รื้อค่าน้ำภาคตะวันออก แยกตามพื้นที่ใช้น้ำ มีผล 1 ม.ค.ปีหน้า

รื้อค่าน้ำภาคตะวันออก แยกตามพื้นที่ใช้น้ำ มีผล 1 ม.ค.ปีหน้า

"อีสท์ วอเตอร์" เล็งปรับรูปแบบเก็บค่าน้ำตามพื้นที่ เริ่ม 1 ม.ค. 63 ตั้งเป้าทำกำไรเพิ่ม 5-15% ต่อปี ดันให้บริการน้ำอุตฯมากขึ้น ทุ่ม 2,200 ล้าน เชื่อมอ่างคลองหลวงเสร็จปีหน้า เดินหน้าบริการน้ำครบวงจร ทั้งปียิ่งแล้งยิ่งขายน้ำได้เพิ่ม

นายจิรายุทธ รุ่งศรีทอง กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท จัดการและพัฒนาทรัพยากรน้ำภาคตะวันออก จำกัด (มหาชน) หรืออีสท์ วอเตอร์ เปิดเผย ว่า ปี 2562 อีสท์ วอเตอร์ ยังเน้นดำเนินธุรกิจสู่การเป็นผู้นำของการให้บริการน้ำแบบครบวงจรของประเทศ ทั้งการบริการจัดหาแหล่งน้ำดิบ บริการด้านการลงทุนวางท่อน้ำดิบ และบริหารจัดการน้ำดิบให้เพียงพอต่อความต้องการของผู้ใช้น้ำ 

ตลอดจนการให้บริการด้านวิศวกรรมอย่างครบวงจร การให้บริการติดตั้งระบบบำบัดน้ำเสียที่เหมาะสมกับแต่ละธุรกิจ ควบคุมคุณภาพน้ำเสียขาออก และการให้บริการติดตั้งระบบน้ำรีไซเคิลโดยนำน้ำเสียที่บำบัดแล้วกลับมาใช้ใหม่ในระบบอุตสาหกรรม

นายจิรายุทธ กล่าวว่า อีสท์ วอเตอร์ได้ให้บริการน้ำอุตสาหกรรมในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) มีโครงการก่อสร้างระบบผลิตน้ำอุตสาหกรรมให้หลายพื้นที่ คือ 1.นิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ จ.ระยอง โดยมีเป้าหมายก่อสร้างระบบผลิตน้ำอุตสาหกรรมเสร็จในปี 2563 ปริมาณขั้นต่ำ 5.5 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) ต่อปี 2.โครงการก่อสร้างระบบผลิตน้ำอุตสาหกรรมให้โรงไฟฟ้ากัลฟ์ อ.ปลวกแดง จ.ระยอง โดยมีเป้าหมายก่อสร้างระบบผลิตน้ำอุตสาหกรรมเสร็จในปี 2564 ปริมาณเฉลี่ยสูงสุด 22 ล้าน ลบ.ม.ต่อปี

รื้อค่าน้ำภาคตะวันออก แยกตามพื้นที่ใช้น้ำ มีผล 1 ม.ค.ปีหน้า

3.โครงการงานระบบประปาและบำบัดน้ำเสียพื้นที่ท่าอากาศยานนานาชาติอู่ตะเภา ให้บริการน้ำครบวงจรทั้งน้ำประปา 20,000 ลบ.ม.ต่อวัน การบำบัดน้ำเสีย 16,000 ลบ.ม.และการนำน้ำกลับมาใช้ใหม่ 4,000 ลบ.ม.

4.โครงการให้บริการน้ำครบวงจร นิคมอุตสาหกรรมหลักชัยเมืองยาง ก่อสร้างระบบผลิตน้ำประปา 19,200 ลบ.ม. ต่อวันและก่อสร้างระบบบำบัดน้ำเสีย ที่กำลังการบำบัด 6,000 ลบ.ม.ต่อวัน 5.โครงการให้บริการบำบัดน้ำเสียบริษัทราชบุรีกล๊าส อินดัสทรี ให้บริการน้ำระบบบำบัดน้ำเสีย 1,000 ลบ.ม.ต่อวัน 6.โครงการให้บริการบำบัดน้ำเสียให้บริษัทอยุธยากล๊าส อินดัสทรี 3,000 ลบ.ม.ต่อวัน รวมถึงหาโอกาสธุรกิจในพื้นที่นอกอีอีซีด้วย

เตรียมแผนรับมือแล้ง

นอกจากนี้ กรมอุตุนิยมวิทยาคาดการณ์ช่วงครึ่งหลังของฤดูฝนปี 2562 จะมีฝนตกเพิ่มขึ้นในเดือน ส.ค.-ก.ย.นี้ จะมีพายุหมุนเขตร้อนเข้าไทย 1-2 ลูก โดยมีโอกาสสูงที่จะเคลื่อนผ่านภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ แต่ปริมาณฝนรวมตลอดฤดูฝนต่ำกว่าค่าปกติ 5-10% 

ทั้งนี้ อีสท์ วอเตอร์ มีมาตรการในการป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยแล้ง โดยการสูบผันน้ำจากอ่างเก็บน้ำประแสร์ไปยังอ่างเก็บน้ำคลองใหญ่ การสูบผันน้ำจากอ่างเก็บน้ำประแสร์ไปยังอ่างเก็บน้ำหนองปลาไหล เพื่อเพิ่มปริมาณน้ำและรักษาความสมดุลของอ่างเก็บน้ำผ่านโครงข่ายท่อส่งน้ำดิบความยาว 491.8 กิโลเมตร

นายจิรายุทธ กล่าวว่า ยังมีการใช้น้ำจากแหล่งน้ำเอกชนเข้ามาเสริมใน จ.ชลบุรีและฉะเชิงเทรา โดยสำรองน้ำจากแม่น้ำบางปะกงเข้าอ่างเก็บน้ำบางพระในเดือน ส.ค.-พ.ย.นี้ และประสานงานกับศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคตะวันออก กรมฝนหลวงและการบินเกษตร เพื่อปฏิบัติการฝนหลวงเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนให้เขื่อนหลักในภาคตะวันออก โดยดำเนินการเดือน ส.ค.-ต.ค.นี้

ปรับรูปแบบเก็บค่าน้ำ

ส่วนความต้องการใช้น้ำที่เพิ่มขึ้นจากการพัฒนาอีอีซี รวมทั้งการที่เป็นผู้บริหารจัดการน้ำที่มีโครงข่ายท่อส่งน้ำดิบครอบคลุมชายฝั่งทะเลภาคตะวันออกรายเดียว ทำให้ทริสเรทติ้งจัดอันดับให้อีสท์ วอเตอร์ คงอันดับเครดิตอยู่ที่ A+ รวมทั้งคาดการณ์ว่ารายได้ของอีสท์ วอเตอร์ จะเติบโต 5% ต่อปีในช่วง 2562-2564 โดยดูจากความต้องการใช้น้ำที่เพิ่มขึ้นจากอีอีซี ซึ่งอีสท์ วอเตอร์ มีแผนลงทุนเพิ่มใน 3 ปีข้างหน้า เช่น สร้างท่อส่งน้ำใหม่ พัฒนาสถานีสูบน้ำ และเสริมประสิทธิภาพเทคโนโลยีเพื่อการพัฒนาการบริหารจัดการน้ำ

ทั้งนี้ เพื่อให้การบริหารจัดการน้ำของอีส วอเตอร์สอดรับกับโครงสร้างภาษีใหม่ของ พ.ร.บ.น้ำ จึงมีแผนจะคิดอัตราการเก็บค่าน้ำใหม่เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.2563 ซึ่งจะเปลี่ยนรูปแบบจากเดิมที่จะกำหนดที่ 9.50-13 บาท หรือ เฉลี่ย 11 บาท ต่อ ลบ.ม.เป็นการคิดตามพื้นที่ใช้น้ำ เพราะมีต้นทุนการขนส่งที่ต่างกัน เช่น ระยองอัตราการใช้น้ำจะถูกกว่าเพราะมีต้นทุนการขนส่งที่ต่ำกว่าเมื่อเทียบกับชลบุรี

นายจิรายุทธ กล่าวว่า ผู้ใช้น้ำต้องระบุปริมาณการใช้น้ำแต่ละปีให้ถูกต้องและเมื่อส่งน้ำไปแล้วต้องนำไปใช้จริง เพื่อนำข้อมูลมาประเมินการจัดหาน้ำได้ถูกต้อง ซึ่งปัจจุบันผู้ใช้น้ำจะแจ้งปริมาณการใช้สูงกว่าความเป็นจริง ส่งผลให้อีส วอเตอร์มีต้นทุนจัดหาน้ำสูงด้วย ซึ่งการเปลี่ยนรูปแบบการเก็บค่าใช้น้ำจะส่งผลให้รายได้อีสท์ วอเตอร์เพิ่มขึ้นปีละ 5-15% 

ลงทุนเชื่อมอ่างน้ำ2พันล้าน

รวมทั้งลูกค้าที่เป็นนิคมอุตสาหกรรมเกิดใหม่จะเสนอรูปแบบเป็นน้ำครบวงจร ที่คุ้มประโยชน์มากกว่าการรับซื้อน้ำดิบแล้วนำไปบำบัด ส่วนนิคมอุตสาหกรรมที่เป็นลูกค้าเก่าอาจต้องใช้เวลาปรับเปลี่ยนระบบเนื่องจากเดิมได้กำหนดรูปแบบการบำบัดน้ำไว้ก่อนแล้ว

“อีสท์ วอเตอร์ ต้องการเป็นผู้ให้บริการน้ำที่ครบวงจร รวมทั้งได้ประเมินความต้องการใช้น้ำในแหล่งตะวันออกไว้สูงกว่าประมาณการความต้องการใช้จริงในช่วง 10-20 ปี ไว้ 10-20% โดยมีการบริหารจัดการน้ำจะเชื่อมอ่างเก็บน้ำ ดอกกราย หลองปลาไหลที่ จ.ระยอง งบประมาณ ปัจจุบันเสร็จแล้ว และเชื่อมกับอ่างฯคลองหลวงที่ จ.ชลบุรี บริเวณ อ.ปลวกแดง ใช้งบ 2,200 ล้านบาท เสร็จปี 2564 จะทำให้แหล่งน้ำดิบมีเสถียรภาพขึ้น“

สำหรับผลการดำเนินงาน 6 เดือนแรกปี 2562 มีรายได้จากการขายและบริการรวม 2,360 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 267 ล้านบาท หรือ 12.79% เมื่อเทียบช่วงเดียวกันกับปีที่แล้ว เพราะปริมาณนํ้าดิบจำหน่ายเพิ่มขึ้น และมีกำไรสุทธิ 609 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 4.97%

ส่วนรายได้จากลูกค้าแบ่งเป็น 4 กลุ่ม คือ นิคมอุตสาหกรรม 47% กลุ่มอุปโภคบริโภค 26% กลุ่มสวนอุตสาหกรรม 12% กลุ่มกิจการประปาของกลุ่มบริษัท 10% กลุ่มโรงงานทั่วไป 5%