ทุ่มลงทุนพันล้าน ลุยตั้งโรงไฟฟ้าขยะ

ทุ่มลงทุนพันล้าน ลุยตั้งโรงไฟฟ้าขยะ

อบจ.ระยอง-จีพีเอสซี ตั้งโรงไฟฟ้าพลังงานขยะ เฟส 1 กำลังการผลิต 9.8 เมกะวัตต์ พร้อมลุยเฟส 2 ทันทีหลังเฟสแรกเดินเครื่อง มี.ค.2564 กำลังการผลิต 20 เมกะวัตต์ รองรับขยะอีอีซี ตั้งเป้ากำจัดขยะได้100%

นายปิยะ ปิตุเตชะ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดระยอง (อบจ.ระยอง) เปิดเผยว่า ปัญหาขยะชุมชนในจ.ระยองได้ทวีความรุนแรงมากขึ้น ดังนั้น จ.ระยอง อบจ.ระยอง และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) 68 แห่ง ตั้งโครงการศูนย์กำจัดขยะมูลฝอยรวมแบบครบวงจรจังหวัดระยอง โดยได้ร่วมลงนามในบันทึกข้อตกลงพัฒนาระบบการจัดการมูลฝอยที่ครบวงจรแบบศูนย์รวม ซึ่งเป็นไปตามการรวมกลุ่มพื้นที่การจัดการขยะตามนโยบายกระทรวงมหาดไทย 

ทั้งนี้ จะเน้นระบบการจัดการแบบผสมผสาน มุ่งเน้นการลดและคัดแยกขยะมูลฝอยตั้งแต่ต้นทาง โดยปัจจุบันศูนย์การจัดขยะฯ มีขยะชุมชนส่งเข้ามากำจัดวันละประมาณ 1,000 ตัน ด้วยระบบแบบผสมผสาน ประกอบด้วย ระบบคัดแยกขยะ การนำขยะอินทรีย์แปลงเป็นวัสดุปรับปรุงดิน และระบบฝังกลบอย่างถูกหลักสุขาภิบาล

แก้ปัญหาขยะฝังกลบ

นอกจากนี้ จากการดำเนินงานที่ผ่านมาพบว่า ระบบคัดแยกขยะเดิมที่ใช้แรงงานคนเป็นหลัก ทำให้คัดแยกได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ ส่งผลให้มีขยะไปฝังกลบจำนวนมาก ดังนั้น อบจ.ระยอง จึงร่วมกับบริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ จีพีเอสซี แกนนำในการดำเนินธุรกิจไฟฟ้าและสาธารณูปโภคของกลุ่ม ปตท. โดยดำเนินโครงการบริหารจัดการขยะครบวงจรจังหวัดระยอง 

ทุ่มลงทุนพันล้าน ลุยตั้งโรงไฟฟ้าขยะ

นายปิยะ กล่าวว่า มีเป้าหมายเพื่อพัฒนาระบบการจัดการขยะมูลฝอยที่มุ่งไปสู่เทคโนโลยีการแปลงขยะมูลฝอยเป็นพลังงานไฟฟ้า ซึ่งเป็นกลไกการพัฒนาพลังงานที่สะอาด เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชนในโครงการบริหารจัดการขยะครบวงจรจังหวัดระยอง โดยแปลงเป็นเชื้อเพลิงแห้ง (RDF) เพื่อแก้ไขปัญหาปริมาณขยะที่เพิ่มขึ้นในพื้นที่จ.ระยอง

ส่งขยะวันละ500ตัน

สำหรับ โครงการบริหารจัดการขยะครบวงจรจังหวัดระยอง จะต่อยอดจากการดำเนินงานของศูนย์การจัดขยะมูลฝอยรวมแบบครบวงจร จ.ระยอง ซึ่งอบจ.ระยอง มีหน้าที่ในการรวบรวมขยะจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่จ.ระยองส่งให้จีพีเอสซีไม่น้อยกว่า 500 ตัน ต่อวัน ซึ่งจีพีเอสซีจะใช้เทคโนโลยีคัดแยกขยะโดยแปลงเป็นเชื้อเพลิง 

โดยขยะสดจะนำไปแปลงเป็นเชื้อเพลิง RDF ขนาดความกว้าง 5-8 เซนติเมตร มีค่าความร้อน 4,000 กิโลแคลอรี่ต่อกิโลกรัม ซึ่งสามารถใช้เป็นเชื้อเพลิงในกระบวนการผลิตไฟฟ้าและโรงปูนซีเมนต์ ส่วนขยะอินทรีย์ 40 % อบจ.ระยอง จะนำไปใช้ประโยชน์ในการผลิตสารปรับปรุงดินสนับสนุนให้เกษตรกรในพื้นที่ต่อไป

“โครงการนี้บริหารงานแบบเอกชน โดย อบจ.ระยองได้ตั้งบริษัทลูกขึ้นมาบริหารจัดการ เพื่อให้เกิดความคล่องตัว ช่วยแก้ปัญหาโครงการโรงงานกำจัดขยะที่ผ่านมาที่ส่วนใหญ่ล้มเหลวเพราะติดระบบราชการ รวมทั้งยังมีกองทุนสิ่งแวดล้อมยกระดับคุณภาพชีวิตให้กับชุมชนรอบโครงการนี้ บริหารจัดการโดยคณะกรรมการ 3 ฝ่าย ได้แก่ภาครัฐ เอกชน และชุมชน”

ตั้งเป้าเปิดโรงไฟฟ้าต้นปี 64

นายปิยะ กล่าวว่า โรงไฟฟ้าพลังงานขยะแห่งนี้ มีกำลังผลิตไฟฟ้า 9.8 เมกะวัตต์ ใช้เงินลงทุนกว่า 1 พันล้านบาท ใช้เชื้อเพลิงขยะ 500 ตันต่อวัน จะแล้วเสร็จจำหน่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ได้ภายในวันที่ 31 มี.ค. 2564 ส่วนโรงไฟฟ้าพลังงานขยะ เฟส 2 ขณะนี้อยู่ระหว่างการดำเนินการขออนุญาตตามขั้นตอนต่างๆ คาดว่าจะใช้เวลา 2 ปี ทำให้สามารถสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานขยะ เฟส 2 ได้ทันทีหลังจากเฟสแรกแล้วเสร็จ โดยในเฟส 2 จะมีกำลังการผลิตไฟฟ้าไม่ต่ำกว่า 10 เมกะวัตต์ เพื่อรองรับการกำจัดขยะใน จ.ระยองได้ทั้งหมด

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้อยู่ระหว่างการหารือกับสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) เพื่อประเมินปริมาณขยะหลังจากการเกิดขึ้นของโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ว่าจะมีขยะเพิ่มขึ้นอีกเท่าไร เพื่อออกแบบโรงงานผลิตไฟฟ้าพลังงานขยะให้เพียงพอต่อจำนวนที่เพิ่มขึ้น โดยขั้นต้น คาดว่าจะมีขยะเพิ่มขึ้นอีกวันละ 2 พันตัน ซึ่งจะต้องสร้างโรงไฟฟ้ารองรับอีก 20 เมกะวัตต์ ซึ่งหากสร้างเฟส 2 เสร็จจะต้องไม่มีขยะเหลือฝังกลบอีก จะมีเพียงขี้เถ้าเล็กน้อยเป็นไปตามเป้าหมายที่จะกำจัดขยะให้ได้ 100%

นายปิยะ กล่าวว่า ทั้งนี้ ยังได้มีการนำขยะอินทรีย์ที่คัดแยกออกมานำมาหมักเพื่อผลิตก๊าซชีวภาพเพื่อนำไปผลิตไฟฟ้าเพิ่ม โดยจะตั้งโรงไฟฟ้าขนาดเล็กขึ้นเพื่อรองรับก๊าซชีวภาพมีกำลังผลิตไฟฟ้าประมาณ 1 เมกะวัตต์ เพื่อนำไฟฟ้ามาใช้ในโครงการศูนย์กำจัดขยะครบวงจรแห่งนี้ คาดว่าจะเปิดดำเนินการได้ภายในเดือนต.ค.นี้

ค่ากำจัดขยะตันละ250บาท

สำหรับโครงการนี้ สามารถนำขยะมาสร้างมูลค่าเพิ่มในหลายรูปแบบ ทั้งการแปรรูปเป็นเชื้อเพลิง วัสดุรีไซเคิล และสารปรับปรุงดิน ซึ่งถือเป็นการตอบสนองนโยบายรัฐบาลและสอดคล้องยุทธศาสตร์การจัดการขยะมูลฝอยของจ.ระยอง และขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการ “ประเทศไทยไร้ขยะ” ตามแนวทาง “ประชารัฐ” โดยมีเป้าหมายเพื่อให้ปริมาณขยะมูลฝอยที่เข้าสู่ระบบกาจัดปลายทางลดลง ขยะอันตรายชุมชนได้รับการคัดแยก เป็นการบริหารจัดการขยะมูลฝอยที่เหมาะสมและยั่งยืน

“โครงการกำจัดขยะครบวงจรแห่งนี้ อบจ.ระยอง คิดค่ากำจัดขยะเพียง 250 บาทต่อตัน ต่ำกว่าที่อื่น ซึ่งหากเฟสแรกมีขยะเข้าสู่โรงงานกำจัดได้ 800 ตัน ก็ถือว่าเท่าได้เท่าทุน หากโรงไฟฟ้าพลังงานขยะเฟส 2 แล้วเสร็จก็จะมีขยะเข้ามาเพิ่มซึ่งก็จะเป็นผลกำไรเข้ามา”

สำหรับเชื้อเพลิง RDF และขยะรีไซเคิลที่ได้เป็นของจีพีเอสซี โดยคาดว่าจะสามารถผลิต RDF ได้ 30%-50% ของขยะสดที่เข้าสู่กระบวนการ ขึ้นอยู่กับองค์ประกอบของขยะแต่ละปี โดยได้ดำเนินการเชิงพาณิชย์ในไตรมาส 3 ปี 2561 ซึ่งโครงการนี้มีอายุสัญญาร่วมดาเนินงาน 22 ปี นับตั้งแต่วันลงนามโครงการบริหารจัดการขยะครบวงจรจังหวัดระยอง ถือเป็นโครงการที่สามารถต่อยอดและแก้ไขปัญหาขยะได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับขยะชุมชนอีกด้วย