ชูงานวิจัยโลจิสติกส์ ลดต้นทุน จับตาสงครามการค้ากระทบภาคขนส่ง

ชูงานวิจัยโลจิสติกส์ ลดต้นทุน จับตาสงครามการค้ากระทบภาคขนส่ง

สกสว. ชูงานวิจัยโลจิสติกส์ ลดต้นทุนต่ำกว่า 12% จับตาสงครามการค้า "จีน-สหรัฐ" และ Brexit กระทบภาคขนส่ง

“งานครบรอบ 9 ปีการวิจัยโลจิสติกส์และโซ่อุปทาน สกสว.สู่การนำไปใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน” ที่ไบเทคบางนา กรุงเทพมหานคร เพื่อเผยแพร่ข้อมูลและทิศทางการพัฒนาการวิจัยด้านโลจิสติกส์และโซ่อุปทานของประเทศ โดยการสนับสนุนทุนวิจัยของ สกสว. หรือ สกว.เดิม และสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.)  ในช่วงระยะเวลากว่า 9 ปี วันนี้ 29 สิงหาคม 

ศาสตราจารย์ นพ.สุทธิพันธ์ จิตพิมลมาศ ผอ.สกสว.กล่าวว่า หลายประเทศมองเห็นโอกาสจากประเทศไทย  ในฐานะที่เป็นศูนย์กลางประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ AEC ที่สามารถเชื่อมโยงถึงการค้าในตลาด CLMV (กัมพูชา ลาว พม่า เวียดนาม) ได้ดีที่สุด รวมถึงการเป็นฐานการผลิตในอุตสาหกรรมสำคัญที่หลากหลายอย่างอุตสาหกรรมยานยนต์ที่ไทยกลายเป็นผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่ ไต่ระดับที่ 12 ของโลก มีการประเมินว่าปัจจุบันมูลค่ารวมของตลาดโลจิสติกส์ในประเทศมากกว่า 7 แสนล้านบาทต่อปีทั้งระบบ โดยสัดส่วน 70% เกิดจากการบริการด้านโลจิสติกส์ของกลุ่มทุนไทยและบริษัทข้ามชาติรายใหญ่ และสัดส่วน 30% มาจากกลุ่มโลจิสติกส์รายเล็กรวมกัน  การแข่งขันในสมรภูมิโลจิสติกส์ดังกล่าว ส่งผลให้ สกสว. โดยสำนักประสานงานชุดโครงการวิจัยด้านโลจิสติกส์และโซ่อุปทาน ภายใต้การบริหารงานของฝ่ายการวิจัยมุ่งเป้า จึงให้ความสำคัญกับการให้ทุนสนับสนุนทุนวิจัยวิจัยในประเด็นที่เกี่ยวกับโลจิสติกส์และโซ่อุปทานในทุกมิติ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2554 อย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบันรวมระยะเวลากว่า 9 ปี

การให้ทุนสนับสนุนโครงการวิจัยในประเด็นดังกล่าว สอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบโลจิสติกส์ของประเทศไทย ฉบับที่ 3 (พ.ศ. 2560-2564) ที่มีความหวังให้ไทยเป็นศูนย์กลางทางการค้า การลงทุน และมีขีดความสามารถในการแข่งขัน ตามตัวชี้วัด 4 ด้าน คือ 1) สัดส่วนต้นทุนโลจิสติกส์ไทยต่อ GDP ณ ราคาในปี 2564 ต้องต่ำกว่า 12% (ปัจจุบันสูงกว่า 13%) 2) ดัชนีความสามารถในการแข่งขันด้านโลจิสติกส์ต้องดีกว่าลำดับที่ 45 3) ประสิทธิภาพด้านการอำนวยความสะดวกทางการค้าต้องมีลำดับที่ดีกว่า 56 และ 4) จำนวนธุรกรรมการให้บริการนำเข้าและส่งออกด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ 100%

ในระยะเวลากว่า9 ปี  มีงานวิจัยที่หนุนเสริมนโยบายโลจิสติกส์หลายเรื่อง อาทิ งานวิจัยเรื่อง  เทคโนโลยีลดการขนส่งเที่ยวเปล่าของ ผศ.ดร. จรรยา ชาญชัยชูจิต สำนักการจัดการวิชาการ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ที่ได้พัฒนาระบบการบริหารจัดการขนส่งรถเที่ยวเปล่าในรูปแบบ Web – based service สร้างรายการจับคู่ความต้องการที่เหมาะสมและดีที่สุดสำหรับรถบรรทุกเที่ยวเปล่ากับสินค้าที่รอการขนส่ง ซึ่งขณะนี้บริษัทท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ AOT ได้นำไปใช้ในการบริหารจัดการรถบรรทุกนำเข้าและส่งออกสินค้าภายในพื้นที่เขตปลอดอากรของสนามบินสุวรรณภูมิ โดยมีเอกชน 5 ราย เป็นบริษัทนำร่อง และ AOT มีแผนจะนำแพลตฟอร์มดังกล่าวไปใช้ในสนามบินอีก 5 แห่งทั่วประเทศ หรือ ผลงานวิจัยของรศ.ดร.ดวงพรรณ ศฤงคารินทร์ อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมอุตสาหการ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดลหัวหน้าโครงการวิจัย การศึกษาข้อมูลระบบโลจิสติกส์กรุงเทพมหานครและปริมณฑลเบื้องต้นเพื่อเตรียมความพร้อมการเป็นมหานครแห่งเอเชียระยะที่ 2”ที่ได้ทำการวิเคราะห์ปัญหาที่พบในระบบขนส่งสินค้าและโลจิสติกส์ของกรุงเทพฯและปริมณฑล เพื่อพัฒนาระบบโลจิสติกส์ขนส่งสินค้าในเขตเมือง โดยงานวิจัยมีข้อเสนอแนะว่า ควรมีการจัดตั้งศูนย์รวบรวมและกระจายสินค้า เพื่อลดการขนส่งเคลื่อนย้ายที่ไม่จำเป็น เกิดการขนส่งร่วมของผู้ประกอบการ ทำให้ลดจำนวนเที่ยวรถในการขนส่ง ลดจำนวนรถเที่ยวเปล่าและลดปัญหาจราจรและมลพิษ

ด้าน รศ.ดร.ยงยุทธ แฉล้มวงษ์ ผู้อำนวยการวิจัยด้านการพัฒนาแรงงานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย(ทีดีอาร์ไอ)ในฐานะผู้ทรงคุณวุฒิ กล่าวว่า การวิจัยโลจิสติกส์และโซ่อุปทาน โดยการสนับสนุนของสกสว.และ วช. ครอบคลุม มิติต่างๆ มีหลายเรื่องที่ต้องเร่งผลักดันให้มีการนำผลการวิจัยไปใช้ประโยชน์ และสนับสนุนให้มีการส่งเสริมต่อ อาทิ การค้าขาย การขนส่ง การชำระค่าสินค้าและบริการ การพัฒนากำลังแรงงานเพื่อพัฒนาเทคโนโลยีและดูแล โลจิสติกส์ ทั้งทางบก ทางน้ำ และทางอากาศ รวมถึงระบบรางฯลฯ ควบคู่กับการพัฒนาแพลตฟอร์มดิจิทัลจาก Big Data เนื่องจากผู้บริโภคปัจจุบันมีพฤติกรรมผูกพันกับกิจกรรมออนไลน์สูง และเมื่อพิจารณาสถานการณ์ทั่วโลก พบว่ามีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่อง จากการเปิดเผยของAmazon.com และ Rakuten สองผู้ค้าบนตลาดพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์รายใหญ่ของโลกจากซีกโลกตะวันตกและตะวันออก พบว่า ประชากรมากกว่า 1.66 พันล้านคนทั่วโลกซื้อสินค้าผ่านระบบออนไลน์กว่า2.3 ล้านล้านเหรียญสหรัฐอเมริกา และจะเติบโตขึ้นถึงระดับ 4.48 ล้านล้านเหรียญสหรัฐอเมริกาในปี ค.ศ. 2021 หรือ พ.ศ. 2564 (CNN, 2018)

อย่างไรก็ตาม ผลจากการเติบโตของการค้าผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ สร้างโอกาสการค้าภาคเกษตรและอุตสาหกรรมทั้ง อ้อย ยางพารา กล้วย มังคุด ทุเรียน และ ข้าว อีกทางหนึ่งด้วย ทั้งหมดที่กล่าวจากข้างต้น เป็นประเด็นสำคัญที่ประเทศต้องพัฒนา แต่ปัจจุบันไทยยังไม่มีหน่วยงานที่เป็นเจ้าภาพหลักทำงานด้านนี้โดยตรง ทำให้ขาดความต่อเนื่องทางด้านการทำงานเชิงกลยุทธ์อย่างมีเป้าหมายและทันกับสถานการณ์โลก ที่สำคัญการวิจัยโลจิสติกส์และโซ่อุปทาน จะช่วยให้ประเทศไทยสามารถส่งสินค้าภาคการเกษตรและภาคอุตสาหกรรมที่สำคัญได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ขณะที่ นายเกริกกล้า สนธิมาศ ประธานกิตติมศักดิ์สมาพันธ์โลจิสติกส์ไทยกล่าวถึงข้อจำกัดด้านโลจิสติกส์ของไทยปัจจุบัน ว่า นักลงทุนด้านโลจิสติกส์ไม่สามารถคาดการณ์วางแผนการลงทุนได้เลย เนื่องจากทิศทางการค้าโลกมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา  ทั้ง Trade War ที่ Trump  ผู้นำสหรัฐฯ กีดกันสินค้านำเข้าโดยเฉพาะสินค้าจากจีน ซึ่งสถานการณ์ดังกล่าวส่งผลกระทบต่อโลจิสติกส์โลกในการส่งออกและนำเข้าสินค้าทั้งระบบ รวมถึงกรณีของ Brexit หรือ การถอนตัวออกจากสหภาพยุโรปของสหราชอาณาจักร ก็ส่งผลต่อภาคลงทุนด้านการโลจิสติกส์ ทำให้ตอนนี้แวดวงโลจิสติกส์ทั้งของไทยและทั่วโลกต้องติดตาม 2 สถานการณ์ดังกล่าวอย่างใกล้ชิด จึงจะสามารถวางแผนการลงทุนได้