จ่อเซ็น 'เจิ้งโจว' หนุนอู่ตะเภา เชื่อมการค้า-ลงทุน ดันการบิน2ฝ่าย

จ่อเซ็น 'เจิ้งโจว' หนุนอู่ตะเภา เชื่อมการค้า-ลงทุน ดันการบิน2ฝ่าย

สกพอ. เตรียมลงนามเจิ้งโจว ดันเมืองการบินคู่ขนานอู่ตะเภา เชื่อมการค้า การลงทุน เที่ยวบิน หวังดันเมืองการบินภาคตะวันออก พร้อมนำคณะลงพื้นที่ติดตามการพัฒนา ก่อนวางแผนร่วมผลักดันเมืองการบิน

รายงานข่าวจากสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) ระบุว่า วันพรุ่งนี้ (29 ส.ค.) นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี จะเป็นประธานการลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือการพัฒนาเมืองการบิน โดยเป็นการลงนามระหว่าง สกพอ.กับคณะกรรมการบริหารเขตเศรษฐกิจพิเศษอากาศยานเจิ้งโจว (Zhengzhou Airport Economy Zone : ZAEZ)

ร่างบันทึกความเข้าใจดังกล่าวมีสาระสำคัญเป็นความร่วมมือด้านการแลกเปลี่ยนข้อมูลการวางแผนและการบริหารจัดการมหานครการบินระหว่างกัน โดยจะเป็นประโยชน์ต่อการส่งเสริมความร่วมมือในกิจกรรมการพัฒนาอื่นที่เกี่ยวข้อง เช่น เที่ยวบิน การค้า และการลงทุน โดยร่างบันทึกความเข้าใจดังกล่าวได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 2 เม.ย.ที่ผ่านมา 

จ่อเซ็น \'เจิ้งโจว\' หนุนอู่ตะเภา เชื่อมการค้า-ลงทุน ดันการบิน2ฝ่าย

นอกจากนี้ ความร่วมมือดังกล่าวเริ่มจากคณะกรรมการนโยบายพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (กรศ.) หรือ คณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) ในปัจจุบัน มีมติเมื่อวันที่ 5 เม.ย.2560 ให้ศึกษาการพัฒนาเขตเศรษฐกิจอากาศยานนครเจิ้งโจว ซึ่งเป็นต้นแบบของเขตเศรษฐกิจพิเศษที่ประยุกต์การเชื่อมต่อการขนส่งทางอากาศเข้ากับการขนส่งรูปแบบอื่นและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง เพื่อพัฒนาพื้นที่รอบสนามบินอู่ตะเภาให้เกิดประโยชน์สูงสุด

รวมทั้ง วานนี้ (27 ส.ค.) สกพอ.ได้เชิญผู้แทน ZAEZ ลงพื้นที่สนามบินอู่ตะเภาเพื่อดูความคืบหน้าการพัฒนาศูนย์ซ่อมอากาศยาน เครื่องบินแอร์บัส รวมทั้งหารือกับ พล.ร.ต.ลือชัย ศรีเอี่ยมกูล ผู้อำนวยการการท่าอากาศยานอู่ตะเภา ซึ่งเป็นลงพื้นที่เพื่อศึกษาและเตรียมสร้างความร่วมมือในการพัฒนาเมืองการบินภาคตะวันออกร่วมกัน

สร้างเมืองการบินคู่แฝด

ก่อนหน้านี้ สกพอ.ได้ลงนามในบันทึกความเข้าใจกับรัฐบาลมณฑลเหอหนานเกี่ยวกับการพัฒนาการบินร่วมกัน เมื่อวันที่ 28 เม.ย.ที่ผ่านมา ในระหว่างที่นายสมคิด เดินทางเยือนจีนเพื่อหารือเกี่ยวกับความร่วมมือด้านการลงทุน โดยหลังการลงนามในช่วง 3 ปีนี้ สกพอ.จะเร่งผลักดันความร่วมมือในการพัฒนาศูนย์การบินคู่ขนานและส่งเสริมการค้าและการลงทุนร่วมกันให้เดินหน้าเร็วที่สุด รวมทั้งจะทำศูนย์การบินแบบเมืองคู่แฝด ระหว่างเจิ้งโจวและอู่ตะเภา เดินหน้าเร็วขึ้น จากที่ผ่านมาไทยได้เชื่อมอีอีซีกับฮ่องกงไปก่อนหน้านี้

ทั้งนี้ รัฐบาลจีนได้เริ่มพัฒนา ZAEZ ตั้งแต่ ปี 2553 โดยเมืองเจิ้งโจวอยู่ในมณฑลเหอหนาน ตอนกลางของจีน เป็นศูนย์กลางการคมนาคมระหว่างแต่ละมณฑลในจีน และระหว่างประเทศ จึงประสบความสำเร็จกลายเป็นศูนย์กลางขนส่งขนาดใหญ่ของจีนในปัจจุบัน

สะท้อนได้จากปริมาณผู้โดยสารที่ใช้สนามบินเจิ้งโจวซินเจิ้งเพิ่มขึ้นมาจาก 8.7 ล้านคนเป็น 15.8 ล้านคน หรือเติบโตราว 80% ในระหว่างปี2553 -2557 ในขณะที่ปริมาณขนส่งสินค้าเพิ่มสูงขึ้น มากจาก 85,800 ตันถึง 370,000 ตัน หรือเติบโตประมาณ 300%

ต้นแบบพัฒนาอู่ตะเภา

ทั้งนี้ ZAEZ แบ่งออกเป็น 3 ส่วนหลัก โดยส่วนแรกราว 40% ของพื้นที่ทั้งหมดถูกวางเป็นเขตการบิน ได้แก่ สนามบิน การขนส่งผู้โดยสาร และสินค้า การผลิตชิ้นส่วนและซ่อมอากาศยาน และธุรกิจคลังสินค้าสำหรับธุรกิจห้องแช่เย็นและ e-Commerce ส่วนที่สองราว 40% ของพื้นที่ทั้งหมดเป็นเขตการผลิตสินค้ามูลค่าสูงเพื่อรองรับธุรกิจวิจัยและพัฒนาอุปกรณ์เครื่องบิน 

รวมทั้งผลิตสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ที่มีมูลค่าสูง เช่น Foxconn ซึ่งเป็นบริษัทผู้รับประกอบโทรศัพท์ iPhone ส่วนที่ 3 กำหนดให้เป็นเขตเมืองบริการ เพื่อรองรับสาธารณูปโภคและสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ เช่น โครงการมิกซ์ยูส

ZAEZ เชื่อมต่อกับการขนส่งในรูปแบบอื่นๆ ทั้งทางถนนโดยรถบรรทุก ทางรางโดยรถไฟและรถไฟความเร็วสูง อีกทั้งยังเป็นเมืองหลักที่จะเชื่อมระหว่างจีนกับยุโรปผ่านเส้นทางรถไฟตามแผนยุทธศาสตร์ Belt and Road initiative ของจีน ซึ่งเส้นทางรถไฟนี้จะเชื่อมกับไทยที่ จ.หนองคาย

แบ่งพื้นที่พัฒนา 4 โซน

พื้นที่ ZAEZ แบ่งออกเป็น 4 โซน ได้แก่ ตัวสนามบิน พื้นที่ด้านเหนือ พื้นที่ด้านตะวันออก และพื้นที่ด้านใต้ของสนามบิน โดยเขตสนามบิน เป็นพื้นที่ประกอบธุรกิจโลจิสติกส์ และ MICE ประกอบด้วย สนามบิน และธุรกิจเกี่ยวเนื่อง ศูนย์ขนส่งผู้โดยสารทางบก มีรถไฟใต้ดิน รถไฟความเร็วสูง และรถโดยสาร การขนส่งและกระจายสินค้าทางอากาศ คลังสินค้า E-Commerce การซ่อมบำรุงอากาศยาน ศูนย์การประชุมและแสดงสินค้า และโรงแรม

ทิศใต้ของเขตสนามบิน เป็นพื้นที่สำหรับธุรกิจการผลิตที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง ประกอบด้วย การผลิตชีวการแพทย์ (Biomedicine) และวัคซีน การผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง การผลิตชิ้นส่วน อากาศยาน เป็นต้น เขตทิศเหนือของเขตสนามบิน เป็นพื้นที่อาศัย การศึกษา และบริการ 

เขตทิศตะวันออก เป็นพื้นที่ของสถานีรถไฟความเร็วสูง Zhengzhou South Station ซึ่งพัฒนาเป็นศูนย์กลางคมนาคมขนส่งที่รองรับผู้โดยสารได้ 100,000 คนต่อวัน โดยทั้ง 4 โซนเชื่อมต่อถึงกัน ด้วยโครงข่ายถนนขนาดใหญ่ ทุกโซนจะแทรกพื้นที่เปิดโล่ง พื้นที่สีเขียว แหล่งน้ำและสวนสาธารณะ คิดเป็นพื้นที่ 40% ของพื้นที่ทั้งหมด

ภาคอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงที่อยู่ภายใน ZAEZ อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ มีผู้ผลิตสมาร์ทโฟน 60 ราย 1 ในรายที่สำคัญคือ Foxconn ซึ่งมีมูลค่าในการลงทุนราว 360 ล้านดอลลาร์ มีกำลังผลิต Smartphone รวม 299 ล้านเครื่องต่อปี คิดสัดส่วน 14% ของการผลิต Smartphone ทั่วโลก โดยในอนาคตจะเพิ่มเป็น 400 ล้านเครื่องต่อปี

ใหญ่กว่าอู่ตะเภา1.9เท่า

เมื่อเปรียบเทียบ ZAEZ กับมหานครการบินภาคตะวันออก พบว่า ZAEZ มีขนาดพื้นที่ 415 ตร.กม. หรือ 259,375 ไร่ ซึ่งใหญ่เป็น 1.9 เท่าของเมืองการบินภาคตะวันออก ที่มีพื้นที่ 139,375 ไร่ นับจากศูนย์กลางสนามบินรัศมี 10 กม. โดย ZAEZ แบ่งเป็นพื้นที่สนามบิน 30,000 ไร่ ขณะที่เมืองการบินภาคตะวันออกที่จะให้เอกชนพัฒนามีพื้นที่ 6,500 ไร่ รวมทั้งการบริหารจัดการเมืองการบินและพื้นที่เชื่อมต่อของไทยจะใช้เทศบาลเมืองบ้านฉางและเทศบาลตำบลบ้านฉาง

สำหรับพื้นที่ธุรกิจและอุตสาหกรรมเทคโนโลยีขั้นสูงของ ZAEZ จะใช้พื้นที่ High-End Manufactured Concentrated Area ของไทยจะใช้ทางตอนเหนือสนามบิน ต.สำนักท้อน ต.พลูตาหลวง และพื้นที่ศูนย์กลางคมนาคม ศูนย์ประชุมของ ZAEZ จะใช้พื้นที่ Port Business Exhibition Area ขณะที่ไทยจะใช้พื้นที่ อ.สัตหีบ เมืองพัทยา