อาเซียน10+5 ถกกฏระเบียบเพิ่มขีดแข่งขันการค้า

อาเซียน10+5 ถกกฏระเบียบเพิ่มขีดแข่งขันการค้า

อาเซียน “10 + 5” ประชุม “หุ้นส่วนความร่วมมือด้านแนวปฏิบัติที่ดีด้านกฎระเบียบ” ถกแนวทางพัฒนากฎระเบียบต่างๆ ให้สอดคล้องกัน เพิ่มความโปร่งใส การมีส่วนร่วม ลดมาตรการไม่จำเป็น-อุปสรรคการค้าในกลุ่มอาเซียน เพื่อประโยชน์ต่อภูมิภาคในอนาคต

ในการประชุมใหญ่สมัชชารัฐสภาอาเซียนครั้งที่ 40 ที่เพิ่งปิดฉากลง เมื่อวันที่ 30 ส.ค.62 ได้มีการประชุมกลุ่มย่อย ภายใต้หัวข้อ “หุ้นส่วนความร่วมมือด้านแนวปฏิบัติที่ดีด้านกฎระเบียบ” ระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียน โดยมีผู้สังเกตการณ์จาก 5 ประเทศ ประกอบด้วย จีน เกาหลีใต้ แคนาดา รัสเซีย และออสเตรเลีย ซึ่งประเด็นดังกล่าวจะส่งผลต่อความสามารถในการแข่งขัน และความเข้มแข็งของอาเซียน โดยสอดคล้องกับแผนแม่บทว่าด้วยความเชื่อมโยงระหว่างกันในอาเซียน และแผนงานประชาคมอาเซียน ปี 2568

ในการประชุมดังกล่าว มีผู้แทนจากอาเซียนและผู้แทนจากประเทศจีน ซึ่งเป็นหนึ่งในประเทศผู้สังเกตการณ์ของ AIPA เข้าร่วมประชุมด้วย สำหรับในส่วนของไทย มีนายสรอรรถ กลิ่นประทุม ประธานที่ปรึกษาพรรคภูมิใจไทย ทำหน้าที่ประธานการประชุม พร้อมทั้งคณะผู้แทนของไทย นำโดย พล.อ.ธีรเดช มีเพียร และผู้แทนจากสภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภา เข้าร่วม โดยมี นายไกลก้อง ไวทยการ ผู้แทนของไทย กล่าวรายงานจุดยืนของประเทศไทยต่อที่ประชุม

นายสรอรรถ เปิดเผยว่า ในการประชุมครั้งนี้ มี 2 ประเด็นสำคัญ คือ เรื่องความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างจีนกับประเทศสมาชิกอาเซียน และการหารือเรื่อง “หุ้นส่วนความร่วมมือด้านแนวปฏิบัติที่ดีด้านกฎระเบียบ” โดยในเรื่องความสัมพันธ์ที่ดีนั้น ทั้ง 2 ฝ่ายได้แสดงความยินดีต่อสัมพันธภาพที่มีร่วมกันมาอย่างยาวนาน และครอบคลุมในทุกมิติ อาทิ เรื่องการค้าการลงทุน ซึ่งประเทศจีนถือเป็นคู่ค้าอันดับหนึ่งของอาเซียนมาโดยตลอด ขณะเดียวกัน กลุ่มประเทศอาเซียนยังเป็นคู่ค้าอันดับต้นๆ ของประเทศจีนเช่นกัน

นอกจากนี้ ในเรื่องของความร่วมมือด้านการเมืองและความมั่นคง จีนและอาเซียนได้มีความร่วมมืออย่างดี ผ่านกรอบความร่วมมือต่าง ๆ เช่น การประชุมรัฐมนตรีกลาโหมอาเซียน-จีน ซึ่งถือเป็นการส่งเสริมการดำเนินงานตามวิสัยทัศน์ การเป็นหุ้นส่วนกลยุทธ์ระหว่างกัน ปี 2030

นายสรอรรถ กล่าวต่อว่า สำหรับเรื่องของหุ้นส่วนความร่วมมือด้านแนวปฏิบัติที่ดีด้านกฎระเบียบนั้น จีนและกลุ่มประเทศอาเซียนได้หารือ และแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน ในเรื่องของ ASEAN Good Regulatory Practice (ASEAN GRP) ตามกรอบของ The 2016-2025 ASEAN Work Plan for Good Regulatory Practices ซึ่งเป็นการหารือเกี่ยวกับแนวทางการพัฒนากฎระเบียบต่างๆ ให้สอดคล้องกัน เพื่อเพิ่มความโปร่งใส เพิ่มการมีส่วนร่วม และลดมาตรการที่ไม่จำเป็น รวมทั้งลดอุปสรรคต่อการค้าในกลุ่มประเทศอาเซียน ซึ่งในที่ประชุมได้เห็นพ้องกันว่า หากทุกประเทศดำเนินการตามแนวทาง GRP จะทำให้เกิดความร่วมมือด้านกฎหมาย ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อประเทศของตนเองและภูมิภาคอาเซียนต่อไปในอนาคต

ทั้งนี้ ในส่วนของประเทศไทยคาดหวังว่า ประเทศสมาชิกจะสนับสนุนให้มีความร่วมมือด้านกฎหมายและกฎระเบียบระหว่างกัน และระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียนกับจีน อันจะเป็นโอกาสที่จะได้เรียนรู้และแบ่งปันประสบการณ์ ในด้านแนวทางการปฏิบัติตามกฎหมายภายในประเทศ และภายในภูมิภาค ให้มีความก้าวหน้า ลดขั้นตอนความยุ่งยาก ลดความซ้ำซ้อน และลดภาระเรื่องของกฎระเบียบในอนาคต อันจะส่งผลดีต่อภาพรวมของประชาคมอาเซียน

นายสรอรรถ กล่าวอีกว่า ในส่วนของประเทศสมาชิกอาเซียน ได้เสนอแนะแนวทางการปฏิบัติตามหลักการของ GRP อย่างเป็นรูปธรรมเอาไว้เช่นกัน อาทิ เมียนมา ได้เสนอให้นำระบบที่เรียกว่า Regulatory Management System (RMS) ซึ่งเป็นระบบช่วยสนับสนุนการปรับปรุงกฎหมายให้เหมาะสม สอดรับกับการเปิดประเทศต้อนรับกระแสการลงทุนของโลกเสรีมากขึ้น

นอกจากนี้ ในส่วนของประเทศจีน ซึ่งเป็นประเทศผู้สังเกตการณ์ในการประชุมครั้งนี้ ได้ให้ความเห็นในเรื่องของ GRP ไว้เช่นกันว่า เป็นเรื่องที่ประเทศจีนเองให้ความสำคัญอย่างมาก และได้นำมาปรับใช้ในการปกครองประเทศมาโดยตลอด แบ่งเป็น 5 ประเด็นสำคัญ ดังนี้

ประการที่ 1 ประเทศจีน ได้นำ “หลักนิติธรรม” หรือที่เรียกว่า Rule of Law มาใช้ในการออกกฎหมายและปกครองประเทศ ซึ่งการใช้หลักนิติธรรมนั้น จะต้องพิจารณาถึงบริบทของแต่ละประเทศเป็นสำคัญ ประการที่ 2 ประเทศจีนเห็นว่า กฎหมายนั้นมีส่วนช่วยในการปกครองและพัฒนาประเทศได้ ดังนั้น ปัจจุบันจีนจึงมีการปรับปรุงกฎหมายในหลายประเด็น เช่น กฎหมายอาญา กฎหมายแรงงาน กฎหมายการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชัน กฎหมายที่เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมและมลภาวะ เป็นต้น

ประการที่ 3 ประเทศจีนเห็นว่า การใช้กฎหมายในการปกครองประเทศนั้น จะเป็นการสร้างความน่าเชื่อถือและเพิ่มเสถียรภาพของรัฐบาล ทั้งยังให้ความสำคัญต่อการกระจายอำนาจการปกครอง ประการที่ 4 ประเทศจีนให้ความสำคัญต่อความเท่าเทียมในสังคม และความยุติธรรม

ตามหลักนิติธรรม และประการที่ 5 ประเทศจีนให้ความสำคัญต่อการให้ความรู้ประชาชนในเรื่องของหลักนิติธรรม ผ่านระบบการศึกษา และการบังคับใช้กฎหมาย

นายสรอรรถ กล่าวด้วยว่า ทั้งนี้ กลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียนและประเทศจีนเห็นพ้องที่จะสนับสนุนการดำเนินงานตามกรอบของ AIPA และรักษาความร่วมมือต่อกันเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน ตามวัตถุประสงค์ของการประชุมในครั้งนี้