'กัญจนา' นำทีม ทำบุญอุทิศส่วนกุศล 'มาเรียม-ยามีล' วอนสังคมลด-ละ-เลิกขยะพลาสติก

'กัญจนา' นำทีม ทำบุญอุทิศส่วนกุศล 'มาเรียม-ยามีล' วอนสังคมลด-ละ-เลิกขยะพลาสติก

"กัญจนา" พร้อมด้วยทีมแพทย์ และกลุ่มคนรักมาเรียม ทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้ "มาเรียม-ยามีล-โฮป-วาฬหัวทุยแคระ" ที่เสียชีวิตจากการกินพลาสติก วอนสังคม "ลด-ละ-เลิกขยะพลาสติก"

เมื่อวันที่ 24 ส.ค.62 ที่วัดกัลยาณมิตร น.ส.กัญจนา ศิลปอาชา หัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา (ชทพ.) พร้อมด้วยนายธัญญา เนติธรรมกุล อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช สัตวแพทย์หญิงนันทริกา ชันซื่อ ผู้อำนวยศูนย์วิจัยโรคสัตว์น้ำ คณะสัตวแพทย์ศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และทีมสัตวแพทย์ที่ดูแลรักษาปฐมพยาบาลมาเรียม เจ้าหน้าที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ร่วมกันทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้กับมาเรียม พะยูนน้อยเกาะลิบง พะยูนยามีล และโฮปลูกวาฬหัวทุยแคระ โดยได้นิมนต์พระสงฆ์ 10รูป สวดพระพุทธมนต์ ก่อนที่จะร่วมกันถวายผ้าบังสกุล จตุปัจจัยไทยธรรม ให้พระสงฆ์สวดบังสกุล ทั้งนี้บรรยากาศภายในงานได้นำรูปมาเรียม พะยูนที่เสียชีวิตลง มาวางไว้พร้อมด้วยตุ๊กตารูปพะยูนที่เขียนชื่อ มาเรียม นอกจากนี้ยังมีรูปยามีน พะยูนที่เสียชีวิตและโฮป วาฬหัวทุยแคระที่เสียชีวิตไปก่อนหน้านี้

10446951631011

น.ส.กัญจนา กล่าวว่า วัตถุประสงค์ของการมาทำบุญในวันนี้เพื่ออุทิศส่วนกุศลให้กับพะยูนและสัตว์ทะลอื่น ที่เสียชีวิตแล้วรวม 17 ตัว ซึ่งมาเรียมและยามีล เป็นสัญลักษณ์ของสัตว์ทะเลและเป็นเหมือนลูกหลาน ที่ต้องตายเพราะการกระทำของมนุษย์ ซึ่งจากการผ่าชันสูตรพบถุงพลาสติกอยู่ในท้องจำนวนมาก จึงต้องตระหนักว่าจะต้องทำอย่างไรเพื่อไม่ให้เกิดปัญหานี้ขึ้นอีก โดยยอมรับว่าการลดละเลิกใช้ถุงพลาสติกเป็นเรื่องยาก พร้อมยกตัวอย่างพ่อค้าแม่ค้า ที่ใช้ไม่รู้จะเริ่มอย่างไรเพราะยังจำเป็นต้องใช้อยู่เนื่องจากวัสดุธรรมชาติมีต้นทุนที่สูงกว่าดังนั้น จึงต้องกระตุ้นเตือนพฤติกรรมของตัวเองและครอบครัวรวมถึงจะเสนอให้รัฐบาล ต้องเข้ามาช่วยเหลือเรื่องต้นทุน ด้วยการหานวัตกรรมผลิตผลิตภัณฑ์ที่ย่อยสลายได้มาทดแทนให้ และในส่วนของพรรคชาติไทยพัฒนา จะเริ่มที่ ส.ส.สมาชิกพรรคทุกคน ให้ร่วมรณรงค์ลด ละ เลิก การใช้พลาสติก รวมถึงพฤติกรรมการจัดการขยะ การจากไปของมาเรียมจะไม่สูญเปล่าและพยายามที่จะลดการใช้ถุงพลาสติก

10446952477544

ด้านสัตวแพทย์หญิงนันทริกา กล่าวถึงแผนการยื้อชีวิต สัตว์ทะเลที่มาเกยตื้น  ว่า สิ่งที่เกิดขึ้นโดยเฉพาะกรณีของมาเรียมและยามีล จะต้องนำมาถอดบทเรียน ว่าอะไรที่เหมาะสมแล้ว และอะไรที่จะต้องพัฒนาให้ดีขึ้นกว่าเดิม โดยแพทย์ที่ดูแลในด้านนี้ 27  คน จะมีการหารือกับอธิบดี ทรัพยากรทางทะเล​และชายฝั่ง เพื่อจัดทำคู่มือการทำงานเมื่อเกิดเหตุสัตว์ทะเลเกยตื้น ให้เร็วที่สุด สำหรับแผนงานเบื้องต้น​ คิดว่าจะต้องจัดทำเป็นสถานีย่อยรักษาสัตว์ทะเลเกยตื้นใกล้ชาดฝั่ง โดยจะทำบ่อบริบาล​ให้มีความเป็นธรรมชาติที่สุด ก่อนที่จะตัดสินใจปล่อยลงสู่ทะเล เพราะการเคลื่อนย้ายบ่อยจะทำให้สัตว์ทะเลเกิดความเครียด ทั้งนี้ในส่วนของงบประมาณก็ถือเป็นอุปสรรคในการช่วยเหลือ แต่ก็ถือว่าเป็นเรื่องปกติเพราะไม่สามารถคาดการณ์ได้ว่า พะยูนหรือสัตว์ทะเลจะมาเกยตื้นใน 1 ปีกี่ตัว แต่ก็ยังดีที่มีกองทุนช่วยชีวิตสัตว์น้ำที่ เคยเปิดรับบริจาคเป็นเวลา 2 วัน ก็มีจำนวนเงินประมาณ 1.7 ล้านบาท ที่สามารถใช้จ่ายได้ รวมถึงหน่วยงานต่างๆก็เข้ามาช่วยเหลือ ส่วนในอนาคตคงต้องหารือกันว่าจะต้องทำอย่างไร

10446954849048

"ยอมรับว่าสัตว์ที่มาเกยตื้นจะมีอัตราการรอดเพียง 1 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น และการรักษาจะต้องดูจากอาการจริงและโรคที่แทรกซ้อนด้วย ส่วนสาเหตุสำคัญก็เกิดจากฝีมือมนุษย์ทั้งสิ้น แม้จะเป็น ขยะเพียงชิ้นเดียว แต่ก็เป็นชิ้นเดียวที่ฆ่าชีวิต " สัตวแพทย์หญิงนันทริกา

10446954969899