กางแผนที่โทรคมฯ “ไอทียู” ดูตำแหน่ง "ไทย" บนหมุดโลก

กางแผนที่โทรคมฯ “ไอทียู” ดูตำแหน่ง "ไทย" บนหมุดโลก

ปลายสัปดาห์ที่แล้ว ไอทียูได้เชิญสื่อมวลชนและคณะทำงาน 5จีสำนักงาน กสทช. โดยมีนายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการกสทช.ร่วมเดินทาง เพื่อศึกษาดูงานและทำความเข้าใจร่วมกันเรื่องการพัฒนา 5จี

สหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (ไอทียู)​ ผู้กำหนดทิศทางรวมไปถึงนโยบายการบริหารกิจการอุตสาหกรรมโทรคมนาคม กิจการวิทยุ กระจายเสียงเป็นองค์การพิเศษของสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ปัจจุบันมีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่กรุงเจนีวา ประเทศ สวิตเซอร์แลนด์มีบทบาทในการพิจารณาปัญหาเชิงนโยบาย ด้านการสื่อสารโทรคมนาคมระหว่างประเทศ ในช่วงที่ยังไม่ถึง กำหนดการประชุมใหญ่ผู้แทนผู้มีอำนาจเต็มของสหภาพฯ เพื่อให้การดำเนินงาน นโยบาย และยุทธศาสตร์ต่างๆ ของสหภาพฯ สามารถตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ในยุคโลกาภิวัตน์ สภาบริหารนี้ มีหน้าที่จัดทำรายงานเกี่ยวกับนโยบาย และการวางแผนเชิงกลยุทธ์ต่างๆส่วนประเทศไทยเองเข้าเป็นสมาชิกไอทียูในปี 2426

ปลายสัปดาห์ที่แล้ว ไอทียูได้เชิญสื่อมวลชนและคณะทำงาน 5จีสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) โดยมี นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการกสทช.ร่วมเดินทาง เพื่อศึกษาดูงานและทำความเข้าใจร่วมกันเรื่องการพัฒนาเทคโนโลยี 5จี เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลการบริหารงาน การกำกับดูแลของเรกูเลเตอร์ให้เป็นไปตามเทรนด์ของโลก

สิ้นปีนี้สรุปมาตราฐานคลื่น5จี

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การเดินทางไปไอทียูในครั้งนี้ คณะสื่อมวลชนและ กสทช.ได้มีโอกาสเข้าพบ นายหูหลิน จ้าว เลขาธิการไอทียู โดยนายจ้าวกล่าวว่า แม้ทั่วโลกมีแผนพัฒนาเทคโนโลยี 5จีให้เกิดอย่างรวดเร็ว แต่ทว่าการก้าวไปสู่ 5จี นั้น ต้องวางแผนให้เหมาะสมกับแต่ละประเทศ ไม่มีหลักสูตรตายตัว สำหรับประเทศไทย เป็นเรื่องที่ดีมาก ที่มีการทดสอบเทคโนโลยี 5จี ด้วยการร่วมมือกับภาคการศึกษา ซึ่งในมุมมองของตนเอง คิดว่าจะเป็นสิ่งที่ดีมาก หากมีการแบ่งปันผลการทดสอบให้ภาพอุตสาหกรรมเพื่อใช้ประโยชน์ต่อไป

ดังนั้น การประกาศสู่การเป็นผู้ให้บริการ 5จีของประเทศไทยจะช้า หรือ เร็วไม่ต่างกัน สิ่งสำคัญคือการมาในเวลาที่เหมาะสม เพราะไอทียูเอง ก็ยังไม่มีการกำหนดว่าคลื่นไหนเหมาะกับการทำ 5จี คาดว่าในการประชุม World Radio Communication Conference: WRC สิ้นปี 2562 นี้ จะได้ข้อสรุปของคลื่นที่เหมาะสมกับ 5จี

ทั้งนี้ ที่ผ่านมาไอทียูได้มีการทำงานเรื่อง 5จีคืบหน้าอย่างมาก นอกจากเรื่องการสรรหาคลื่นที่เหมาะสมแล้ว ก็ต้องมีการหารือร่วมกับทุกภาคส่วนเพื่อให้ประชาชนเข้าถึงบริการ ขณะที่ภาคอุตสาหกรรมก็ได้ประโยชน์ด้วย เพราะภาคอุตสาหกรรมต้องมีการลงทุน บางคนอาจคิดว่าผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือ(โอเปอเรเตอร์) ต้องประมูลราคาสูง เพราะมีรายได้ มีกำไร แต่อย่าลืมว่า เอกชนนอกจากต้องลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน 5จี ซึ่งต้องให้บริการด้วยความเสถียรแล้ว เขายังต้องลงทุนในแง่ของการให้บริการประชาชนด้วย

“การประมูลอาจจะเลือกได้ทั้งการประมูลมัลติแบนด์ มีทั้งคลื่น ต่ำ กลาง สูง หรือ การคัดคุณสมบัติ นอกจากนี้ การชำระเงินก็ควรมีการแบ่งจ่ายที่เหมาะสม เพื่อให้โอเปอเรเตอร์ ทำธุรกิจได้ ซึ่งไอทียู เป็นหน่วยงานที่ดูมาตรฐานของคลื่น เป็นหลัก ส่วนการประมูลและราคาต้องขึ้นอยู่กับความเหมาะสมของแต่ละประเทศ ”

โอทีทีเป็นปัญหาใหญ่ทั่วโลก

อีกประเด็นหนึ่ง เมื่อ 5จีเกิด ปัญหาของผู้ให้บริการบนโอเวอร์ เดอะ ท็อป (โอทีที) มาใช้แบนด์วิธบนโครงข่ายของผู้ประกอบการโทรคมนาคม ซึ่งเรื่องนี้เป็นปัญหาเรื้อรังมานาน แก้ไขไม่ได้ โดยไอทียู มีความพยายามในการหาข้อยุติร่วมกันระหว่างโอทีทีซึ่งมีทั้ง เฟซบุ๊ค และ กูเกิ้ล กับ โอเปอเรเตอร์ ด้วยการตั้งคณะกรรมการร่วมกัน แต่ก็ยังหาข้อยุติร่วมกันไม่ได้ เพราะขณะที่ โอเปอเรเตอร์บอกว่า ตนเองเป็นผู้ลงทุนโครงสร้างเน็ตเวิร์ก เหตุใดโอทีทีจึงมาใช้งานฟรี แต่โอทีทีก็บอกว่า ตนเองก็เป็นคนสร้างเศรษฐกิจให้แต่ละประเทศ

นายจ้าว กล่าวว่า เมื่อได้ยินว่ากลุ่ม 10 ประเทศในอาเซียน มีการประชุม ASEAN Telecommunication Regulator’s Council : ATRC ครั้งที่ 25 ซึ่งประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ เพื่อหาข้อสรุปในการคิดรายได้โอทีทีร่วมกัน ซึ่งเป็นสิ่งที่ดีมาก ที่มีการรวมตัวและหาข้อสรุปร่วมกัน และในส่วนของไอทียูก็จะศึกษาและหาข้อสรุปเรื่องโอทีทีให้ได้โดยเร็วที่สุด

ซึ่งการหารือกับประเทศสมาชิกก็ให้ความเห็นว่า โอเปอเตอร์ก็มีความกังวล เกี่ยวกับลงทุนประมูลคลื่นรอบใหม่ และการลงทุนพัฒนาโครงข่าย โดยเรื่องดังกล่าว นายฐากรกล่าวว่า ประเทศไทยจะมีการหารือถึงการเตรียมความพร้อมของประเทศไทยในการเข้าสู่ 5จีที่คาดว่า จะมีการจัดการประมูลคลื่นความถี่เพื่อรองรับ 5จี ในช่วงปลายปี 2563 หรือต้นปี 2564 ซึ่งจะส่งผลให้การเข้าสู่ 5จี ของประเทศไทย จะเกิดขึ้นหลังจากนั้น

จากการจัดการประชุม ATRC ทราบว่า 3 ประเทศ ได้แก่ เวียดนาม สิงคโปร์​ และมาเลเซีย​จะเปิดให้บริการ 5จีเชิงพาณิชย์ได้ประมาณเดือน มิ.ย. 2563 จึงมีความกังวลในกรณีที่นักลงทุนจะมีการย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศนั้นๆทำให้ไทยสูญเสียโอกาสในการขับเคลื่อน​เศรษฐกิจ​

ขับเคลื่อนแผน5จีแห่งชาติ

เลขาธิการกสทช. เสริมว่า ดังนั้น ภายในต้นเดือน ก.ย. จะนำเสนอต่อที่ประชุมกสทช.ให้มีการจัดคณะการขับเคลื่อน 5จีระดับชาติ โดยมีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน เพื่อให้สามารถขับเคลื่อนให้เกิด 5จี ได้เร็วขึ้น จากนั้นจะนำมติที่ประชุมเสนอต่อนายกรัฐมนตรีภายในกลางเดือน ก.ย. เพื่อให้คณะทำงานเกิดขึ้น โดยที่ผ่านมากสทช.ดำเนินการอาจจะมีปัญหา เช่น กรณีคลื่นความถี่ย่าน 2600 เมกะเฮิรตซ์และคลื่นอื่นๆ ที่มี หน่วยงานภาครัฐและกองทัพถือครองอยู่

อย่างไรก็ตาม โอเปอเรเตอร์ คาดว่า จะพร้อมลงทุน 5จี ในปี 2565-2566 ซึ่งเป็นปีที่ 5จีได้เริ่มให้บริการแล้วในประเทศชั้นนำ เพราะเชื่อว่า เมื่อถึงเวลานั้นจะเห็นทิศทางของการลงทุนการใช้งานคลื่นความถี่ที่ชัดเจน แต่หากเป็นเช่นนั้น ประเทศอาจได้รับผลกระทบในหลายด้าน ประเทศไทยเข้าสู่ 5จี ล่าช้ากว่าประเทศเพื่อนบ้าน ดังนั้น กสทช. มีแนวคิดที่เป็นน่าจะเป็นที่ยอมรับของทุกฝ่ายโดยการให้การจัดสรรคลื่นความถี่เกิดขึ้นก่อน โดยให้โอเปอร์เรเตอร์​เข้ารับการจัดสรรคลื่นความถี่ล่วงหน้า และวางหนังสือค้ำประกัน (แบงก์การันตี)​ และเมื่อโอเปอร์เรเตอร์​มีความพร้อมลงทุน จึงชำระเงินค่าใบอนุญาต​ในปี 2566