ห่วงไฟป่าเปลี่ยนอเมซอนกระทบสภาพอากาศโลก

ห่วงไฟป่าเปลี่ยนอเมซอนกระทบสภาพอากาศโลก

สถานการณ์ในอเมซอนเร่งด่วนมาก ส่งผลถึงความสมบูรณ์ของอเมซอนโดยรวม

ประธานองค์กรจัดการป่าไม้โลกชี้ไฟป่าที่กำลังเผาผลาญอเมซอนเป็นจุดเปลี่ยนของผืนป่า จี้ทั่วโลกต้องช่วยกันดูแลต้นไม้ให้มากกว่านี้

นายเกอร์ฮาร์ด ดีเตอร์เล คณะกรรมการบริหารองค์กรไม้เขตร้อนระหว่างประเทศ องค์กรระหว่างประเทศที่ส่งเสริมการใช้ป่าไม้อย่างยั่งยืน แถลงวานนี้ (28 ส.ค.) ว่าสถานการณ์ในอเมซอนเร่งด่วนมาก ส่งผลถึงความสมบูรณ์ของอเมซอนโดยรวม เพราะไฟป่าขยายวง เสี่ยงลามไปถึงทุ่งหญ้าด้วย

“ผู้เชีี่ยวชาญหลายคนหวั่นเกรงว่านี่อาจเป็นจุดเปลี่ยนของป่าฝนเขตร้อนแห่งนี้ ตัวเลขล่าสุดระบุว่า ในบราซิลเกิดไฟป่ารวมกว่า 82,000 จุด ถึงขนาดต้องใช้เครื่องบินทหารและกำลังพลมาช่วยดับไฟ”

นายดีเตอร์เล กล่าวด้วยว่าไฟป่าที่เกิดขึ้นกว่าครึ่งอยู่ในลุ่มน้ำอเมซอนขนาดใหญ่ บางจุดมีสาเหตุมาจากธรรมชาติ แต่ส่วนใหญ่เกิดจากเกษตรกรจงใจเผาเพื่อใช้ที่ดินทำการเกษตร

ผู้เชี่ยวชาญรายนี้ระบุว่า ถ้าป่าฝนหนาทึบถูกไฟเผา ก็ต้องใช้เวลาหลายปีกว่าต้นใหม่จะกลับมาขึ้นหนาทึบเหมือนเดิม สภาพเช่นนี้ส่งผลให้ภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง ทั้งระดับพื้นที่ ประเทศ ภูมิภาค และส่งผลถึงสภาพภูมิอากาศโลกด้วย

ส่วนเงินช่วยเหลือ 20 ล้านดอลลาร์จากกลุ่มประเทศจี 7 เพื่อมาช่วยดับไฟนั้น นายดีเตอร์เลกล่าวว่า เป็นแค่จุดเริ่มต้น จำเป็นต้องใช้เงินมากกว่านี้มาก

ทั้งนี้เมื่อวันอังคาร (27 ส.ค.) โฆษกประธานาธิบดีชาอีร์ โบลโซนาโร แถลงว่า บราซิลพร้อมเปิดรับความช่วยเหลือจากองค์กรและประเทศต่าง ๆดับไฟป่าครั้งรุนแรงที่กำลังเผาผลาญผืนป่าอเมซอน แต่มีข้อแม้ว่าเงินช่วยเหลือจะต้องให้ชาวบราซิลเป็นผู้ดูแลเองเท่านั้นหลังจากบราซิลปฏิเสธความช่วยเหลือของจี7 ไป ระหว่างที่ประธานาธิบดีกำลังทำสงครามน้ำลายกับประธานาธิบดีเอ็มมานูเอล มาครงของฝรั่งเศส เจ้าภาพการประชุมจี7 วานนี้นายโบลโซนาโรกล่าวหาว่านายมาครงดูถูกตนต้องถอนคำพูด

ส่วนนายดีเตอร์เลแสดงความเห็นนอกรอบการประชุมว่าด้วยการพัฒนาแอฟริกา ที่จัดขึ้นในนครโยโกฮามาของญี่ปุ่น โดยเขาได้เตือนที่ประชุมว่า แอฟริกาหลายประเทศเกิดการตัดไม้ทำลายป่าและป่าเสื่อมโทรมอย่างต่อเนื่องในอัตราที่น่าเป็นห่วง

เนื่องจากคาดว่าประชากรแอฟริกาจะเพิ่มจาก 1,200 ล้านคนในปัจจุบัน เป็น 4,400 ล้านคนภายในสิ้นศตวรรษ จึงเกรงว่าต่อไปจะมีปัญหาขาดแคลนไม้มาทำการก่อสร้างและหุงหาอาหาร ดังนั้นความมั่นคงด้านน้ำและไม้ จึงจำเป็นเท่ากับความมั่นคงด้านอาหาร

“เราต้องให้ความสำคัญกับบทบาทและการใช้ประโยชน์จากป่าให้มากกว่านี้ก่อนที่จะสายเกินไป”