ยันรวม "ทีโอที-กสท" ไม่มีปลดฟ้าผ่า

ยันรวม "ทีโอที-กสท" ไม่มีปลดฟ้าผ่า

“พุทธิพงษ์”แจงให้ 2 องค์กรเสนอแผนเพื่อพิจารณา

ดีอีให้การบ้านทีโอที-กสทฯก่อนควบรวมองค์กรตามมติครม. ยัน 2 องค์กรต้องจัดทำแผนบริหารทรัพยากรบุคคลระยะยาว ชี้การควบรวมไปสู่ “เอ็นที เทเลคอม” ยังไม่มีกรอบเวลาตายตัว เพราะอยากให้การทำงานและพนักงานอยู่ได้ การันตีไม่มีปลดคนฟ้าแน่นอน พร้อมกันนี้ ประชุมคณะกรรมการแอนตี้ เฟค นิวส์ เซ็นตั้งคณะอนุกรรมการ 4 ชุด หนุนการทำงานต็มที่ ดึงมาตรฐานเฟซบุ๊ค - กูเกิลร่วมเพื่อให้เป็นเกณฑ์สากล

นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) กล่าวว่า ตามที่มีข่าวว่ากระทรวงดีอีจะเสนอแนวทางการคบรวมองค์กรรัฐวิสาหกิจในสังกัดคือบมจ.ทีโอที และบมจ.กสท โทรคมนาคม ให้เป็นบริษัทเดียวภายใต้ชื่อ บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด หรือ เอ็นที เทเลคอม นั้น กระทรวงดีอียังไม่ได้นำวาระการควบรวมของ 2 รัฐวิสาหกิจ ดังกล่าวตามที่หลายฝ่ายอาจจะเข้าใจผิด เพราะเรื่องการควบรวมเป็นกรณีที่คณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) ได้แจ้งต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) รับทราบเท่านั้น

เนื่องจากตนเองต้องการหารือร่วมกับ 2 บริษัท รวมถึงสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ (สรท.) ของทั้ง 2 หน่วยงานก่อนนำเข้าครม. ว่าการควบรวมมีแผนในการบริหารจัดการบุคลากรอย่างไร ซึ่งต้องรับประกันว่าจะไม่มีการปลดพนักงานแบบฟ้าผ่า แต่ควรมีแผนในการบริหารจัดการระยะ 5 ปี ว่าจะมีแผนการลดพนักงาน หรือ เพิ่มทักษะเพื่อให้พนักงานสามารถเปลี่ยนทักษะการทำงาน

ส่วนเรื่องทรัพย์สินของทั้ง 2 บริษัท แม้ว่าสำนักงานอัยการสูงสุด บอกว่าเมื่อมีการควบรวมกันแล้วจะไม่มีผลกระทบแต่อย่างใด แต่ตนเองก็ต้องการเห็นข้อมูลของทรัพย์สินดังกล่าวให้ชัดเจนก่อน นอกจากนี้ยังมีเรื่องสัญญาของคู่สัญญาเอกชนที่ทั้งสองบริษัทต่างก็มีสัญญาอยู่ จึงต้องดูให้รอบคอบว่าจะมีผลกระทบต่อคู่สัญญาหรือมีข้อจำกัดของสัญญาที่แต่ละบริษัททำหรือไม่

นายพุทธิพงษ์ กล่าวว่า ตนเองนั้นไม่มีกรอบเวลาชัดเจนว่าควรจะได้ข้อสรุปเมื่อไหร่ เพราะหากเร่งให้เกิด โดยที่ไม่มีการศึกษาให้รอบคอบ ไม่ใช่ประโยชน์ การตั้งเงื่อนไขเวลาอาจนำไปสู่ความขัดแย้งได้ การรีบจึงไม่เป็นประโยชน์ หากมีคนต่อต้าน ทั้งนี้ตนเองได้เชิญสหภาพฯกสท เข้าร่วมหารือและชี้แจงข้อมูลในเรื่องดังกล่าวแล้ว ส่วนสัปดาห์หน้าจะมีการหารือกับสหภาพฯทีโอที

อย่างไรก็ตาม หากมีการควบรวมจริงทั้งสองบริษัทก็ต้องตั้งคณะกรรมการร่วมกันในการศึกษาและวางแผนหลายคณะไม่ว่าจะเป็นเรื่องทรัพย์สิน บุคลากร ตลอดจนเรื่องสัญญากับพันธมิตร ซึ่งตนทราบว่าทั้ง 2 บริษัท ก็มีบริษัทที่ปรึกษาอยู่แล้ว ซึ่งการควบรวมก็มีทั้งจุดแข็งและจุดอ่อน จุดแข็งคือมีการนำธุรกิจที่เป็นจุดแข็งมารวมกัน แต่จุดอ่อนคือการทำงานของคนที่ซ้ำซ้อน

พร้อมกันนี้ นายพุทธิพงษ์ กล่าวถึงการประชุมความคืบหน้าการจัดตั้ง “คณะกรรมการประสานงาน และแก้ไขปัญหาข่าวปลอมที่กระทบต่อ ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินประชาชน” เพื่อสนับสนุนการทางานของศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม (Anti-Fake News Center) วานนี้ (29 ส.ค.) ซึ่งตั้งเป้าว่าจะดำเนินการได้อย่างเป็นรูปธรรมภายในต.ค.นี้ ทั้งนี้ เบื้องต้นที่ประชุมได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการ 4 ชุด เพื่อจัดกลุ่มดำเนินงานให้ครบถ้วน และครอบคลุมประเด็นปัญหา ข่าวปลอม ตลอดจนความมีประสิทธิภาพในการประสานงานเพื่อแก้ไขปัญหาข่าวปลอม

นอกจากนี้ ยังหารือกันเกี่ยวกับหลักเกณฑ์การวิเคราะห์ข้อมูลข่าวปลอม เพื่อให้สอดคล้องกับ มาตรฐานสากลที่แพลตฟอร์มระดับโลก เช่น เฟซบุ๊ก กูเกิลใช้อยู่ โดยในส่วนของเฟซบุ๊กกำหนดนโยบายที่เรียกว่า มาตรฐานชุมชน (Community Standards) เป็นกฎเกณฑ์กำกับดูแลการใช้งาน ขณะที่กูเกิลซึ่งเป็นเจ้าของยูทูบ มีการกำหนดหลักเกณฑ์ชุมชน (Community Guidelines) ดังนั้น ถ้าหลักเกณฑ์ของประเทศไทยจัดทำได้สอดคล้องกับสากล การยืนยันข่าวปลอมของศูนย์ก็จะได้รับการยอมรับจากแพลตฟอร์มโซเชียลเหล่านั้นด้วย