เปลือยสินค้าเพื่อโลก

เปลือยสินค้าเพื่อโลก

ซูเปอร์มาร์เก็ตหลายแห่งในนิวซีแลนด์และแอฟริกาใต้ เริ่มรณรงค์จัดเขต “นู้ดโซน” และ “อาหารเปลือยเปล่า" ที่ผักและผลไม้สดวางไว้อย่างเรียบง่าย

ว่ากันว่าพลังผู้บริโภคนั้นสำคัญมาก สามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงได้ ดูอย่างซูเปอร์มาร์เก็ตใหญ่ในอังกฤษนั่นประไร ทนแรงกดดันจากผู้บริโภครักสิ่งแวดล้อมไม่ไหว เริ่มเลิกใช้พลาสติกห่อสินค้า ท่ามกลางกระแสความกังวลเรื่องขยะพลาสติกล้นทะเล

ซูเปอร์มาร์เก็ตหลายแห่งในนิวซีแลนด์และแอฟริกาใต้ เริ่มรณรงค์จัดเขต “นู้ดโซน” และ “อาหารเปลือยเปล่า" ที่ผักและผลไม้สดวางไว้อย่างเรียบง่าย

ตอนนี้ร้านค้าปลีกในอังกฤษ ที่แม้แต่กล้วยหนึ่งหวีก็มักห่อพลาสติกเพื่อรักษาความสด ป้องกันความเสียหายระหว่างการขนส่งทางไกล ก็ต้องเอาอย่างประเทศอื่นๆ บ้างแล้ว

“ฉันเพิ่งเคยมาร้านค้าปลอดพลาสติกแห่งแรก มันแตกต่างมากเลย”เมย์ สเตอร์ลิงคุณแม่วัย 49 ปี ถือถุงผ้าของตนเองมาจับจ่ายซื้อของ เธอเดินทางมา 60 กิโลเมตร จากหมู่บ้านแรมส์เบอร์รีมายังเมืองออกซ์ฟอร์ด เพื่อร่วมมหกรรมสินค้าไร้หีบห่อ ที่ซูเปอร์มาร์เก็ตเวทโรส

ที่สาขาออกซ์ฟอร์ดขายผักและผลไม้ 160 ชนิด รวมถึงซีเรียล ธัญพืช คูสคูส(เมล็ดธัญพืชที่ได้จาก ข้าวสาลีหักเป็นเม็ดเล็กๆ สีน้ำตาลอ่อน ทำให้สุกโดยการหุงต้ม หรือแช่ในน้ำเดือดสัก 10-15 นาที คูสคูสจะพองตัวออก และนำมาปรุงอาหารได้) ถั่วเลนทิล ไวน์ เบียร์ และสินค้าอื่นๆ อีกมาก เบื้องต้นวางแผนทดลอง 11 สัปดาห์

“มาวันนี้ก็กะจะหาอะไรเพิ่มสัก 2-3 อย่างน่ะค่ะ” สเตอร์ลิงกล่าวเสริม เธอมาหาซีเรียลไร้หีบห่อเพิ่มเติมให้ลูกชาย

ความเป็นไปได้เชิงพาณิชย์

ปัจจุบันร้านค้าอังกฤษพึ่งพาพลาสติกอย่างมากในการขนส่ง เก็บสินค้า และขาย กรีนพีซและสำนักงานสอบสวนสิ่งแวดล้อมที่มีฐานปฏิบัติการในอังกฤษ รายงานไว้เมื่อเดือน พ.ย.2561 ว่าเครือร้านชำใหญ่สุดของประเทศ 10 ราย ผลิตหีบห่อพลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้งมากถึงปีละ 810,000 ตัน ตัวเลขนี้ยังไม่รวมถุงพลาสติก

บรรดาลูกค้ารักษ์โลก ที่ไม่ได้มีเพียงแค่สเตอร์ลิงก็ช่วยกันกดดันซูเปอร์มาร์เก็ตเวตโรสสาขาออกซ์ฟอร์ดให้หยุดสร้างมลพิษจากพลาสติกด้วย พวกเขาช่วยกันเขียนบนกระดานแสดงความคิดเห็นที่พนักงานจัดไว้ให้ เรียกร้องให้เวตโรสมีขวดรีฟิลเติมนมและผลิตภัณฑ์ทำความสะอาด

เวตโรสจึงต้องขยายการทดลองไปยังสาขาอื่นๆ เร็วๆนี้จะทำเพิ่มอีก 3 สาขา

อย่างไรก็ตาม เวตโรสยังไม่สรุปว่า เขตปลอดพลาสติกจะใช้ได้ผลทั้ง 344 สาขาทั่วอังกฤษหรือไม่

“ขณะที่เราให้ความสำคัญกับผลประโยชน์ด้านสิ่งแวดล้อม เราต้องมั่นใจว่า ทำได้ในเชิงพาณิชย์ด้วย”เจมส์ อาร์มสตรองโฆษกเวตโรสกล่าว

ไม่ใช่เรื่องยาก

การใช้พลาสติกห่อสินค้ามีต้นทุนถูกกว่าวัสดุทางเลือกอื่นๆ แล้วลูกค้าพร้อมจะจ่ายเพิ่ม เพื่อให้ร้านค้าใช้วัสดุเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมาห่อของหรือยัง

เรื่องนี้แม้แต่ฟราน สกอตต์ที่ปรึกษาการตลาดวัย 55 ปีก็ยังไม่แน่ใจ

“ฉันไม่รู้จริงๆ นะ แต่ก็จะลองดู” สกอตต์กล่าวขณะมาชอปปิงที่เวตโรส มือหนึ่งถือตะกร้าพลาสติกของตนเองมาใส่ของ

ขณะที่เครือซูเปอร์มาร์เก็ตใหญ่รายอื่นลงนามในข้อตกลงพลาสติกอังกฤษ ให้คำมั่นปฏิบัติตามหลักการ 4 ข้อ รวมทั้งเลิกใช้หีบห่อทำจากพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง แพ็กเกจที่เหลือต้องรีไซเคิลหรือย่อยสลายได้ภายในปี 2568

เทสโกและแอสดา ร้านค้าปลีกราคาประหยัดให้คำมั่นว่า การส่งสินค้าออนไลน์จะไม่ใช้พลาสติก

ด้านมอร์ริสันส์ 1 ใน 5 เครือซูเปอร์มาร์เก็ตใหญ่สุดของอังกฤษ เช่นเดียวกับเทสโกและแอสดา ตั้งใจทำเขตปลอดพลาสติกใน 60 สาขาภายในสิ้นปีนี้

ขณะที่ซูเปอร์อื่นๆ ไปไกลกว่านั้น เช่น บัดเจนส์ซูเปอร์ฯ รายเล็ก ก่อตั้งมา 147 ปี กับแฟรนไชส์เกือบ 250 สาขา ที่สาขาเบลไซส์ปาร์คในลอนดอน ได้ยกเลิกการใช้หีบห่อพลาสติกในสินค้ากว่า 2,300 ชนิดจาก 14,000 ชนิดไปแล้ว

“เราทำแบบนี้ก็เพื่อแสดงให้เครือซูเปอร์มาร์เก็ตใหญ่รายอื่นๆ รู้ว่า มันไม่ใช่เรื่องยากอย่างที่พูดๆ กัน” แอนดรูว์ ทอร์นตันเจ้าของร้านบัดเจนส์ทางตอนเหนือของกรุงลอนดอน กล่าวถึงการปรับเปลี่ยนที่ใช้เวลา 10 สัปดาห์

แต่สำหรับชีสตอนส่งก็ยังต้องห่อพลาสติกมา จากนั้นพนักงานในร้านค่อยมาตัดแบ่งเป็นชิ้นเล็กๆ แล้วใช้แผ่นพลาสติกบางทำจากอ้อยห่ออีกครั้ง

“ถ้าซูเปอร์ฯ ใหญ่ทั่วโลกเริ่มทำแบบนี้ที่ร้านของตัวเอง แล้วช่วยกันกดดันผู้ผลิตรายใหญ่ ทุกสิ่งทุกอย่างจะเปลี่ยนแปลงไป” ทอร์นตันกล่าว

สุดยอดวัสดุ

มาร์ก มิโอดาวนิกนักวัสดุศาสตร์จากยูนิเวอร์ซิตี้คอลเลจลอนดอน กล่าวว่าพลาสติกตกเป็นเหยื่อของตัวแบบธุรกิจโลก ที่เน้นการบริโภค ใช้แล้วทิ้ง ปัญหาส่วนหนึ่งมาจากการทำตลาดพลาสติกช่วงทศวรรษ 60 ที่สร้างภาพว่า พลาสติกคือสัญลักษณ์ของความทันสมัยใช้งานได้จริง

พลาสติกคือวัสดุอันยอดเยี่ยม” เขากล่าวพร้อมชี้ถึงประโยชน์ของวัสดุในโรงพยาบาล ท่อ และเครื่ื่องมือเทคโนโลยี ทั้งยังมีประโยชน์ในการห่อสิ่งของได้ด้วย แต่ต้องสามารถรีไซเคิลได้ดีเท่านั้น

สำนักงานมาตรฐานอาหารอังกฤษรายงานว่า พลาสติกลดการสัมผัสอากาศและความชื้น ยืดอายุสินค้า และช่วยลดอาหารเน่าเสีย

แต่ริชาร์ด เบรดีลูกค้าในร้านบัดเจนส์ ยังคงรู้สึกผิดที่ถือซูชิในกล่องพลาสติก

“ก็จะให้ทำไงล่ะครับ ผมต้องซื้อเพราะภรรยาหิว ก็ต้องขึ้นอยู่กับซูเปอร์มาร์เก็ตล่ะนะ ที่จะเป็นคนเปลี่ยนแปลง จริงมั้ยครับ”