DITP จัดทัพผู้ประกอบการ T Mark ลุยเจรจาธุรกิจและทดสอบตลาด

DITP จัดทัพผู้ประกอบการ T Mark ลุยเจรจาธุรกิจและทดสอบตลาด

DITP จัดทัพผู้ประกอบการ T Mark ลุยเจรจาธุรกิจและทดสอบตลาด หวังขยายตลาดสินค้าไทย-จีนขึ้นแท่นอันดับหนึ่งของไทย

กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ นำคณะผู้ประกอบการไทยกว่า 18 บริษัท เยือนนครกว่างโจว สาธารณรัฐประชาชนจีน ระหว่างวันที่ 20-26 สิงหาคม 2562 เพื่อร่วมกิจกรรม Business Matching ในวันที่ 21 สิงหาคม 2562 ณ โรงแรม The Garden Guangzhou และเข้าร่วมเจรจาการค้าภายในงานแสดงสินค้า Guangdong 21th Century Maritime Silk Road International Expo 2019 ระหว่างวันที่ 23-26 สิงหาคม 2562 ณ อาคารแสดงสินค้า China Import And Export Fair Complex นครกว่างโจว สาธารณรัฐประชาชนจีน เพื่อสร้างการรับรู้และสร้างการยอมรับสินค้าไทยคุณภาพที่ได้รับตราสัญลักษณ์ Thailand Trust Mark หรือ T Mark ในกลุ่มผู้ซื้อผู้นำเข้ารวมทั้งผู้บริโภคชาวจีน พร้อมผลักดันอย่างต่อเนื่องเพื่อสร้างโอกาสการเข้าถึงตลาดจีนให้แก่ผู้ประกอบไทย โดยได้รับเกียรติจากนางครองขนิษฐ รักษ์เจริญ กงสุลใหญ่ นครกว่างโจว เป็นประธานในพิธีเปิดงาน Business Matching และนางสาวศุภรา เสกาจารย์ ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครกว่างโจว ร่วมในพิธี กิจกรรมดังกล่าวดำเนินงานโดยสำนักส่งเสริมนวัตกรรมและสร้างมูลค่าเพิ่มเพื่อการค้า ร่วมกับสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครกว่างโจว โดยเป็นการดำเนินงานตามยุทธศาสตร์ชาติในด้านการสร้างโอกาสการเข้าถึงตลาดที่มีศักยภาพแก่ผู้ประกอบการไทย รวมทั้งการส่งเสริมและประชาสัมพันธ์ข้อมูลตราสัญลักษณ์ T Mark ให้เข้าถึงผู้ซื้อผู้นำเข้าและผู้บริโภคชาวจีน

น.ส.ศุภรา เสกาจารย์ ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครกว่างโจว สาธารณรัฐประชาชนจีน เปิดเผยว่า กิจกรรมครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อประชาสัมพันธ์สินค้าที่ได้รับตราสัญลักษณ์ T Mark ซึ่งเริ่มเป็นที่รู้จักในตลาดจีนและผู้บริโภคชาวจีนมีความเชื่อมั่นในแบรนด์ไทยมากขึ้น โดยกรมฯ มีการประชาสัมพันธ์ตราสัญลักษณ์ T Mark มาอย่างต่อเนื่อง แต่การที่ผู้ประกอบการไทยได้ตราสัญลักษณ์ T Mark ซึ่งรับรองโดยรัฐบาลไทยจะเป็นการสร้างความมั่นใจในตัวสินค้าให้กับผู้บริโภคซึ่ง T Mark จะเป็นตราที่ช่วยส่งเสริมให้สินค้าไทยเป็นที่รู้จักในตลาดโลกได้ง่ายขึ้น

สำหรับตลาดจีนซึ่งเป็นตลาดขนาดใหญ่ มูลค่าการค้าร่วมกันระหว่างไทย-จีนปีที่ผ่านมา มีมูลค่าประมาณ 8.8 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ และตั้งเป้าเพิ่มมูลค่าการค้าร่วมกันในปี 2564 เป็น 1.4 แสนล้านเหรียญสหรัฐ โดย 1 ใน 3 ของมูลค่าการค้าไทย-จีน จะผ่านมณฑลกวางตุ้ง ซึ่งเป็นมณฑลที่มีจีดีพีสูงที่สุดในจีนติดต่อกันถึง 30 ปี สินค้าไทย ยังมีโอกาสเติบโตได้ในตลาดจีน และผู้บริโภคชาวจีนได้ให้ความสำคัญกับตราสัญลักษณ์ T Mark มากขึ้น เนื่องจากในช่วง 3 ปีที่ผ่านมากรมฯ ได้ประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ในทุกช่องทางทั้งออนไลน์และออฟไลน์ ทำให้ผู้บริโภคชาวจีนซึ่งมีความชื่นชอบสินค้าไทยอยู่แล้วมองหาสินค้าที่มีตราสัญลักษณ์ T Mark เพราะมีความเชื่อมั่นในตราสัญลักษณ์นี้

“ที่ผ่านมา DITP ได้ประชาสัมพันธ์ผ่านทางออนไลน์ ว่า T Mark คืออะไร ผ่านคลิปวิดีโอสั้นๆ เป็นภาษาจีนเพื่อให้คนจีนรู้จักในช่องทางทางผู้มีอิทธิพลทางความคิดของจีน (Key Opinion Leader:KOL) และโซเซียลมีเดียต่างๆ เพื่อสร้างการรับรู้ว่าถ้ามองเห็นตราสัญลักษณ์นี้ถือเป็นการรับรองคุณภาพสินค้าจากประเทศไทย จากกิจกรรมในครั้งนี้กรมฯเห็นว่าผู้ประกอบการจีนมีความสนใจในสินค้าที่ได้รับตราสัญลักษณ์ T Mark เป็นอย่างมาก เนื่องจากมีผู้ซื้อผู้นำเข้าจากประเทศจีนสนใจเข้าร่วมกิจกรรมในครั้งนี้กว่า 100 บริษัท ดังนั้น ผู้ประกอบการไทยท่านใดที่สนใจสมัครขอรับตราสัญลักษณ์ T Mark อย่ารอช้าตลาดรอท่านอยู่ โดยเฉพาะตลาดจีน”

นางสาวศุภรา กล่าวด้วยว่าการที่จะได้การรับตราสัญลักษณ์ T Mark นอกจากสินค้าต้องมีคุณภาพแล้ว ยังมีการตรวจสอบมาตรฐานในหลายมิติ ทั้งมาตรฐาน อย. หากเป็นสินค้าอุตสาหกรรมก็ต้องได้มาตรฐาน มอก. โรงงานผลิตเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และใช้แรงงานอย่างถูกกฎหมาย ซึ่งนอกจากสินค้าดีมีคุณภาพไม่ทำลายสิ่งแวดล้อมแล้ว บริษัทยังต้องมีความรับผิดชอบต่อสังคมด้วย โดยปัจจุบันมีผู้ประกอบการไทยที่ได้รับตราสัญลักษณ์ T Mark ไปแล้วกว่า 800 ราย

นายอุฬาร อภิธูปากร ผู้อำนวยการ บริษัท เพ็นต้า อิมเพ็กซ์ จำกัด ผู้ประกอบการธุรกิจอาหารที่ได้รับตราสัญลักษณ์ T mark ในสินค้าเครื่องต้มยำ และซอสมะม่วง แบรนด์ ThaiBoy กล่าวว่า ในอุตสาหกรรมอาหารนั้น สิ่งสำคัญลำดับแรก คือ เรื่องความปลอดภัยและคุณภาพ โดยในยุคปัจจุบันนอกจากคุณภาพและความปลอดภัยของสินค้าแล้ว ผู้บริโภคยังให้ความสำคัญต่อสิ่งแวดล้อม รวมถึงประเด็นของการใช้แรงงานและความรับผิดชอบต่อสังคมด้วย ตราสัญลักษณ์ T Mark สามารถตอบโจทย์เหล่านี้ได้ เพราะเป็นตราที่ให้ความสำคัญและครอบคลุมในทุกมิติที่กล่าวมาและเป็นตราสัญลักษณ์ที่รับรองคุณภาพมาตรฐานสินค้าโดยรัฐบาลไทย ที่สร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภค และช่วยให้ขยายตลาดได้ง่ายขึ้น สำหรับผู้ประกอบการไทยที่สนใจตลาดจีน การเข้าร่วมกิจกรรมกับภาครัฐ หรือศูนย์สร้างโอกาสทางธุรกิจไทยสู่จีน ซึ่งมีข้อมูลและมีความเชี่ยวชาญจะทำให้มีโอกาสมากกว่าที่ผู้ประกอบการจะลุยตลาดเอง ท่านสามารถนำข้อมูลเหล่านี้ไปต่อยอดและคิดกลยุทธ์ที่เหมาะสมกับผลิตภัณฑ์ของท่านต่อไป นอกจากนี้การเข้าร่วมงานแสดงสินค้าระดับนานาชาติ และการที่ผู้ประกอบการไทยจับมือรวมกลุ่มกันมาสื่อให้เห็นถึงภาพลักษณ์ที่ดีและมีอำนาจในการเจรจาต่อรองมากกว่ามาแบบบริษัทเดียว

นายยงค์กิจ ธรรมพัฒนาภรณ์ กรรมการบริหาร ศูนย์สร้างโอกาสธุรกิจไทยสู่จีน (Thailand Smart Trade Center : TSTC ) กล่าวว่า TSTC มีหน้าที่อำนวยความสะดวกให้กับผู้ประกอบการในองค์ความรู้ด้านต่างๆ เช่นข้อมูลด้านการตลาด ช่องทางการขาย และการอบรมให้ความรู้ในการเข้าตลาดจีนว่าผู้ประกอบการจะต้องเตรียมตัวอย่างไรบ้าง ความรู้ด้านกฎระเบียบข้อบังคับ ความช่วยเหลือจากภาครัฐ การออกบูธงานแสดงสินค้า การจัดกิจกรรมจับคู่ทางธุรกิจ โดยศูนย์ TSTC ได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐทั้งไทยและจีน สำหรับ TSTC มีความร่วมมือกับกระทรวงพาณิชย์ในลักษณะของการให้ความรู้กับผู้ประกอบการไทยที่สนใจไปตลาดจีน และยังเป็นศูนย์กระจายสินค้าไทยในจีนอีกด้วย โดยทางศูนย์ TSTC ให้ความสำคัญกับตราสัญลักษณ์ T Mark เป็นพิเศษ เนื่องจากแนวโน้มในปัจจุบันผู้บริโภคจีนหาสินค้าคุณภาพจากไทย และ T Mark ก็เป็นอีกหนึ่งตราสัญลักษณ์ที่สำคัญต่อผู้ประกอบการไทยที่จะเข้าตลาดจีนเพราะเป็นการรับรองคุณภาพมาตรฐานสินค้าโดยรัฐบาลไทย นอกจากนี้การเข้าสู่ตลาดจีนผู้ประกอบการต้องเตรียมความพร้อมที่จะฝ่าฟันอุปสรรคในทุกๆด้าน ที่สำคัญคือต้องมีพาร์ทเนอร์ที่พร้อมจะบุกตลาดไปด้วยกัน โดยสินค้าต้องมีจุดเด่นที่สามารถแข่งขันในตลาดได้ เนื่องจากต้องแข่งขันกับสินค้าจากทั่วโลกที่เข้าไปค้าขายกับจีนเช่นกัน

สำหรับผู้ประกอบการไทยที่สนใจจะสมัครขอรับตราสัญลักษณ์ T Mark สามารถเข้าไปดูรายละเอียดได้ที่เว็บไซต์ของกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ www.ditp.go.th และ www.thailandtrustmark.com