'อีอีซีไอ' ดันอุตฯการแพทย์ ม.มหิดลหนุนวิจัยตั้งศูนย์หุ่นยนต์

'อีอีซีไอ' ดันอุตฯการแพทย์ ม.มหิดลหนุนวิจัยตั้งศูนย์หุ่นยนต์

จับมือดันแผนแม่บทอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ ผลิตนวัตกรรมที่เหมาะสมกับคนไทยและเอเชีย รับสังคมผู้สูงอายุ พร้อมตั้งศูนย์ทดสอบเครื่องมืออุปกรณ์การแพทย์ ศูนย์หุ่นยนต์การแพทย์ระดับสูง นำผลวิจัยต่อยอดเป็นสินค้าเชิงพาณิชย์

นายเจนกฤษณ์ คณาธารณา รองผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และผู้อำนวยการเขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EECi) เปิดเผยว่า อุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์เป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมเป้าหมายที่รัฐบาลมุ่งส่งเสริม เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิต รองรับสังคมสูงวัยที่กำลังมาถึง และสร้างมูลค่าเพิ่มแก่ประเทศ เนื่องจากเป็นตลาดที่มีศักยภาพกว้างไกล มูลค่า Health Tech ในตลาดโลกปี 2563 คาดว่าจะสูงถึง 2 แสนล้านดอลลาร์ 

ขณะที่ไทยมีมูลค่าส่งออกและนำเข้าปีละ 1.6 แสนล้านบาท ตลอดจนธุรกิจ HealthCare ในไทยสำหรับชาวต่างชาติ มีมูลค่า 1 แสนล้านบาท

'อีอีซีไอ' ดันอุตฯการแพทย์ ม.มหิดลหนุนวิจัยตั้งศูนย์หุ่นยนต์

ดังนั้น สวทช.จึงได้ลงนามความร่วมมือบันทึกข้อตกลงการพัฒนาและขับเคลื่อนแผนแม่บท EECi ด้านอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ในประเทศไทย เนื่องจากเห็นว่ามหาวิทยาลัยมหิดล มีศักยภาพความเชี่ยวชาญและความพร้อมที่จะเป็นผู้นำหลักเสริมทัพความแข็งแกร่งของเครือข่ายอุตสาหกรรมและซัพพลายเชน Health Tech และ HealthCare ไทยให้เติบโตก้าวหน้าและยั่งยืน ร่วมเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาคนและสตาร์ทอัพในสายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการแพทย์และสุขภาพ การวิจัยและนวัตกรรมใหม่

“ไทยจะเป็นประเทศแรกที่จะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุที่ยังเป็นประเทศกำลังพัฒนา หรือเรียกว่าแก่ก่อนรวย โดยคาดว่าในปี 2564 ประชากรไทย 1 ใน 5 จะเป็นผู้ที่มีอายุเกิน 60 ปี และในปี 2583 จะมีประชากรถึง 1 ใน 3 เป็นผู้สูงอายุ ดังนั้นจึงต้องเร่งวิจัยพัฒนาสร้างนวัตกรรมทางการแพทย์ใหม่ที่เหมาะสมกับคนไทย และมีราคาที่ไม่แพง เพื่อรองรับประชากรไทยส่วนนี้"

ทั้งนี้ ความร่วมมือระหว่าง EECi กับมหาวิทยาลัยมหิดลจะเข้ามาช่วยสร้างนวัตกรรมการแพทย์เหล่านี้ เพื่อรองรับความต้องการของคนไทยในอนาคต และยังเป็นอุตสาหกรรมใหม่ที่จะสร้างรายได้เข้าประเทศได้เป็นจำนวนมาก

หนุนศูนย์กลางการแพทย์

นพ.บรรจง มไหสวริยะ อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า มหาวิทยาลัยมหิดลมีเป้าหมายมุ่งสู่การเป็น World-Class University ส่งเสริมการศึกษายุคใหม่ด้วยทักษะแห่งศตวรรษที่ 21 เตรียมความพร้อมของคนรุ่นใหม่และบุคคลากรในอุตสาหกรรมการแพทย์-สุขภาพ สู่สังคมฐานนวัตกรรม โดยทำงานร่วมกับคณะแพทยศาสตร์หลายแห่งและเครือข่ายอุตสาหกรรมอย่างใกล้ชิดตามยุทธศาสตร์การพัฒนาไทยแลนด์ 4.0 

สำหรับความร่วมมือระหว่าง EECi กับมหาวิทยาลัยมหิดล จะเป็นพลังสำคัญในการร่วมพัฒนาอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ในประเทศไทย ซึ่งมีเป้าหมายที่จะก้าวเป็นเมดิคัลฮับ มุ่งให้เกิดประโยชน์ต่อการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ

ทำโรดแมพพัฒนา10ปี

โดยขอบเขตข้อตกลงการดำเนินงานทั้ง 2 ฝ่าย จะทำโรดแมพของ EECi เพื่อสนับสนุนการพัฒนาอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ในไทยช่วง 10 ปี คาดว่าจะเสร็จภายใน 6-8 เดือน ที่ครอบคลุมรูปแบบการพัฒนาความสามารถทางเทคโนโลยี การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน การพัฒนากำลังคนทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพ ทั้งของ EECi และที่เกี่ยวเนื่อง 

ทั้งนี้ จะสนับสนุนการพัฒนาด้วยการเชื่อมโยงผู้ผลิตนวัตกรรมและผู้ใช้นวัตกรรมทั้งในและข้ามห่วงโซ่อุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ ทั้งจากภายในประเทศไทยและต่างประเทศ โดยจัดกิจกรรมเชื่อมต่อและสร้างกลไกกระตุ้นให้เกิดการพัฒนาและนำเทคโนโลยีสู่การใช้ประโยชน์ ตลอดจนขยายผลต่อยอดไปสู่การผลิตเชิงพาณิชย์

“มหาวิทยาลัยมหิดลมีความพร้อมสูงในการร่วมมือกับ EECi ในการวิจัยพัฒนานวัตกรรมเครื่องมือแพทย์ใหม่ๆ ทั้งในเรื่องของบุคลากรทางการแพทย์ที่เป็นผู้ใช้เครื่องมือ ทำให้เห็นถึงจุดอ่อนและสิ่งที่ต้องแก้ไขในอุปกรณ์เครื่องมือแพทย์ต่างๆ รวมทั้งความต้องการของตลาด รวมทั้งยังมีคณะวิศวกรรมที่จะเข้ามาร่วมกับแพทย์เพื่อหาแนวทางวิจัยปรับปรุงผลิตอุปกรณ์ทางการแพทย์ และจะร่วมกับภาคธุรกิจในการปรับปรุงสินค้าให้ได้มาตรฐานและตรงกับความต้องการของตลาด”

ตั้งเป้าเป็นผู้ผลิตส่งออก

นายจักรกฤษณ์ ศุทธากรณ์ คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ปัจจุบันไทยนำเข้าอุปกรณ์ทางการแพทย์เป็นหลัก ซึ่งมหาวิทยาลัยมหิดลจะผลักดันจุดนี้เพื่อป้อนความต้องการในประเทศ และเป็นอุตสาหกรรมแห่งอนาคตที่สร้างรายได้มหาศาลเข้าประเทศ โดยใช้จุดเด่นด้านความแข็งแกร่งการแพทย์และอุตสาหกรรมต่อเนื่องที่เข้มแข็ง โดยเฉพาะอุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์และอิเล็กทรอนิกส์ที่ปรับไปผลิตอุปกรณ์การแพทย์ได้

“อุตสาหกรรมการแพทย์ไทยไม่ได้เริ่มจากศูนย์ จะใช้จุดเด่นมาประสานความร่วมมือสร้างนวัตกรรมการแพทย์ใหม่ เพื่อรองรับความต้องการภายในประเทศและส่งออก จะทำให้คนไทยเข้าถึงอุปกรณ์การแพทย์ในราคาถูกลง”

นอกจากนี้ มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา ยังอยู่ระหว่างการจัดทำศูนย์ทดสอบเครื่องมืออุปกรณ์การแพทย์ กำหนดเปิดปลายปี 2562 และศูนย์หุ่นยนต์การแพทย์ระดับสูง มูลค่า 1,200 ล้านบาท กำหนดเปิดเฟสแรกในปี 2563 และเปิดเฟส 2 ในปี 2564 

โดยศูนย์ทดสอบทั้ง 2 แห่งนี้ จะเป็นเครื่องมือที่สำคัญในการนำต้นแบบงานวิจัยทางการแพทย์ไปทดสอบให้ผ่านมาตรฐาน เพื่อนำไปผลิตเป็นสินค้าเชิงพาณิชย์ ซึ่งงานวิจัยการแพทย์จำนวนมากนำไปผลิตสินค้าไม่ได้เพราะไม่มีศูนย์ทดสอบ ซึ่งหากส่งไปทดสอบต่างประเทศจะมีต้นทุนสูง

ชี้แนวโน้มเทคโนโลยีดิจิทัล

นายยศชนัน วงศ์สวัสดิ์ รองคณบดีฝ่ายวิจัย คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า แนวโน้มการวิจัยพัฒนาและเทคโนโลยีด้านสุขภาพและชีวการแพทย์ก้าวไปอย่างรวดเร็ว AI จะเข้ามามีบทบาทอย่างสำคัญในการใช้งานด้านการตรวจสุขภาพและบำบัดรักษาอย่างมีประสิทธิภาพและถูกต้องแม่นยำ 

รวมทั้งเทคโนโลยีต่างๆ เช่น หุ่นยนต์ผ่าตัด เทคโนโลยีที่ใช้คลื่นสมอง สตาร์ทอัพในหลายประเทศต่างคิดค้นนวัตกรรมสุขภาพไร้สาย และอุปกรณ์สุขภาพเคลื่อนที่ในยุคที่การสื่อสาร 5G ได้เข้ามาเปลี่ยนแปลงด้วยประสิทธิภาพใหม่ จะทำให้เกิดการเชื่อมต่อการแพทย์กับโลกอินเทอร์เน็ตที่มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น เช่น IoMT (Internet of Medical Things) ที่เห็นได้ชัดคือ อุปกรณ์สวมใส่ ซึ่งมีแนวโน้มได้รับความนิยมอย่างต่อเนื่อง