ยธ. เตรียมผลักดันกลไกดูแลการลงทุนไทยในต่างแดน แก้ปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชน

ยธ. เตรียมผลักดันกลไกดูแลการลงทุนไทยในต่างแดน แก้ปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชน

กองสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศจัดทำแผนปฏิบัติการระดับชาติว่าด้วยธุรกิจและสิทธิมนุษยชน เตรียมชง ครม. อนุมัติ

ผู้อำนวยการกองสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ นรีลักษณ์ แพไชยภูมิ กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม ได้เปิดเผยกับสำนักข่าวชายขอบ (Transborder News) ว่า ทางกรมฯ ได้มีการดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม พ.. 2559 ซึ่งมีการกำหนดให้จัดตั้งกลไกกำกับดูแลการลงทุนของผู้ลงทุนสัญชาติไทยในต่างประเทศ ทั้งนี้ เพื่อป้องกันการละเมิดสิทธิมนุษยชนจากภาคธุรกิจ

ทางกองฯ จึงได้จัดทำแผนปฏิบัติการระดับชาติว่าด้วยธุรกิจและสิทธิมนุษยชน (NAP) และได้ทำเสร็จเรียบร้อยแล้ว โดยขณะนี้ อยู่ระหว่างการนำเสนอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมพิจารณา ก่อนจะนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อให้ความเห็นชอบและประกาศใช้อย่างเป็นทางการต่อไปภายในอีกไม่กี่วันนี้

โดยประเด็นการลงทุนของบรรษัทข้ามชาตินั้น ถือเป็น 1 ใน 4 ประเด็นหลักที่ต้องมีการแก้ไขเร่งด่วน นอกเหนือจากประเด็นอื่นๆ ได้แก่ แรงงาน, ชุมชน ทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม และนักปกป้องสิทธิมนุษยชน ที่ถูกบรรจุไว้ในแผนฯ ผอ.นรีลักษณ์กล่าว

การเปิดเผยในครั้งนี้เกิดขึ้นหลังจากที่ตัวแทนชาวบ้านเมืองทวาย ประเทศพม่าซึ่งได้รับผลกระทบจากโครงการก่อสร้างถนน 2 ช่องทางเชื่อมต่อระหว่างโครงการท่าเรือน้ำลึกและเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย และด่านชายแดนที่บ้านพุน้ำร้อน จ. กาญจนบุรี เข้าพบนายสามารถ เจนชัยจิตรวนิช ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงยุติธรรม และเจ้าหน้าที่ระดับสูงของกระทรวงเมื่อวานนี้เพื่อยื่นหนังสือร้องเรียนถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นในพื้นที่เมื่อวานนี้

ชาวบ้านยังได้เสนอให้มีการดำเนินการแก้ไขการละเมิดสิทธิมนุษยชนจากการลงทุนของผู้ลงทุนสัญชาติไทยในโครงการดังกล่าว หลังจากรับทราบว่าโครงการได้หยุดชะงักไป แต่กำลังจะมีการดำเนินการต่อภายใต้การสนับสนุนทางการเงิน จำนวน 4.5 พันล้านบาท ของรัฐบาลไทย ผ่านสำนักงานความร่วมมือพัฒนาเศรษฐกิจกับประเทศเพื่อนบ้าน (องค์การมหาชน) (สพพ.)

นายเกิดโชค เกษมวงศ์จิตร รองอธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กล่าวว่า จะติดตามการดำเนินการในชั้นคณะรัฐมนตรีอย่างใกล้ชิด และจะประสานงานเพื่อหารือกับหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อพิจารณาจัดตั้งกลไกการกำกับดูแลการลงทุนของนักลงทุนไทยในต่างประเทศ ตลอดจนจัดการอบรมเกี่ยวกับธุรกิจและสิทธิมนุษยชนให้กับเจ้าหน้าที่การทูตเพื่อให้มีความรู้ความเข้าใจและระวังการละเมิดสิทธิมนุษยชนในภาคธุรกิจด้วย

นายซอ เกโดะ หนึ่งในตัวแทนชาวบ้าน กล่าวว่าพวกเขาเป็นกลุ่มคนที่ได้รับผลกระทบจากโครงการนับตั้งแต่เริ่มก่อสร้างโครงการถนนตั้งแต่ปี 2553 ซึ่งทางบริษัทเข้าทำโครงการโดยไม่บอกกล่าวชาวบ้านและมีการนำเครื่องจีกรหนักเข้าไปทำลายพื้นที่สวน พื้นที่ผ่าไม้ และพื้นที่อนุรักษ์ของชุมชนในหลายแห่ง จนชาวบ้านเดือดร้อนและออกมาเรียกร้องความเป็นธรรม

นายซอ เกโดะ เป็นหนึ่งในชาวบ้านที่เดินทางมาจากทวายเพื่อเข้าร่วมงานเสวนา “ประเทศไทยกับโครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย : ถนนสู่กิโลเมตรที่ศูนย์ (เปล่า?)” จัดโดยคณะทำงานติดตามความรับผิดชอบของการลงทุนข้ามพรมแดน (ETOs Watch Coalition) เมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา ก่อนเข้าพบเจ้าหน้าที่ระดับสูงของกระทรวงเพื่อยื่นเรื่องร้องเรียน

ภาพ หลักกิโลเมตรที่ 0 ที่เขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย/ เครดิต: ETO Watch Coalition

: