บำรุงราษฎร์ ก้าวสู่ Smart Hospital 5.0

บำรุงราษฎร์ ก้าวสู่ Smart Hospital 5.0

บำรุงราษฎร์ ก้าวสู่ Smart Hospital 5.0 ชูนวัตกรรมเทคโนโลยีการผ่าตัดตรวจรักษา เกี่ยวกับโรคตา ในงาน Eye Excellence Center ปลดล็อคทุกปัญหาของดวงตา

จากการสำรวจระดับชาติในประเทศไทยล่าสุดเมื่อปี 2556 พบว่าความชุกของภาวะตาบอด อยู่ที่ร้อยละ 0.6 จากประชากรไทยทั้งหมด หรือประมาณ 360,000 ราย โดยเป้าหมายขององค์การอนามัยโลก (WHO) ระบุใน WHO VISION 2020 ต้องการให้ควบคุมอุบัติการณ์ของภาวะตาบอด น้อยกว่าร้อยละ 0.5 และรณรงค์ไม่ให้มีผู้ที่ตาบอดหลงเหลืออยู่ จากโรคที่สามารถป้องกันและรักษาได้

เนื่องด้วยประเทศไทยกำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ทำให้มีประชากรผู้สูงวัยเพิ่มมากขึ้น ซึ่ง “อายุ” ถือเป็นสาเหตุหลักอย่างหนึ่งที่ก่อให้เกิดโรคเกี่ยวกับตา เช่น ต้อกระจก ต้อหิน และจอประสาทตาเสื่อม มักพบในกลุ่มผู้สูงอายุ ซึ่งทั้ง 3 โรคนี้ยังเป็นสามอันดับแรกของโรคที่ก่อให้เกิดภาวะตาบอดหรือสายตาเลือนรางได้ ทั้งนี้ โรคตาเกิดได้กับทุกเพศทุกวัย สำหรับโรคตาในเด็กยุคนี้ มักพบปัญหาเรื่องสายตาสั้นตั้งแต่อายุน้อยๆ และสั้นเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในแต่ละปี จากข้อมูลกระทรวงสาธารณสุขพบว่าจำนวนเด็กที่สายตาสั้นมีมากขึ้น ปัจจุบันพบว่าเด็กไทยที่อายุต่ำกว่า 15 ปี สายตาสั้นถึงร้อยละ 30 ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการใช้สายตาจ้องมองจอ เช่น โทรศัพท์มือถือ คอมพิวเตอร์ ต่อเนื่องเป็นเวลานาน ดังนั้นผู้ที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไป หรือผู้ที่เริ่มมีความรู้สึกผิดปกติเกี่ยวกับตา ควรมารับการตรวจเช็คสุขภาพตา เพื่อตรวจคัดกรองโรคตา และรับการรักษาได้อย่างทันท่วงที

รศ. พญ. สุดารัตน์ ใหญ่สว่าง หัวหน้าศูนย์จักษุ โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ เปิดเผยว่า “โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ ได้ตระหนักถึงอุบัติการณ์การเกิดใหม่เกี่ยวกับโรคตาที่เพิ่มขึ้นในทุกๆ ปี และได้มีการยกระดับศูนย์จักษุ เพื่อให้มีการดูแลรักษาอย่างครอบคลุมในทุกปัญหาเกี่ยวกับสุขภาพตา โดยการดำเนินงานของ Eye Excellence Center โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ ประกอบด้วยองค์ความรู้ครบทั้ง 3 มิติ ได้แก่ 1. การให้บริการด้วยนวัตกรรมเทคโนโลยี และการตรวจรักษาที่ทันสมัย 2. การศึกษาวิจัยผลงานใหม่ๆ โดยทีมแพทย์ของบำรุงราษฎร์ มีการค้นคว้าองค์ความรู้ใหม่มาใช้ในการรักษาและบริการ และ 3. การให้ความรู้ทางการแพทย์ โดยมีการจัดฝึกอบรม จัดประชุมวิชาการเป็นประจำ

สำหรับแนวโน้มในการรักษาโรคต่างๆ ทางการแพทย์ รวมถึงการรักษาเกี่ยวกับโรคตา นับว่ามีวิวัฒนาการที่รวดเร็วมาก ทั้งในด้านของการตรวจวินิจฉัยและการรักษา ในแต่ละปีทางโรงพยาบาลได้จัดซื้ออุปกรณ์ใหม่ๆ เข้ามาเป็นระยะ โดยแนวโน้มของเทคโนโลยีเครื่องมือทางการแพทย์ จะเน้นการรักษาผ่าตัดเปิดแผลเล็ก และมีการนำเลเซอร์เข้ามาใช้ร่วมในการรักษา นวัตกรรมเหล่านี้จะช่วยให้ระยะเวลารักษาไม่นาน ผลการรักษามีความแม่นยำตามที่ต้องการมากยิ่งขึ้น โอกาสเกิดผลข้างเคียงหลังการผ่าตัดน้อยลง ผู้ป่วยหายเร็วขึ้น ระยะพักฟื้นสั้นลง ไม่ต้องนอนโรงพยาบาล ซึ่งเป็นการลดค่าใช้จ่าย

ศูนย์จักษุ โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ มีทีมจักษุแพทย์ จำนวน 49 ท่าน โดยจะให้การดูแลรักษาผู้ป่วยตามความชำนาญและประสบการณ์ของแพทย์ ได้แก่ ต้อกระจก ต้อหิน ศัลยกรรมตกแต่งและเสริมสร้าง จอประสาทตา กระจกตาและการผ่าตัดแก้ไขสายตา ม่านตาอักเสบ โรคตาเด็ก จักษุประสาท ศูนย์จักษุมีห้องตรวจตาพร้อมอุปกรณ์ที่ทันสมัยครบครัน ซึ่งจะสามารถให้บริการตรวจรักษาครอบคลุมอย่างครบวงจร เพื่อให้ผู้ป่วยโรคตามีความมั่นใจว่าท่านจะได้รับการดูแลรักษาเป็นอย่างดี”

นพ. สมบัติ ศรีสุวรรณภรณ์ แพทย์ผู้ชำนาญการด้านจักษุวิทยา โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ กล่าวถึงการรักษาโรคต้อกระจก ไม่มียารักษาให้หายได้ ถ้าจะให้เห็นดีขึ้น ผู้ป่วยจะต้องรักษาด้วยการผ่าตัดเพียงวิธีเดียว ซึ่งวิวัฒนาการทางการแพทย์ในการผ่าตัดต้อกระจก ตั้งแต่ในอดีตถึงปัจจุบันมีความเปลี่ยนแปลงค่อนข้างมาก ในยุคแรกๆ เทคโนโลยียังไม่ดี จึงเป็นการผ่าตัดแบบไม่มีเลนส์ใส่ เรียกว่า Intracapsular Cataract Extraction (ICCE) เป็นการผ่าตัดดึงเอาเลนส์ตาออกทั้งถุงหุ้มเลนส์ เปิดแผลที่ขอบบนของตาดำ ประมาณ 12-15 มิลลิเมตร และต้องใส่แว่นขนมครก ทำให้ผู้ป่วยมองเห็นภาพขยายเกินจริงเยอะมาก บางอย่างจึงหลุดเฟรม พอยุคถัดมาเมื่อ 40 กว่าปีก่อน มีการผ่าตัดด้วยวิธี Extracapsular Lens Extraction (ECCE) เริ่มมีการใส่เลนส์ แต่จะมีการเปิดแผลด้วยใบมีด โดยแผลจะกว้างและต้องเย็บแผลประมาณ 5-7 เข็ม ซึ่งปัจจุบันไม่นิยมใช้วิธีรักษาทั้ง 2 แบบนี้แล้ว

สำหรับเทคโนโลยีการผ่าตัดรักษาต้อกระจกที่เป็นที่นิยมในปัจจุบัน คือ การรักษาสลายต้อกระจกด้วยคลื่นความถี่สูงหรืออัลตราซาวน์ (Phacoemulsification) หรือ “Phacoe - เฟโค” วิธีนี้ช่วยให้จักษุแพทย์สามารถสลายส่วนของเลนส์ตาที่เป็นฝ้าหรือเสื่อมสภาพ แผลผ่าตัดจะเริ่มเล็กลงมาก ประมาณ 2-4 มิลลิเมตร จากนั้นจักษุแพทย์จะทำการฝังเลนส์แก้วตาเทียมลงไปแทนเลนส์ตาเดิมที่ขุ่นมัวหรือเสื่อมสภาพไป โดยเลนส์ตาเทียมจะอยู่ได้ตลอดชีวิต ไม่ต้องเปลี่ยนซ้ำ หลังผ่าตัดช่วยให้การมองเห็นเร็วขึ้น และการผ่าตัดต้อกระจกและฝังเลนส์เทียมโดยใช้เลเซอร์ (Femtosecond laser) หรือเรียกสั้นๆ ว่า “Femto - เฟมโต” วิธีนี้ช่วยให้แพทย์เปิดแผลได้ตามขนาดที่ต้องการ ทำให้มีความแม่นยำมากขึ้น การผ่าตัดด้วยวิธีนี้ใช้พลังงานน้อย ทำให้ความบอบช้ำของกระจกตามีน้อย การรักษาแบบ Femto จะใช้เทคโนโลยีเลเซอร์เข้ามาช่วยในการผ่าตัด แพทย์สามารถเปิดแผลได้อย่างแม่นยำและสามารถเปิดถุงหุ้มเลนส์ให้มีขนาดตามต้องการ ทำให้การวางตำแหน่งของเลนส์ได้ดีขึ้น หลังจากนั้น จะมีการตัดแบ่งเลนส์ต้อกระจกให้เป็นชิ้นเล็กลงได้ ก่อนจะใช้เครื่องสลายต้อกระจกด้วยอัลตราซาวด์ดูดเอาเลนส์ออก นับเป็นทางเลือกใหม่ในการรักษาต้อกระจก

​รศ.นพ. ปริญญ์ โรจนพงศ์พันธุ์ แพทย์ผู้ชำนาญการด้านจักษุวิทยา โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ เปิดเผยถึง “นวัตกรรมเทคโนโลยีของเครื่อง Femtosecond laser นับเป็นวิวัฒนาการของเทคโนโลยีที่ก้าวไปอีกขั้นหนึ่ง ใช้คอมพิวเตอร์ในการควบคุมการทำงาน และอาศัยเทคโนโลยีสามมิติในการสแกนดวงตาด้วยเครื่อง

ล่าสุดโรงพยาบาลได้นำเครื่อง ORA System ซึ่งเป็นนวัตกรรมในการช่วยผ่าตัดต้อกระจกให้มีความแม่นยำมากขึ้น เป็นเครื่องมือที่ช่วยเสริมในขั้นตอนการผ่าตัดต้อกระจกและฝังเลนส์เทียมโดยใช้เลเซอร์ (Femto) ให้เกิดประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น โดย ORA เป็นนวัตกรรมที่สามารถตรวจวัดค่าสายตาผู้ป่วยระหว่างการผ่าตัดแบบ Real-time ช่วยลดความผิดพลาดที่เกิดจากการวัดแบบมาตรฐาน เหมาะกับผู้ป่วยทุกคน โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ป่วยที่เคยผ่าตัดทำเลสิกมาก่อน หรือการผ่าตัดใดๆของกระจกตา เช่น กรีดกระจกตามาก่อน ซึ่งการวัดแบบมาตรฐานทำได้ไม่แม่นยำเท่าการวัดด้วยเครื่อง ORA

โดยก่อนการผ่าตัดต้อกระจก แพทย์จะทำการวัดหาค่าเลนส์แก้วตาเทียมที่ถูกต้องและเหมาะสมสำหรับผู้ป่วยแต่ละราย โดย ORA เป็นเครื่องมือที่เสียบอยู่กับกล้องที่ใช้ในการผ่าตัด เมื่อแพทย์นำเลนส์ต้อกระจกออกจากตาของผู้ป่วยแล้ว เครื่องมือ ORA จะฉายไปที่ตาของผู้ป่วยเพื่อวัดยืนยันค่าสายตา ตำแหน่งของการใส่เลนส์ องศาของเลนส์และกำลังของเลนส์แก้วตาเทียมที่เหมาะสมของผู้ป่วยอีกครั้ง และเมื่อใส่เลนส์แก้วตาเทียมเข้าไปแล้ว เครื่องมือ ORA ยังสามารถวัดได้อีกว่าเลนส์ที่ใส่เข้าไปมีค่าถูกต้องหรือไม่ หากไม่ถูกต้อง แพทย์สามารถเปลี่ยนเลนส์ระหว่างการผ่าตัดได้ ดังนั้น การออกแบบและเลือกเลนส์ให้เหมาะสมกับผู้ป่วยคนนั้นๆ ได้อย่างพอดิบพอดี นับเป็นศิลปะอย่างหนึ่ง ที่ต้องอาศัยทั้งประสบการณ์และความชำนาญการของจักษุแพทย์ในการใช้เครื่องมือเทคโนโลยีใหม่ๆ นั่นคือความท้าทายมากที่สุดสำหรับทีมจักษุแพทย์ ซึ่งที่ผ่านมาถือว่าเราทำได้ดี”

​พญ. ฐาริณี กุลกำม์ธร แพทย์ผู้ชำนาญการด้านการผ่าตัดแก้ไขสายตาด้วยเลเซอร์ โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ เปิดเผยว่า “ด้วยเทคโนโลยีการสื่อสารได้เข้ามามีบทบาทในไลฟ์สไตล์คนในยุคปัจจุบัน ต้องทำงานอยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์ รวมถึงการติดต่อสื่อสารผ่านสมาร์ทโฟน หรือแท็บเล็ต เพื่อให้เข้าถึงข้อมูลข่าวสารอย่างรวดเร็ว ซึ่งพฤติกรรมการเพ่งหน้าจอเป็นระยะเวลานาน หรือการดูมือถือในที่แสงสว่างไม่เพียงพอนั้น ย่อมส่งผลให้เกิดปัญหาสายตาได้ เช่น ปวดตา ตามัว ตาแห้ง สายตาล้า สายตาสั้นในเด็ก ส่งผลให้พบผู้ที่มีภาวะสายตาผิดปกติในวัยเด็กเพิ่มขึ้น โดยเบื้องต้นแนะนำสำหรับการทำงานอยู่กับจอคอมพิวเตอร์ หรือหน้ามือถือเป็นเวลานาน ให้ใช้หลัก 20 20 20 คือ ทุกๆ 20 นาที ของการมองใกล้ (มือถือ คอมพิวเตอร์ อ่านหนังสือ) ให้พักสายตาประมาณ 20 วินาที โดยมองไปที่ไกลประมาณ 20 ฟุต ในระยะ 20 ฟุต เพื่อคลายกล้ามเนื้อตา ทำให้ทำงานมีประสิทธิภาพมากขึ้นและไม่ปวดกล้ามเนื้อตา

สำหรับนวัตกรรม ReLEx SMILE เป็นเทคโนโลยีการผ่าตัดแก้ไขสายตาด้วยเลเซอร์ที่ต่อยอดมาจากเลสิก เป็นเทคนิคการผ่าตัดแก้ไขสายตาสั้นและเอียงด้วยเลเซอร์ที่มีความแม่นยำสูง มีแผลเปิดที่กระจกตาเล็กมาก ประมาณ 2-4 มิลลิเมตร ทำให้รบกวนเส้นประสาทบริเวณกระจกตาน้อย เป็นผลให้อาการตาแห้งและระคายเคืองตาพบได้น้อย โดยที่ค่าสายตาหลังผ่าตัดคำนวณได้อย่างแม่นยำ ทำให้มองเห็นดีขึ้นและคงที่ในเวลาไม่นาน สามารถกลับไปใช้ชีวิตปกติได้อย่างคล่องตัว

การผ่าตัดรักษาภาวะสายตาสั้นและเอียงด้วยวิธี ReLEx SMILE ขณะที่เลเซอร์ทำงาน เครื่องมือจะแตะที่ผิวกระจกตาและใช้แรงกดน้อย ผู้ป่วยจึงรู้สึกสบายตาขณะผ่าตัด หลังผ่าตัดมักพบการระคายเคืองและตาแห้งน้อย เนื่องจากแผลที่กระจกตามีขนาดเล็กมาก และหลังการรักษาจะได้ค่าสายตาที่มีความแม่นยำ โดยวิธีนี้จะเหมาะกับผู้ที่ไม่อยากใส่แว่น ไม่อยากใส่คอนแทคเลนส์ และผู้ที่มีสายตาสั้นถึง 1000 (-10.00 D) และสายตาเอียง 500 (-5.00 D) โดยเบื้องต้นแพทย์จะต้องตรวจวินิจฉัยตาก่อนที่จะทำการรักษาว่าเหมาะที่จะรักษาด้วยวิธีนี้หรือไม่ เนื่องจากต้องคำนึงถึงความหนาของกระจกตา และภาวะอื่นๆ ของตาร่วมด้วย เช่น ภาวะตาแห้งหรือไม่ ผู้ที่ทำการรักษาควรมีอายุ 20 ปีขึ้นไป และมีค่าสายตาคงที่อย่างน้อย 1 ปี และต้องไม่มีโรคที่เป็นข้อห้ามในการรักษา เช่น โรคเบาหวานที่ควบคุมน้ำตาลยังไม่ดี สตรีมีครรภ์ หรืออยู่ในช่วงให้นมบุตร ซึ่งแพทย์จะเป็นผู้ประเมินถึงความเหมาะสม”

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

-บำรุงราษฎร์ โชว์ศักยภาพโรงพยาบาลชั้นนำในไทย

-สธ.ตั้งเป้าให้รพ.ชุมชน เป็น Smart Hospital

-'ฉัตรชัย' ตรวจเยี่ยม รพ.สวนผึ้ง ชูอสต.ลดเหลื่อมล้ำ 'คนไทย-ต่างด้าว'

-สวทช.แนะโรงพยาบาลอีอีซี ใช้โรบอทตอบคำถามซ้ำซ้อน