การเมืองป่วนนักศึกษาจีนต่างแดน

การเมืองป่วนนักศึกษาจีนต่างแดน

ตอนนี้ถ้าใครไปตั้งคำถามกับนักศึกษาจีน 1 ในหลายแสนคนที่กำลังศึกษาอยู่ในออสเตรเลีย ว่าคิดอย่างไรกับฮ่องกง ก็อาจจะพบกับความหวาดวิตก หรือไม่ก็เงียบไปเฉยๆ คำถามนี้กลายเป็นความน่าหวาดหวั่นสำหรับนักศึกษา

จะว่าไปแล้วฮ่องกงห่างจากออสเตรเลียขนาดนั่งเครื่องบิน 9 ชั่วโมง แต่นักศึกษาจีนที่นี่กลับหลีกเลี่ยงความตึงเครียดไม่ได้

นักศึกษาทั้งฝ่ายหนุนประชาธิปไตยและหนุนรัฐบาลปักกิ่งในดินแดนดาวน์อันเดอร์ ปะทะกัน ด่าทอกัน และขู่ฆ่ากันจริงๆ รวมทั้งลามไปถึงในโซเชียลมีเดีย

นักศึกษาจีนส่วนใหญ่จึงขอตัวไม่พูดในประเด็นนี้ถ้าถูกถาม เพราะอันตรายเกินไป บางคนก็กล้าพูดถ้าไม่เปิดเผยตัวตนต่อสาธารณะ เช่นแอนดี้นักศึกษาจากเมืองหนึี่งของจีน อยู่ห่างจากฮ่องกงเดินทางเพียง 2 ชั่วโมง เล่าว่า เขาและเพื่อนร่วมชาติหลายคนไม่อยากจะยุ่งกับทั้งสองฝ่าย

“เรามาที่นี่เพื่อมาหาความรู้ ไม่ได้มาประท้วง เราไม่อยากยุ่งกับเรื่องที่ทำให้การเรียนสะดุด”

แอนดี้เสียใจกับเหตุโกลาหลในฮ่องกง และสงสัยว่าอาจมีกองกำลังต่างชาติมายุให้แบ่งแยกดินแดน ทัศนะนี้ใกล้เคียงกันมากกับการโฆษณาชวนเชื่อของพรรคคอมมิวนิสต์จีน

“มันช็อกมากสำหรับผม ถ้าจะมีคนจีนบางคนไปโบกธงชาติอื่น” แอนดี้กล่าวถึงธงชาติอังกฤษและสหรัฐ ที่โผล่มากลางวงประท้วง

แต่เขายังเชื่อว่า สำหรับคนที่เห็นต่างก็มีสิทธิประท้วงได้ และรัฐบาลรวมทั้งปักกิ่ง บางครั้งก็ทำผิด

จอห์นสันนักศึกษาฮ่องกง ผู้กำลังศึกษาอยู่ในมหาวิทยาลัยนิวเซาท์เวลส์ นครซิดนีย์ กล่าวว่า ตอนนี้ชาวจีนกำลังแตกเป็น 2 ขั้ว ตอบโต้กันเผ็ดร้อนมาก นักศึกษาถูกคาดหวังให้เข้าข้างใดข้างหนึ่ง ไม่สนับสนุนผู้ประท้วงก็ต้องเชียร์รัฐบาลและเห็นด้วยกับทุกสิ่งที่รัฐบาลทำ ขึ้นอยู่กับว่านักศึกษากำลังคุยอยู่ฝ่ายไหนโดยเฉพาะแรงกดดันให้นักศึกษาสนับสนุนการประท้วง อย่าวิจารณ์ผู้ประท้วงโดยไม่คำนึงว่า เจ้าตัวมีความคิดเห็นอย่างไร

ขณะเดียวกัน นักศึกษาฝ่ายหนุนฮ่องกงก็ถูกฝ่ายตรงข้ามคุกคามโดยตรง ขุดชื่อ นามสกุล ที่อยู่ไปเผยแพร่บนโลกออนไลน์

มหาวิทยาลัยทั้งหลายในออสเตรเลียก็ระวังตัวไม่อยากเข้าไปยุ่ง พวกเขาได้ค่าเทอมหลายพันล้านดอลลาร์จากนักศึกษาจีนแผ่นดินใหญ่ และเงินสนับสนุนอีกหลายล้านดอลลาร์จากรัฐบาลจีน มาทำโครงการ “สถาบันขงจื๊อ” ที่เจอเสียงครหาหนาหู

นักวิจัยนาม“ซัลวาโตเร บาบูเนส”ศึกษาพบว่า เฉพาะมหาวิทยาลัยซิดนีย์แห่งเดียว ปี 2560 ปีเดียว มีรายได้จากนักศึกษาจีนถึง 500 ล้านดอลลาร์

ปักกิ่งจึงได้โอกาสพูดเป็นนัยว่า ระวังนักศึกษาจะมาเรียนออสเตรเลียน้อยลง ยิ่งทำให้มหาวิทยาลัยกังวลว่าตนเองกำลังถูกดึงมาเป็นหมากทางการเมืองนี้ด้วย

เจมส์ ลอเรนสันจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีซิดนีย์ กล่าวว่า นักศึกษาจีนกำลังถูกบีบคั้นมาก

“ถ้าพวกเขาแสดงความเห็นไม่สนับสนุนการประท้วงฮ่องกง ก็จะถูกตราหน้าว่าเป็นสมุนพรรคคอมมิวนิสต์จีน ในทางกลับกันคนที่เชียร์ฮ่องกงก็กลัวว่าจะถูกเพื่อนหัวชาตินิยมวิจารณ์”

ลอเรนสันมองว่า สถานการณ์แบบนี้ก็สมควรน่ากังวล เพราะต่างฝ่ายต่างถูกเพื่อนหรือตัวแทนพรรคคอมมิวนิสต์จับตา

“เพื่อนในแวดวงวิชาการของผมบอกว่า เกิดเรื่องแบบนี้แล้ว มีรายงานว่านักศึกษาจีนในออสเตรเลียที่แสดงความเห็นแตกต่างจากจุดยืนของพรรค จะถูกเจ้าหน้าที่ไปเยี่ยมบ้านและเชิญพ่อแม่มาดื่มน้ำชา”

แต่นักวิจัยก็เตือนด้วยว่า นักศึกษาจีนแผ่นดินใหญ่ก็ต้องถูกกล่าวหาด่าทอหนักมากเหมือนกัน เพราะการกระทำของนักศึกษาชาตินิยมไม่กี่คนที่ไปฉีกโปสเตอร์ของฝ่ายหนุนประชาธิปไตย และข่มขู่ผู้ประท้วง

“เหตุที่เกิดขึ้นทั้งหมดเป็นฝีมือของคนราว 20-30 คน เท่ากับว่าคนที่มีแนวคิดชาตินิยมสุดๆ มีเพียงไม่กี่คนเท่านั้นเอง”

ส่วนที่ฮ่องกงถึงวันศุกร์ก็เป็นวันที่ต้องเริ่มต้นประท้วงใหญ่สุดสัปดาห์กันอีกครั้ง วานนี้ (23 ส.ค.)กลุ่มผู้จัดการชุมนุมนัดหมายระดมพลังเดินทางไปสนามบินด้วยวิธีการต่างๆ นานา ไม่ว่าจะเป็นใช้รถใต้ดิน รถบัสสนามบิน แท็กซี่ จักรยาน และลดส่วนตัวเพื่อให้การคมนาคมติดขัด หลังจากศาลสั่งห้ามไม่ให้เข้าไปชุมนุมในสนามบิน

ส่วนการท่าอากาศยานฮ่องกงตอบโต้การชุมนุม ด้วยการลงโฆษณาครึ่งหน้าในหนังสือพิมพ์ใหญ่หลายฉบับ เรียกร้องให้คนหนุ่มสาว “รักฮ่องกง” และว่า การท่าอากาศยานฯ คัดค้านการปิดสนามบิน และจะทำทุกอย่างให้การบริการดำเนินไปอย่างราบรื่น

การนัดชุมนุมวันศุกร์ (23 ส.ค.) ยังรวมถึงนักบัญชีเดินขบวนไปยังที่ทำการรัฐบาล และการคล้องแขนกันเป็นโซ่มนุษย์ในหลายจุดช่วงเย็น

เคนเนธ เหลียง ส.ส. เผยว่า เจ้านายหลายคนไม่อยากยุ่งการเมือง แต่อย่างไรเสียการเมืองก็มายุ่งกับทุกคนอยู่ดี

“เราเคยติดอันดับเขตเศรษฐกิจเสรีที่สุดของโลกมาเกือบ 20 ปี แล้วเรารักษาอันดับไว้ได้มั้ย ไม่เลย จบแล้ว ค่านิยมหลักของเราคือศักดิ์ศรีและความซื่อสัตย์ เราจำเป็นต้องยึดมั่นกับค่านิยมสากลนี้” ส.ส.กล่าวและว่า ผู้มาร่วมเดินขบวนกับนักบัญชีวานนี้มี 5,000 คน