สหรัฐตั้่งเป้า5ปีลดภัยไซเบอร์จากจีน

สหรัฐตั้่งเป้า5ปีลดภัยไซเบอร์จากจีน

นอกเหนือจากจีน ซีไอเอสเอ ยังให้ความสำคัญกับเรื่องอื่นๆ รวมถึงความปลอดภัยในการเลือกตั้ง, ความปลอดภัยทางไซเบอร์ของรัฐบาลกลางสหรัฐ และ การลดความเสี่ยงสำหรับระบบควบคุมอุตสาหกรรม

สำนักงานความปลอดภัยด้านไซเบอร์และโครงสร้างพื้นฐานของสหรัฐ (ซีไอเอสเอ) เปิดเผยแผนการดำเนินงานในช่วง 5 ปีข้างหน้า โดยระบุว่า จีนเป็นความเสี่ยงทางกลยุทธ์ที่ใหญ่ที่สุดของสหรัฐ ดังนั้น การดำเนินการที่สำคัญอันดับแรกของซีไอเอสเอได้แก่ การลดความเสี่ยงของจีนที่มีต่อห่วงโซ่อุปทานทั่วโลก รวมถึงเทคโนโลยี 5จี

ทั้งนี้ ซีไอเอสเอ รับผิดชอบในการป้องกันสาธารณูปโภคพื้นฐานที่สำคัญของสหรัฐ อาทิ ระบบการเลือกตั้ง และเครือข่ายการจัดส่งกระแสไฟฟ้า จากกลุ่มแฮคเกอร์ และภัยคุกคามความปลอดภัยอื่นๆ ทางด้านไซเบอร์

นอกเหนือจากจีน ซีไอเอสเอ ยังให้ความสำคัญกับเรื่องอื่นๆ รวมถึงความปลอดภัยในการเลือกตั้ง, ความปลอดภัยทางไซเบอร์ของรัฐบาลกลางสหรัฐ และ การลดความเสี่ยงสำหรับระบบควบคุมอุตสาหกรรม

นายคริสโตเฟอร์ เคร็บส์ ผู้อำนวยการซีไอเอสเอ ระบุว่าสำนักงานเป็นที่ปรึกษาด้านความเสี่ยงของชาติ ซึ่งทำหน้าที่ในการสนับสนุนให้หน่วยงานและบริษัทต่างๆ ดำเนินการให้ดีขึ้นในการจัดการความเสี่ยงต่อการโจมตีทางไซเบอร์

ปัจจุบัน ซีไอเอสเอ ให้บริการกับผู้จำหน่ายอุปกรณ์การเลือกตั้งเพื่อหาความเปราะบางที่เป็นไปได้ในระบบ และงานของซีไอเอสเอยังรวมถึงการปกป้องรัฐบาลแห่งรัฐและรัฐบาลท้องถิ่นจากการโจมตีของแรนซัมแวร์ซึ่งส่งผลกระทบต่อ 22 เมืองในรัฐเท็กซัสเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา

ช่วงปลายเดือนก.ค.ที่ผ่านมานายคริสโตเฟอร์ เวย์ ผู้อำนวยการสำนักงานสืบสวนกลางรัฐบาลสหรัฐ (เอฟบีไอ) ได้ชี้แจงต่อที่ประชุมคณะกรรมาธิการด้านยุติธรรมของวุฒิสภาสหรัฐว่า ปัจจุบัน จีนคือภัยคุกคามอันดับหนึ่งด้านการต่อต้านข่าวกรองของสหรัฐ

นายเวย์ กล่าวว่า ภัยคุกคามจากจีนนั้นทั้งลึกกว่า มีความหลากหลายและซับซ้อนมากกว่า มีความท้าทายและสร้างความกังวลมากกว่าภัยคุกคามด้านข่าวกรองจากทุกประเทศและเวลานี้เอฟบีไอกำลังสืบสวนคดีเกี่ยวกับการขโมยทรัพย์สินทางปัญญากว่า 1,000 คดีใน 50 รัฐทั่วสหรัฐ ซึ่งเกือบทั้งหมดเกี่ยวข้องกับจีน

นายเวย์ ระบุว่า ภัยคุกคามจากจีน ยังรวมถึงการโจมตีทางไซเบอร์ การฉ้อฉลภายในบริษัทอเมริกัน การจารกรรมข้อมูลทางธุรกิจ ตลอดจนการลอบส่งสายลัยเข้ามาปะปนในสถานศึกษาต่างๆ ในสหรัฐ เพื่อขโมยข้อมูลเกี่ยวกับงานวิจัยต่างๆ

แม้แต่กระทรวงกลาโหมของสหรัฐยังเตือนว่า สหรัฐอาจต้องเผชิญกับการโจมตีทางคอมพิวเตอร์ครั้งใหญ่ซึ่งเรียกว่าไซเบอร์ เพิร์ล ฮาร์เบอร์ หรือการโจมตีเครือข่ายคอมพิวเตอร์สหรัฐในลักษณะปูพรมแบบเดียวกับการโจมตีฐานทัพเรือสหรัฐที่อ่าวเพิร์ล ฮาร์เบอร์ ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2

นักวิเคราะห์หลายคนกล่าวหาว่า รัฐบาลจีนอยู่เบื้องหลังปฏิบัติการของเหล่านักล้วงข้อมูลหรือแฮกเกอร์ที่มีต้นตอมาจากจีน แต่ทางรัฐบาลจีนปฏิเสธข้อกล่าวหานั้นโดยบอกว่า คอมพิวเตอร์ของรัฐบาลจีนเองก็ตกเป็นเหยื่อของการโจมตีมากที่สุดในโลกเช่นกัน และว่าการที่การโจมตีมีที่มาจากจีนก็มิได้หมายความว่ารัฐบาลมีส่วนรู้เห็นต่อการโจมตีดังกล่าว