อาเซียน–อินโดแปซิฟิก ร่วมเสริมสร้างความร่วมมือในภูมิภาค

อาเซียน–อินโดแปซิฟิก ร่วมเสริมสร้างความร่วมมือในภูมิภาค

อาเซียน–อินโดแปซิฟิก ร่วมเสริมสร้างความร่วมมือในภูมิภาคและประชาคมโลกอย่างยั่งยืน

วันนี้ (27 สิงหาคม 2562) เวลา 08.00 น. ณ โรงแรม ดิ แอทธินี กรุงเทพฯ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานและกล่าวเปิดการประชุมผู้บัญชาการสูงสุด ภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก ประจำปี 2562 (Chiefs of Defense Conference 2019: CHOD 2019) สรุปสาระสำคัญดังนี้

นายกรัฐมนตรีกล่าวชื่นชมกองกำลังสหรัฐฯ ประจำภาคพื้นอินโดแปซิฟิก และกองทัพไทย ที่ร่วมกันเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมฯ ครั้งนี้ ปัจจุบัน สภาพแวดล้อมของโลกมีพลวัตสูงมาก ซึ่งถือเป็นความท้าทายที่กระทบต่อความมั่นคงของมวลมนุษยชาติ และสังคมโลก เช่น ปัญหาสิ่งแวดล้อม มลพิษ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ภัยคุกคามรูปแบบใหม่ รวมถึงการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ในทุก ภาคส่วน (Digital Transformation) ที่ประชาชนทุกกลุ่มต้องปรับตัว โดยนายกรัฐมนตรีเห็นว่า ทุกประเทศควรร่วมกัน แสวงหาแนวทางป้องกัน และ แก้ไขอย่างเป็นรูปธรรม ภายใต้เป้าหมายร่วมกัน คือ การรักษาเสถียรอย่างยั่งยืน ในโลกที่เราต้องใช้ชีวิตร่วมกันนี้

การจะเป็นเช่นนี้ได้ ต้องทำให้ภูมิภาคอินโดแปซิฟิกเป็นภูมิภาคแห่งการเจรจาและสร้างความร่วมมือ เพื่อให้เกิดการพัฒนา และสร้างความเจริญรุ่งเรืองไปด้วยกัน โดยจะต้องสร้างบรรยากาศแห่งสันติภาพ เสถียรภาพ และ ความมั่นคงในภูมิภาค ด้วยการยึดกฎกติกาสากล สร้างความไว้เนื้อเชื่อใจกัน และทำงานร่วมกัน อย่างใกล้ชิด

ภูมิภาคอินโดแปซิฟิกถือเป็นภูมิภาคที่มีความหลากหลาย ทั้งจำนวนประชากรที่มีกว่าครึ่งหนึ่งของโลก ความหลากหลายของชาติพันธุ์ วัฒนธรรม รวมทั้งเป็นจุดศูนย์กลางการเจริญเติบโตทางการค้า การลงทุน และการพัฒนา

ทั้งนี้ ภูมิภาคอาเซียน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของภูมิภาคอินโดแปซิฟิก ด้วยที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ทำให้อาเซียน เป็นพื้นที่สำคัญทางยุทธศาสตร์ด้านการค้าและความมั่นคง อาเซียนให้ความสำคัญกับภูมิภาคอินโดแปซิฟิก ภายใต้มุมมอง “ASEAN Outlook on Indo-Pacific” เป็นแนวทางในการดำเนินความสัมพันธ์ และความร่วมมือกับอินโดแปซิฟิก ส่งเสริมบทบาทการทำงานของอาเซียนที่มีจุดมุ่งหมาย เพื่อเสริมสร้าง ความร่วมมือในภูมิภาค ตลอดจนสนับสนุนการใช้กลไกที่มีอาเซียนเป็นผู้นำในการสร้างความร่วมมือ โดยมีกรอบความร่วมมือหลัก 4 ประการ ได้แก่ ความร่วมมือทางทะเล การติดต่อเชื่อมโยง (connectivity) เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ (SDGs) รวมทั้งความร่วมมือทางเศรษฐกิจและอื่น ๆ

นายกรัฐมนตรีกล่าวย้ำว่า ไทยให้ความสำคัญในการสร้างความมั่นคงอย่างยั่งยืนในภูมิภาค โดยในฐานะประธานอาเซียนในปีนี้ ไทยได้ประกาศแนวคิด “ร่วมมือ ร่วมใจ ก้าวไกล ยั่งยืน” ที่จะส่งผลต่อเสถียรภาพของภูมิภาคอินโดแปซิฟิก ซึ่งจำเป็นต้องสร้างความร่วมมือและร่วมใจของความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ระหว่างกันทั้งในและนอกภูมิภาค

ทั้งนี้ ไทยสนับสนุนการพูดคุยและการเจรจาในเวทีระดับนานาชาติ ตลอดจนส่งเสริมและสนับสนุน กลไกความร่วมมือระหว่างประเทศในแต่ละระดับ โดยนายกรัฐมนตรีเห็นว่า นอกจากการสร้าง ความมั่นคงอย่างยั่งยืนในภูมิภาคอินโดแปซิฟิก เราจะต้องสร้างความยั่งยืนในมิติอื่น ๆ ด้วย เนื่องจากทุกมิติมีความสัมพันธ์เชื่อมโยง ความยั่งยืนในทุกมิติ (Sustainability of Things : SOT) ถือเป็นแนวทางใหม่ที่ทุกประเทศควรคำนึงในทุกการตัดสินใจ และถ่ายทอดไปสู่คนรุ่นต่อไป เพื่อให้เกิดภูมิคุ้มกันต่อความเปลี่ยนแปลงในภูมิภาคและโลกในระยะยาว

ตอนท้าย นายกรัฐมนตรีกล่าวย้ำว่า ความมั่นคงอย่างยั่งยืนในภูมิภาคอินโดแปซิฟิกนั้น จะเกิดขึ้นได้ด้วยความร่วมมือ ร่วมใจของทุกคน ตลอดจนถ่ายทอดแนวความคิดดังกล่าวไปยังผู้ที่เกี่ยวข้อง และคนรุ่นต่อๆ ไป โดยจะจับมือกันและ “ก้าวไปข้างหน้าพร้อมกัน” เพื่อวางรากฐานให้ภูมิภาคของเรา มีสันติภาพ เสถียรภาพ และความรุ่งเรือง อย่างยั่งยืน