เครือข่ายฯ แบนสารพิษมีอันตราย 686 องค์กร จี้จุฬาฯ ปกป้องเสรีภาพทางวิชาการ

เครือข่ายฯ แบนสารพิษมีอันตราย 686 องค์กร จี้จุฬาฯ ปกป้องเสรีภาพทางวิชาการ

เครือข่ายสนับสนุนการแบนสารพิษที่มีอันตรายร้ายแรง 686 องค์กร จี้จุฬาฯ ปกป้องเสรีภาพทางวิชาการ หนุนรองนายกฯ-รมช.เกษตรแบน 3 สารพิษภายในสิ้นปี 62

เมื่อวันที่ 29 ส.ค.62 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เครือข่ายสนับสนุนการแบนสารพิษที่มีอันตรายรายร้ายแรง 686 องค์กร ได้ออกแถลงการณ์กรณีการกล่าวหา ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา และการคุกคามเสรีภาพทางวิชาการในการเปิดเผยข้อมูลพิษภัยของสารเคมีกำจัดศัตรูพืช และเบื้องหลังการเพิกเฉยข้อเสนอให้มีการยกเลิกการใช้พาราควอต คลอร์ไพริฟอส และไกลโฟเซต โดยระบุว่า เครือข่ายฯขอเรียกร้องต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดังนี้

1. มหาวิทยาลัยควรมีหน้าที่ในการปกป้องเสรีภาพทางวิชาการ โดยเฉพาะบุคลากรของมหาวิทยาลัยที่ปกป้องสุขภาพและสิ่งแวดล้อมของประชาชน โดยก่อนการตั้งคณะกรรมการสอบสวน ควรตั้งคณะทำงานที่ปราศจากผลประโยชน์โดยตรงและโดยอ้อมเพื่อตรวจสอบข้อมูลจากผู้กล่าวหาเสียก่อน เนื่องจากข้อมูลที่อ้างอิงว่า ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เผยแพร่แพร่ข้อมูลเท็จนั้น เป็นข้อมูลที่มีหลักฐานว่ามาจากนักวิชาการ ศูนย์ และสมาคมฯ ที่ได้รับการสนับสนุนทางการเงินและการดำเนินงานจากบริษัทที่ค้าสารพิษกำจัดศัตรูพืช

จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ควรใช้บทเรียนนี้ในการจัดประชุมทางวิชาการเพื่อให้หน่วยงานของรัฐ สถาบันทางวิชาการ บุคลากรในมหาวิทยาลัยเอง และประชาชนทั่วไปได้เข้าใจเรื่ององค์กรบังหน้า (front groups) ซึ่งหน้าฉากเป็นองค์กรทางวิชาการ องค์กรเกษตรกร องค์กรภาคประชาสังคม ฯลฯ แต่เบื้องหลังได้รับการสนับสนุนและมีพฤติกรรมปกป้องผลประโยชน์ของบรรษัท โดยอาจมอบหมายให้สถาบันวิจัยสังคมจุฬาฯ เป็นต้น ในการทำหน้าที่จัดประชุมวิชาการดังกล่าว

2. สนับสนุนบทบาทของรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นางมนัญญา ไทยเศรษฐ์ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข นายอนุทิน ชาญวีระกูล ซึ่งได้แถลงว่าจะดำเนินการยกเลิกการใช้สารพิษที่มีความเสี่ยงสูงโดยเร็ว โดยขอเรียกร้องให้มีการยกเลิกสารพิษดังกล่าวตามข้อเสนอของกระทรวงสาธารณสุขและคณะทำงานสารเคมีกำจัดศัตรูพืชที่มีความเสี่ยงสูง 4 กระทรวงหลัก ผู้ตรวจการแผ่นดิน คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ สภาเกษตรกรแห่งชาติ คณะกรรมการปฎิรูปประเทศด้านสาธารณสุข และคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นต้น ภายในสิ้นปี 2562 นี้ และในกรณีที่จำเป็นต้องตั้งคณะกรรมการ ควรมีบทบาทหน้าที่เฉพาะเรื่องการหาทางเลือกให้แก่เกษตรกรและมาตรการในการสนับสนุนเกษตรกรเป็นสำคัญ ไม่มีเหตุผลใดๆในการตั้งกรรรมการเพื่อศึกษาเรื่องผลกระทบต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อมอีก

3. ขอเรียกร้องให้ประชาชน รวมทั้งพรรคการเมืองทุกพรรคที่ประกาศว่าจะแบนสารพิษร้ายแรง ร่วมกันตรวจสอบและติดตามการทำหน้าที่ของคณะกรรมการวัตถุอันตราย ซึ่งที่ผ่านมาได้เพิกเฉยต่อข้อเสนอให้มีการยกเลิกการใช้สารเคมี เช่น การลงมติให้อนุญาตให้มีการใช้พาราควอตต่อไป โดยไม่มีการเปิดเผยรายชื่อผู้ลงมติ เพราะอ้างว่าจะส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตของกรรมการบางคน แทนที่จะคำนึงถึงผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนทั้งประเทศ รวมทั้งแก้ปัญหาผลประโยชน์และบทบาททับซ้อนในคณะกรรมการวัตถุอันตราย ซึ่งมีกรรมการที่มีสายสัมพันธ์ใกล้ชิดหรือมีผลประโยชน์ทั้งโดยตรงและโดยอ้อมได้รับการแต่งตั้งอยู่ในคณะกรรมการชุดดังกล่าว เป็นต้น

ขอเรียกร้องให้สังคมไทยลุกขึ้นมาสนับสนุนผู้กล้าหาญที่เผยแพร่และเปิดโปงเบื้องหลังของปัญหาสารพิษที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน ปกป้องเสรีภาพทางวิชาการ เพื่อหลักประกันว่าสังคมไทยจะปลอดภัยจากสารพิษร้ายแรง