดยภาคประชาชนต้องสร้างแรงกระตุ้นผ่านพรรคประชาธิปัตย์ด้วย” นายพนัศ กล่าว

ขณะที่นายสมชาย หอมลออ ที่ปรึกษา ครป. กล่าวว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญที่มีเงื่อนไขให้ส.ว. จำนวนไม่น้อยกว่า 84 เสียงเห็นชอบด้วยถือเป็นเรื่องยาก แต่ข้อเรียกร้องให้แก้ไขรัฐธรรมนูญหลังการเลือกตั้งมีเพิ่มมากขึ้นโดยหลายพรรคการเมือง ทั้งพรรคฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาล มีความเห็นร่วมกันที่ต้องแก้ไข ส่วนจะแก้ไขให้ประสบความสำเร็จคือ ต้องได้รับการสนับสนุนและผลักดันจากประชาชน เพื่อให้ผู้มีอำนาจตามกฎหมาย คือ ส.ส. และส.ว. ผ่านญัตติแก้ไขวาระหนึ่ง วาระสอง และวาระสามให้ได้ โดยไม่ต้องใช้วิกฤตการเมือง หรือการยึดอำนาจ

“ผมมองว่ามีความจำเป็นต้องมีพิมพ์เขียวรัฐธรรมนูญที่อยากจะได้ เป็นบทสังเคราะห์ที่มาจากการเรียกร้องต้องการของทุกภาคส่วน เพื่อสร้างพลังขับเคลื่อน แม้ว่าจะไม่ใช่เรื่องง่าย แต่หากได้รับความร่วมมือจากทุกองค์กรเครือข่ายผ่านการกำหนดประเด็นขับเคลื่อนที่ประสานงานกัน จะทำให้ความเป็นไปได้เร็วขึ้นภายใต้สถานการณ์เศรษฐกิจถดถอยและเสถียรภาพที่ไม่มั่นคง ผมมองว่าจึงมีความเป็นไปได้ที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญ” นายสมชาย กล่าว

ส่วนน.ส.ณัฏฐา มหัทธนา หรือ โบว์ กลุ่มคนอยากเลือกตั้ง กล่าวว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ผ่านกระบวนการเข้าชื่อของประชาชน 50,000 รายชื่อ ควรใช้กระบวนการออนไลน์เพื่อให้เข้าชื่อ ทั้งนี้เพื่อให้เกิดพลังในการขับเคลื่อนแม้ไม่สามารถหวังผลความสำเร็จภายใต้กลไกดังกล่าว ทั้งนี้ตนเชื่อว่าเสียงของสภาผู้แทนราษฎร เกินครึ่งจะสนับสนุนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพราะพรรคประชาธิปัตย์ และพรรคภูมิใจไทยเคยแสดงจุดยืนจะร่วมแก้ไขรัฐธรรมนูญ ดังนั้นกลไกที่ขับเคลื่อนผ่านสภาฯ ตนมองว่าต้องอาศัยการล็อบบี้ส.ว. ที่จะสนับสนุนการแก้ไขได้วย และเปลี่ยนชื่อ คณะทำงานเป็น คณะกรรมการรณรงค์เพื่อรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน เพื่อสร้างความรู้สึกร่วมในเชิงบวกกับประชาชนเพื่อสร้างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน ที่มีกลไกมาจากสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ที่ประชาชนร่วมออกแบบ ทั้งนี้เพื่อลดการโต้แย้งจากกลุ่มคนที่ไม่เห็นด้วย

ขณะที่นายสมยศ พฤกษาเกษมสุข กลุ่ม 24 มิถุนาประชาธิปไตย กล่าวว่าประเด็นที่ต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญอันดับแรก คือ การไม่สามารถบังคับใช้รัฐธรรมนูญได้ ผ่านกรณีที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ไม่ได้กล่าวในประเด็นการปฏิบัติใช้รัฐธรรมนูญและกฎหมาย ระหว่างการถวายสัตย์ปฏิญาณตนก่อนปฏิบัติหน้าที่ ทั้งนี้กระบวนการประชามติรับร่างรัฐะรรมนูญ พบว่า มีจำนวน 90 เปอร์เซ็นต์ ที่ไม่อ่านเนื้อหาทั้งหมด ซึ่งตนเชื่อว่าเป็นเพราะการลงมติให้ผ่านเพราะลำคาญพล.อ.ประยุทธ์ อย่างไรก็ตามประเด็นที่ควรแก้ไขรัฐธรรมนูญควรวางประเด็นต่อการแก้ปัญหาระยะยาวไว้ด้วย