'ผู้ตรวจฯ' เร่งสรุปคำชี้แจง 'ประยุทธ์' ปมถวายสัตย์ไม่ครบ

'ผู้ตรวจฯ' เร่งสรุปคำชี้แจง 'ประยุทธ์' ปมถวายสัตย์ไม่ครบ

"สำนักงานผู้ตรวจฯ" เร่งสรุปคำชี้แจง "ประยุทธ์" ปมถวายสัตย์ไม่ครบ เสนอให้ที่ประชุมลงมติ 27 ส.ค. เผย "นศ.รามฯ" ร้องเสริม ระบุหากถวายสัตย์ไม่ครบ ทำรัฐบาลโมฆะ ถือว่าปชช.ถูกละเมิดสิทธิเสรีภาพ เสียประโยชน์

เมื่อวันที่ 24 ส.ค.62 นายรักษเกชา แฉ่ฉาย เลขาธิการสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน กล่าวถึงการประชุมผู้ตรวจการแผ่นดินในวันที่ 27 ส.ค.นี้ ซึ่งจะมีการพิจารณาคำร้องกรณี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวถวายสัตย์ปฏิญาณตนก่อนเข้าปฏิบัติหน้าที่ไม่ครบถ้วนตามรัฐธรรมนูญมาตรา 161 เข้าข่ายเป็นการกระทำขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ ว่า ขณะนี้ทางสำนักงานฯได้รับคำชี้แจงของพล.อ.ประยุทธ์แล้ว สำนักงานฯกำลังเร่งสรุปประเด็นเพื่อเสนอให้ที่ประชุมผู้ตรวจฯได้พิจารณา ซึ่งก็เป็นดุลพินิจของผู้ตรวจฯว่าจะมีความเห็นหรือมีมติอย่างไร

นายรักษเกชา กล่าวอีกว่า คำร้องเกี่ยวกับการถวายสัตย์ไม่ครบถ้วนนั้น นอกจากจะมีการร้องของนายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย และนายอัยย์ เพชรทอง เลขาธิการองค์กรปกป้องพระพุทธศาสนาเพื่อสันติภาพแล้ว เมื่อวันที่ 20 ส.ค. ที่ผ่านมา นายภาณุพงศ์ ชูรักษ์ นักศึกษามหาวิทยาลัยรามคำแหง ก็ได้ยื่นคำร้องขอให้ผู้ตรวจการแผ่นดิน พิจารณาประเด็นเดียวกันโดยขอให้ส่งเรื่องพร้อมความเห็น ให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย แต่นายภาณุพงศ์เห็นว่านอกจากนายกรัฐมนตรีถวายสัตย์ไม่ครบถ้วน อาจขัดรัฐธรรมนูญแล้ว ก็มีผลทำให้การกระทำในเวลาต่อมาของรัฐบาล เช่นการตั้งคณะรัฐมนตรี การแถลงนโยบาย การโยกย้ายข้าราชการเป็นโมฆะไปด้วย และตัวนายภานุพงศ์ในฐานะประชาชนที่จะได้รับประโยชน์จากโครงการต่างๆที่รัฐบาลหรือรัฐมนตรีได้แถลงนโยบาย หรือให้คำมั่นสัญญาเมื่อเข้าปฏิบัติหน้าที่ในกระทรวงต่างๆ ก็จะไม่ได้รับการปฏิบัติ ตามที่รัฐบาลหรือรัฐมนตรีระบุไว้ จึงถือว่าตนเองถูกละเมิดสิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ

“แม้คำร้องดังกล่าว จะเป็นการร้องเสริมในเรื่องของการที่บุคคลถูกละเมิดสิทธิเสรีภาพ ทางสำนักงานก็เห็นว่าสามารถที่จะนำคำร้องดังกล่าวเสนอผู้ตรวจการแผ่นดินพิจารณาในคราวเดียวกันได้เนื่องจากประเด็นที่ร้องนั้นมีความเชื่อมโยงกัน โดยเท่าที่ทราบจากเจ้าหน้าที่ ข้อมูลต่างๆที่ทางสำนักงานได้รับในขณะนี้ถือว่าค่อนข้างครบถ้วนเพียงพอที่ประชุมผู้ตรวจการแผ่นดินในวันที่ 27 ส.ค.จะพิจารณาให้ได้ข้อยุติ น่าจะไม่ต้องมีการขอให้หน่วยงานใดชี้แจงอีก”นายรักษเกชากล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าในวันที่ 27 ส.ค. ที่ประชุมผู้ตรวจการแผ่นดิน จะพิจารณา คำร้องที่ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์เตมียเวส หัวหน้าพรรคเสรีรวมไทยร้อง ขอให้ส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าการที่นายชวน หลีกภัย ประธาน รัฐสภารวบรัดการประชุมสภาผู้แทนราษฎรและประชุมรัฐสภา เพื่อคัดเลือกนายกรัฐมนตรีเป็นการกระทำที่ขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ด้วย