'หมอธีระวัฒน์' ย้ำสู้เพื่อปกป้องเกษตรกรจากสารพิษ

'หมอธีระวัฒน์' ย้ำสู้เพื่อปกป้องเกษตรกรจากสารพิษ

"หมอธีระวัฒน์" ลั่นไม่เคยคิดทำร้ายเกษตรกร ย้ำพาราควอตอันตรายถึงตาย แนะรัฐต้องมี "กองทุนทดแทนช่วยเกษตร" ช่วงเปลี่ยนผ่านมุ่งเกษตรธรรมชาติยั่งยืน ปลอดสารพิษ

จากกรณีที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้ตั้งคณะกรรมการสืบหาข้อเท็จจริงกรณีที่มีผู้ร้องเรียนกล่าวหาศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ซึ่งเป็นบุคลากรของมหาวิทยาลัยนำเข้าข้อมูลอันเป็นเท็จเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์เพื่อรณรงค์ให้ยกเลิกสารพิษตกค้างในผลิตผลทางการเกษตรนั้น และตามกำหนดได้มีการเชิญผู้ถูกร้องเข้าชี้แจงในวันที่ 29 ส.ค.2562 ก่อนที่จะมีการเลื่อนออกไปก่อนนั้น ขณะเดียวกัน ผู้สื่อข่าวรายงาน เมื่อวันที่ 24 ส.ค.2562 เครือข่ายอาสาคนรักแม่กลอง ทำหนังสือถึงอธิการบดีมหาวิทยาลัยนเรศวร เรื่องติดตามขอข้อมูลทางวิชาการ ครั้งที่ 2 เรื่อง ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและการเกษตร ซึ่งรศ.ดร.พวงรัตน์ ขจิตวิชยานุกูล ผู้อำนวยกานสถาบันวิจัยเพื่อความเป็นเลิศทางวิชาการด้านวิจัยและนวัตกรรมเพื่อสิ่งแวดล้อมเป็นวิทยากรนั้น

ล่าสุด วันนี้(29 ส.ค.) ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีกลุ่มประชาชนจำนวนมากเดินทางมาให้กำลังใจศ.นพ.ธีระวัฒน์ แม้การเข้าชี้แจงจะเลื่อนออกไป โดยมีการมอบดอกไม้เป็นกำลังใจและส่งเสียงตะโกนคุณหมอสู้ๆ เป็นระยะๆ ต่างยืนยันว่าจะต้องปกป้องเสรีภาพทางวิชาการ โดยศ.นพ.ธีระวัฒน์ กล่าวด้วยเสียงสั่นเครือพร้อมน้ำตาว่า ก่อนหน้าวันนี้ ยอรับว่าหดหู่เหมือนเราสู้กันอยู่ไม่กี่คน กราบขอบพระคุณทุกคน ตลอดเวลา 30-40 ปี ตอนที่เป็นนักเรียนแพทย์ได้เห็นคนเสียชีวิตจากพาราควอตเพียงแค่จิบเพราะอุบัติเหตุ หรือคนใช้กระบวยตักน้ำที่มีคราบพาราควอตอยู่มาล้างเวลาถ่ายอุจจาระ ปรากฏว่าเพียงปริมาณน้อยนิดสามารถซึมเข้าไป ในเนื้อเยื่ออ่อน บริเวณง่ามก้น หรืออวัยวะเพศ ส่วนคนที่เกิดอุบัติเหตุจิบเพียง 2-4 ซีซีก็เสียชีวิต เพราะฉะนั้น ที่บอกว่าพาราควอตเป็นสารอันตรายระดับปานกลางนั้นไม่จริงเพราะเพียง 1 ช้อนชาหากสัมผัสจากการกิน หรือเข้าทางเนื้ออ่อนก็อันตราย

ศ.นพ.ธีระวัฒน์ กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ สารเคมีพาราควอตจะทะลักเข้าไปในน้ำในเรือกสวนไร่นา ที่บอกว่าพาราควอตเมื่อตกลงดินแล้วจะถูกตรึงที่ดินและมีการทำลายพิษของมันนั้น ถูกต้องเฉพาะระยะแรก แต่เมื่อสารพิษเข้าไปจนกระทั่งดินหมดความสามารถจะอุ้มซึมซับ สารเคมีก็จะทะลักออกมาและมันละลายได้ดีในน้ำ น้ำเหล่านี้ก็ทะลักในสวนไร่นา และทะลักเข้ามาตามทางเดิน ชาวบ้านหรือคนในพื้นที่แม้ไม่ใช่เกษตรกร เมื่อย่ำเข้าใปในน้ำที่มีสารเคมีปนเปื้อน ทำให้ผิวหนังเกิดแสบ ร้อน ปริ มีตุ่มน้ำใสขึ้น ถือเป็นทางเข้าของเชื้อโรคที่อยู่ในสิ่งแวดล้อม เพราะฉะนั้น ที่มีคนบอกว่า หนังเน่าเนื้อเน่าไม่ได้เกิดจากพาราควอตไม่จริง หากมีคนบอกว่าเกิดจากเชื้อแบคทีเรีย ต้องตอบก่อนว่าแบคทีเรียมาจากไหนถึงเข้าในเลือดทำให้คนไข้เสียชีวิต ก็ขอตอบว่าเข้าทางผิวหนังที่แตก ปริ ที่เกิดจากการคันและเกา เชื้อโรคจึงสามารถเข้าไปได้

ทั้งนี้ จากข้อมูลของกระทรวงสาธารณสุขในช่วงปี 2558-2561 ในประเทศไทย มีจำนวนคนหนังเน่าเนื้อเน่า 68,600 กว่าคน มีคนจำนวนมากถูกตัดขา และใส่ขาปลอม และจำนวนมากต้องเสียเสียชีวิตช่วง 4 ปี ที่ผ่านมา และในปี 2562 ถึงเดือนก.ค. มีคนตายจากสารเคมีฆ่าหญ้าฆ่าแมลง จำนวน 407 คน และย้อนหลังช่วง 3 ปี แต่ละปีมีคนตายราว 600 คน เพราะฉะนั้น สารเคมีเหล่านี้มีอัตรายหรือไม่ตอบได้เรียบร้อยในสถิติของสธ.

“สิ่งที่ทำขณะนี้ทำเพื่อเกษตรกร ทำให้คนยากไร้ที่ไม่มีปากเสียง ที่จะมาพูดว่าเกิดอะไรขึ้นกับเขา เพราะฉะนั้นที่มีคนเข้าใจผิดว่า ผมพยายามทำร้ายเกษตรกรด้วยการบอกว่า เขาทำสารเคมีที่ไม่ดีนั้น ไม่จริงเลย แต่สิ่งที่เราพยายามจะทำอย่างยิ่ง ก็คือต้องการปกป้องชีวิตเขาและสิ่งที่อยากทำจริงๆคือให้ความรู้มาป้องกันตัวเอง และพยายามเลือกมาตรการอย่างอื่นในการทำทดแทนการใช้สารพิษ ซึ่งมีทางทดแทน คือ เกษตรอินทรีย์ เกษตรธรรมชาติยั่งยืน แต่ที่ผ่านมาไม่สามารถที่จะลงไปถึงทุกพื้นที่ได้อย่างครอบคลุม แต่ถ้ามีการส่งเสริมเกษตรธรรมชาติยั่งยืนอย่างเต็มที่ ย้ำว่าไม่มีความประสงค์ใดๆที่จะทำร้ายเกษตรกร ในช่วงเปลี่ยนผ่านนี้รัฐบาลจำเป็นต้องมีกองทุนทดแทนเกษตรกร เพื่อให้เกษตรอยู่ดีกินดีในช่วงเปลี่ยนผ่าน”ศ.นพ.ธีระวัฒน์กล่าว