ปรับแพ็คเกจดึงญี่ปุ่น ทูตฯยันลงทุนไทยอันดับ3ของโลก

ปรับแพ็คเกจดึงญี่ปุ่น ทูตฯยันลงทุนไทยอันดับ3ของโลก

เตรียมโรดโชว์ญี่ปุ่น หารือทุกหน่วยงานทำแพ็คเกจให้เหมาะสมกับนักลงทุน ทูตฯญี่ปุ่นยัน ลงทุนไทยอันดับ 3 ของโลก รองจีน สหรัฐ ดันเอสเอ็มอีญี่ปุ่นลงทุนเพิ่ม เน้นนวัตกรรมสูง "เจโทร" เผยบริษัทญี่ปุ่นในไทย 33% จ่อขยายลงทุนเน้นอีอีซี

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ขณะนี้ได้เตรียมตัวที่จะเดินทางไปประเทศญี่ปุ่นในช่วงปลายเดือน ก.ย.นี้ เพื่อหารือกับบริษัทของญี่ปุ่นในการดึงดูดให้เข้ามาลงทุนในไทย โดยจะนำข้อเสนอแนะของฝ่ายญี่ปุ่นมาหารือกับคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) และหากเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับหลายกระทรวงก็จะนำเข้ามาหารือในที่ประชุมคณะกรรมการรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ (ครม.เศรษฐกิจ) เพื่อจัดทำแพ็คเกจส่งเสริมการลงทุนให้ตรงกับความต้องการ 

ทั้งนี้ หากการลงทุนจากต่างประเทศติดอุปสรรคในเรื่องของกฎหมายก็จะพิจารณาแก้ไขเพื่ออำนวยความสะดวกในการทำธุรกิจ รวมทั้งยังได้สั่งการให้การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ให้จัดตั้งนิคมฯเพื่อรองรับผู้ประกอบการเอสเอ็มอีโดยเฉพาะ ซึ่งจะช่วยอำนายความสะดวกให้กับธุรกิจเอสเอ็มอีจากญี่ปุ่นเข้ามาลงทุนได้ง่ายขึ้น

ปรับแพ็คเกจดึงญี่ปุ่น ทูตฯยันลงทุนไทยอันดับ3ของโลก

นายสุริยะ กล่าวว่า สิ่งที่ฝ่ายญี่ปุ่นแสดงความกังวลจะเป็นเรื่องของการค้าชายแดนที่มีปัญหาในเรื่องของระบบศุลกากร ซึ่งส่งผลให้มีต้นทุนการดำเนินงานเพิ่มขึ้น รวมทั้งหากแก้ไขในเรื่องนี้ได้ก็จะช่วยดึงดูดให้เกิดการลงทุนเพิ่มขึ้น โดยญี่ปุ่นจะใช้ไทยเป็นฐานการผลิตเพื่อส่งผ่ายชายแดนไปยังประเทศโดยรอบ 

ส่วนชายแดนที่จะเข้าไปเจรจาแก้ไขปัญหาจะเป็นชายแดนฝั่งไทย-กัมพูชา เนื่องจากมีความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกับฮุน เซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชา จึงน่าจะเจรจาแก้ไขปัญหาได้รวดเร็วและจะขยายไปแก้ไขปัญหาการค้าชายแดนในฝั่งอื่นๆ ต่อไป

ห่วงปัญหาขาดแรงงาน

นอกจากนี้ ฝ่ายญี่ปุ่นยังเป็นห่วงในเรื่องของการขาดแคลนแรงงาน และการขึ้นค่าจ้างแรงงาน ซึ่งในเรื่องนี้ควรจะสนับสนุนให้อุตสาหกรรมญี่ปุ่นที่จะเข้ามาตั้งในไทยจะต้องเป็นอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีชั้นสูง ใช้หุ่นยนต์และเครื่องจักรอัตโนมัติในการผลิต 

ทั้งนี้ แนวทางดังกล่าวจะช่วยบรรเทาปัญหาขากแคลนแรงงานได้ ส่วนปัญหาการขึ้นค่าแรงรัฐบาลมีแนวทางชัดเจนให้การขึ้นค่าแรงเป็นการพิจารณาของคณะกรรมการไตรภาคีที่ประกอบด้วยผู้แทน 3 ฝ่าย คือ ฝ่ายนายจ้าง ฝ่ายลูกจ้างและฝ่ายรัฐบาล กำหนดค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำ ซึ่งมั่นใจว่าการขึ้นค่าแรงจะเป็นธรรมกับทุกฝ่าย

“สงครามการค้าที่เกิดขึ้นทำให้นักลงทุนญี่ปุ่นมีความชัดเจนที่จะย้ายฐานเข้ามาตั้งโรงงานผลิตในไทยเป็นอันดับต้นๆ ดังนั้นไทยจะต้องปรับตัวเพื่อรองรับคลื่นการลงทุนระลอกนี้ให้ได้มากที่สุด โดยกระทรวงอุตสาหกรรมจะร่วมกับหับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องปรับปรุงมาตรการส่งเสริมการลงทุนให้สู้กับประเทศคู่แข่งได้”

ญี่ปุ่นมองไทยอันดับ 3

ชิโร ซะโดะชิมะ เอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย กล่าวว่า ไทยเป็นประเทศเป้าหมายการลงทุนที่สำคัญของญี่ปุ่น โดยมีบริษัทญี่ปุ่นเข้ามาลงทุนเป็นอันดับ 3 ของโลก รองจากประเทศจีน และสหรัฐ ซึ่งที่ผ่านมาบริษัทขนาดใหญ่ของญี่ปุ่นเข้ามาลงทุนหยั่งรากลึกในไทยแล้วเกือบ 100% 

ดังนั้นการดึงบริษัทขนาดใหญ่เข้ามาลงทุนจึงขยายได้ยากจึงต้องขยายไปดึงดูดกลุ่มเอสเอ็มอีของญี่ปุ่น ดังนั้นจึงได้ร่วมมือกับกระทรวงอุตสาหกรรมของไทยจัดตั้งหน่วยงานโต๊ะญี่ปุ่นขึ้น มีเป้าหมายเพื่อดึงดูดเอสเอ็มอีและสตาร์ทอัพของญี่ปุ่นให้เข้ามาลงทุนในไทยโดยเฉพาะ

“เอสเอ็มอี และสตาร์ทอัพเป็นส่วนสำคัญอย่างมากในการพัฒนาเศรษฐกิจและพัฒนานวัตกรรมให้กับประเทศญี่ปุ่น ซึ่งการที่เอสเอ็มอีญี่ปุ่นขยายการลงทุนเข้ามาในประเทศไทย ก็จะช่วยส่งเสริมทั้งผู้ประกอบการญี่ปุ่นและไทยได้มาก และจะช่วยผลักดันเศรษฐกิจไทยในอนาคต”

สงครามการค้าหนุนลงทุน

รวมทั้ง ขณะนี้ประเทศญี่ปุ่นได้รับแรงกดดันจากค่าจ้างแรงงานภายในประเทศที่สูง ดังนั้นจึงได้ส่งเสริมให้บริษัทญี่ปุ่นเข้ามาขยายตั้งฐานการผลิตในไทยเพื่อส่งออกไปทั่วโลก โดยจะให้ความสำคัญกับอุตสาหกรรมที่มีนวัตกรรมใหม่ๆ เช่น อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ไฟฟ้า เส้นใยสิ่งทอชั้นสูง ให้เข้ามาตั้งโรงงานผลิตสินค้านวัตกรรมใหม่ๆในไทยเป็นที่แรกไม่ใช่ที่ญี่ปุ่นแบบในอดีต

“สงครามการค้าที่เกิดขึ้นเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ผู้ประกอบการญี่ปุ่นสนใจย้ายฐานการผลิตมาไทยและอาเซียน เพื่อลดต้นทุนการผลิต ให้สามารถแข่งขันในตลาดโลกได้”

อัทสึชิ ทาเคทานิ ประธานกรรมการบริหารองค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น (เจโทร กรุงเทพฯ) กล่าวว่า หลังจากที่เจโทรได้ร่วมมือกับกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมตั้งหน่วยงานโต๊ะญี่ปุ่นได้กระชับความร่วมมือระหว่างผู้ประกอบการเอสเอ็มอีทั้ง 2 ประเทศ ส่งผลให้ในรอบ 10 ปีที่ผ่านมานับตั้งแต่ปีพ.ศ. 2551 มีบริษัทญี่ปุ่นในไทย 3,884 บริษัท และล่าสุดในปี 2561 มีบริษัทญี่ปุ่นอยู่ในไทยถึง 5,244 บริษัท เพิ่มขึ้น 40% โดยในจำนวนนี้เป็นบริษัทเอสเอ็มอีเพิ่มขึ้นจาก 1,024 บริษัท เป็น 1,859 บริษัท หรือเพิ่มขึ้นถึง 80%

ทั้งนี้ผู้ประกอบการญี่ปุ่นยังคงต้องการขยายการลงทุนในไทย โดยจากผลการสำรวจในช่วงเดือนพ.ค.-มิ.ย.2562 พบว่าบริษัทญี่ปุ่นในไทยมีแผนที่จะขยายการลงทุนในไทย 34% ซึ่งเป็นตัวเลขที่สูงอยู่ในขั้นน่าพอใจ และเพิ่มขึ้นจากการสำรวจก่อนหน้านี้ที่ตอบว่ามีแผนการลงทุนในไทย 30% 

รวมทั้งนักลงทุนญี่ปุ่นยังคงสนใจขยายการลงทุนเข้าไปในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) มากกว่าพื้นที่อื่น เพราะมีโครงสร้างพื้นฐานที่ดี และรัฐบาลให้การส่งเสริม ดังนั้นจึงอยากให้รัฐบาลไทยเดินหน้าโครงการอีอีซีต่อเนื่องระยะยาว รวมทั้งสถานการณ์ค่าเงินบาทที่แข็งตัวอย่างต่อเนื่องก็กระทบต่อการลงทุนของญี่ปุ่นบ้าง ซึ่งจะต้องเฝ้าระวังต่อไป

“เจโทรขอให้คำสัญญาหรือสาบานว่าจะสนับสนุนให้เกิดการลงทุนขยายธุรกิจในไทยให้เติบโตก้าวหน้าต่อไป ซึ่งจะช่วยให้ผู้ประกอบการของทั้ง 2 ประเทศเติบโตก้าวหน้าไปด้วยกัน”

เอสเอ็มอีลงทุนเพิ่ม1.4เท่า

อัตซึชิ โตโยนากะ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารองค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น (SMRJ) กล่าวว่า ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา บริษัทญี่ปุ่นเข้ามาลงทุนในไทยเพิ่ม 1.4 เท่าตัว ในจำนวนนี้เป็นเอสเอ็มอีถึง 60% โดยหน่วยงานโต๊ะญี่ปุ่นมีส่วนสำคัญในการเป็นสะพานเชื่อมให้กับนักธุรกิจของทั้ง 2 ประเทศ 

รวมทั้ง ล่าสุดบริษัทญี่ปุ่นมีแนวโน้มย้ายฐานเข้ามาผลิตในไทยเป็นอันดับต้นๆ โดยเฉพาะกลุ่มผู้ผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ จากประสบการณ์ลงทุนของนักธุรกิจญี่ปุ่นในไทยส่วนใหญ่ไม่มีปัญหาการลงทุนในไทย ได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วนเป็นอย่างดี