ทช. เผยสาเหตุการตายพะยูน 'ยามีล' แห่งทะเลอันดามัน

ทช. เผยสาเหตุการตายพะยูน 'ยามีล' แห่งทะเลอันดามัน

ทช.เผยสาเหตุการตายลูกพะยูน "ยามีล" แห่งทะเลอันดามัน พบแผลอักเสบในกระเพาะอาหาร

นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า ย้อนกลับไปช่วงวันที่ 1 ก.ค. 62 ศูนย์วิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทะเลอันดามัน ร่วมกับสำนักงานบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ 9 (จ.ภูเก็ต) รับแจ้งพบลูกพะยูนตัวใหม่ ซึ่งตัวนี้เล็กกว่ามาเรียม พลัดหลงจากแม่เกยตื้นในพื้นที่บริเวณบ้านบ่อม่วง ต.ทรายขาว อ.คลองท่อม จ.กระบี่ โดยมีชาวบ้านในพื้นที่บ้านบ่อม่วงและเจ้าหน้าที่ศูนย์ควบคุมการแจ้งเข้า - ออกเรือประมง จ.กระบี่ ร่วมกันให้การดูแลเบื้องต้นก่อนที่เจ้าหน้าที่จะเข้าช่วยเหลือ

จากการตรวจสอบในเบื้องต้น เป็นลูกพะยูน เพศผู้ อายุเพียง 3 เดือน ความยาว 111 ซม. รอบตัว 66 ซม. น้ำหนักประมาณ 25 กก. มีสภาพอ่อนแรง และอิดโรยมาก ไม่สามารถประคองตัวได้ ตามตัวมีบาดแผลจำนวนมาก ในขั้นแรกได้ป้อนนมไปแล้ว 100 ซีซี และน้ำ 200 ซีซี เมื่อประเมินสภาพเจ้าตัวน้อยแล้ว ต้องนำไปพักฟื้นที่ศูนย์ช่วยชีวิตสัตว์ทะเลหายากภูเก็ต สำหรับการดูแลด้านสุขภาพทีมสัตวแพทย์ได้ให้นมผงทดแทนในลูกสัตว์ ผสมวิตามินและพลังงาน

10443074025851

ทั้งนี้ ยามีลอยู่ภายใต้การดูแลของกรม ทช. ในบ่อเลี้ยงแบบปิดอย่างใกล้ชิดจากทีมสัตวแพทย์ ที่มีความรู้และเชี่ยวชาญในทุกๆ ด้าน พร้อมทั้งยังได้มีการติดตั้งกล้องวงจรปิด เพื่อติดตามพฤติกรรมของน้องยามีล ตลอด 24 ชั่วโมง โดยการดูแลยามีลเป็นงานที่เหนื่อยและยากลำบาก ต้องใช้องค์ความรู้ทางด้านวิชาการ แต่เจ้าหน้าที่และทีมสัตวแพทย์ก็ได้พยายามดูแลยามีลตลอดมาอย่างเต็มที่สุดความสามารถ ด้วยความรักและความผูกพันที่มีต่อยามีลเหมือนลูกของตัวเอง

นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวต่อว่า ในนามกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ขอกราบพระบาทสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตน ราชกัญญา ทรงรับลูกพะยูนตัวที่เกยตื้นไว้ในโครงการอนุรักษ์แนวปะการังและสิ่งมีชีวิตใต้ทะเลไทย ในพระดำริสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตน ราชกัญญา และทรงพระราชทานชื่อให้แก่พะยูนเกยตื้นตัวที่พบในพื้นที่จังหวัดกระบี่ว่า “ยามีล” ซึ่งแปลเป็นภาษายาวีมีความหมายว่า “ชายรูปงามแห่งท้องทะเล”

10443074060775

ด้าน นายก้องเกียรติ กิตติวัฒนาวงศ์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ทะเลอันดามัน (ภูเก็ต) กล่าวว่า พะยูนยามีลเริ่มมีอาการป่วยตั้งแต่วันที่ 19 สิงหาคม 2562 โดยพบอาการว่ายอย่างเร็ว และมีการหมุนตัว ทีมสัตวแพทย์เฝ้าสังเกตอาการ และพบว่าช่วงประมาณ 22.00 - 24.00 น. มีการลอยตัวเพิ่มขึ้น ทีมแพทย์ให้ยาลดอาการอักเสบร่วมกับยากระตุ้นทางเดินอาหาร ทำให้ยามีลมีอาการดีขึ้นชั่วขณะ แต่ยามีลยังมีอาการเกร็งท้องและเพิ่มมากขึ้นในช่วงเช้า วันที่ 20 สิงหาคม 2562 เวลา 07.00 น. ได้ให้ยาลดปวดพร้อมสอดท่อระบายแก๊ส แต่อาการปวดไม่ลดลง จึงให้ยาลดปวดที่มีฤทธิ์สูงขึ้น พร้อมกับให้ยาปฎิชีวนะต่อเนื่อง จนเวลา 11.00 น. ได้ทำการ ultra sound พบแก๊สสะสมในบริเวณลำไส้และไม่พบการเคลื่อนตัวของลำไส้ เวลา 17.00 ให้ยาซึมและทำการ x-ray พบลำไส้เล็กมีการสะสมของแก๊สเป็นจำนวนมาก กระเพาะอาหารมีอาหารอยู่ เวลา 18.00 น. ได้ทำการ x-ray โดยให้กลืนสารทึบแสง

พบว่าอาหารในกระเพาะยังไม่มีการเคลื่อนตัว เช่นเดียวกับแก๊สทีอุดตันบริเวณลำไส้เล็ก จากภาพ x-ray ยังไม่เห็นการปิดกั้นของวัตถุแปลกปลอม วันที่ 21 สิงหาคม 2562 เวลา 07.00 ยามีลยังมีอาการปวดเกร็งบริเวณท้อง เจ้าหน้าที่ทำการ x-ray อีกครั้งในช่วงเช้า พร้อมให้ยาลดอาการปวด ต่อมาเวลา 07.30 น. ยามีล มีอาการหัวใจเต้นช้าลงเนื่องจาก Nerve log จากการบิดของลำไส้ ทีมแพทย์พยายามระบายแก๊สออกโดยใช้ท่อสอดระบายแก๊สทางปากร่วมกับการสวนทวาร และคงการให้ยาปฏิชีวนะร่วมกับกระตุ้นการทำงานของทางเดินอาหาร พร้อมกับให้ยาแก้ท้องอืดท้องเฟ้อ ยาลดอาการปวด ร่วมกับการนวดและประคบร้อน และเฝ้าระวังสัญญาณชีพตลอด 24 ชั่วโมง ยามีลมีภาวะความเสี่ยงในการเกิดภาวะช๊อคจากความปวดได้ โดยมีทีมเจ้าหน้าที่ช่วยกันพยุงตัวยามีลในน้ำ ต่อมาเวลา 18.58 น. ทีมแพทย์จากโรงพยาบาลวชิระภูเก็ต ประกอบด้วยหมอเด็ก หมอศัลยกรรม หมอดมยาสลบ และหมอผู้เชี่ยวชาญด้านการ x-ray ร่วมปรึกษากับทีมสัตวแพทย์ของศูนย์วิจัยโรคสัตว์น้ำ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และสัตวแพทย์กรม ทช. รวม 12 คน ร่วมกันวินิจฉัยอาการโรคของยามีลและแนวทางการรักษา โดยสาเหตุการป่วยยามีล เกิดจากสภาวะลำไส้หยุดทำงาน ซึ่งพบได้ในเด็ก (คน) เป็นอาการที่ลำไส้ไม่มีการเคลื่อนตัว ทำให้อาหารในระบบทางเดินอาหารไม่เคลื่อนที่ จึงเกิดการสะสมและเกิดการสร้างแก๊สขึ้นในระบบทางเดินอาหาร แก๊สที่เกิดขึ้นทำให้ผนังลำไส้บางลง เกิดการแตกของเส้นเลือดฝอยทำให้เกิดการติดเชื้อตามมา

นอกจากนี้แก๊สที่เกิดขึ้นยังส่งผลกระทบไปดันบริเวณปอดทำให้เกิดการหายใจติดขัด ทีมแพทย์พยายามระบายอาหารที่เป็นของแข็งออกจากส่วนของกระเพาะและลำไส้ ร่วมกับการให้สารอาหารและเกลือแร่ประเภทของเหลว และยาปฎิชีวนะอย่างต่อเนื่อง แต่ยามีลมีอาการคงที่ มีอาการปวดเกร็งในบางครั้ง อาการโดยรวมค่อนข้างสงบ แต่ต้องมีทีมเจ้าหน้าที่ช่วยพยุงภายในบ่อตลอด 24 ชั่วโมง

10443074087798

นายก้องเกียรติ กิตติวัฒนาวงศ์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ทะเลอันดามัน (ภูเก็ต) กล่าวต่อไปว่า วันที่ 22 สิงหาคม 2562 เวลา 07.20 น. ยามีลยังมีการสะสมของแก๊สในกระเพาะอาหารและบริเวณลำไส้ ช่วงเช้ายามีลมีอัตราการเต้นหัวใจสูงและมีการชักเกร็ง จึงให้ยาช่วยลดอาการปวดและยาซึม จากผลการ x-ray พบว่าอาหารส่วนที่เป็นของเหลวสามารถเคลื่อนที่ผ่านระบบทางเดินอาหารได้ แนวทางการรักษาได้เอาอาหารซึ่งเป็นหญ้าทะเลออกจากกระเพาะเพื่อลดการหมักหมม และให้สารน้ำและเกลือแร่ผ่านทางท่อให้อาหาร ร่วมกับการใช้ยาปฎิชีวนะ จนกระทั่งเวลา 17.00 น. ทีมแพทย์โรงพยาบาลวชิระภูเก็ตร่วมกับทีมสัตวแพทย์กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ได้นำตัวยามีลไปทาการรักษาที่โรงพยาบาลวิชระภูเก็ต เพื่อทำการผ่าตัดโดยใช้กล้อง Endoscope นำก้อนหญ้าทะเลที่อัดแน่นในบริเวณกระเพาะอาหารออก ซึ่งการอัดแน่นของหญ้าทะเลเกิดจากสภาวะลำไส้หยุดทำงาน ต่อมาเวลา 20.35 น. ได้นำตัวยามีลไปทำหัตถการที่โรงพยาบาลวชิระภูเก็ต

โดยได้รับความอนุเคราะห์จากทีมแพทย์ด้านศัลยกรรมกาสโตโดสโคบ (gastro scope) และการทำซีทีสแกน (CT scan) ซึ่งผลจากการทำซีทีสแกนพบการอักเสบของปอด มีกลุ่มก้อนหญ้าทะเลในบริเวณกระเพาะ จึงทำการสอดท่อกล้องตรวจภายในและฉีดน้ำสลายการเกาะแน่นของหญ้าทะเล จากนั้นจึงเริ่มดูดออกได้ประมาณ 30% จากนั้นได้ทำการทยอยล้างออกวันต่อไป ใช้เวลาการทำหัตถการรวม 1.5 ชั่วโมง หลังจากนั้นได้ทำการขนย้ายยามีลกลับมาพักฟื้นยังบ่ออนุบาลของศูนย์วิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทะเลอันดามัน โดยมีทีมเจ้าหน้าที่เฝ้าระวังสัญญาณชีพอย่างใกล้ชิด กระทั่งเวลา 21.00 น. ยามีลมีการเต้นหัวใจลดลงจนไม่สามารถจับชีพจรได้ ทีมสัตวแพทย์จึงทำการกู้ชีพด้วยยากระตุ้นการเต้นของหัวใจและการหายใจ พร้อมการปั๊มหัวใจ แต่ไม่สามารถช่วยยามีลกลับมาได้ จึงทำให้ยามีลจากพวกเราไปอย่างสงบ เมื่อเวลา 21.43 น.

ด้าน นางสาวพัชราภรณ์ แก้วโม่ง นายสัตวแพทย์ ประจำศูนย์วิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ทะเลอันดามัน (ภูเก็ต) เปิดเผยผลการชันสูตรหลังผ่าซากยามีล เมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2562 พบว่า กล้ามเนื้อหัวใจมีภาวการณ์ขาดเลือดและภายในช่องหัวใจมีก้อนเลือดแข็งตัวที่เกิดจากการอักเสบ ระบบทางเดินหายใจ พบการอักเสบและมีเมือกข้นตลอดทางเดินหายใจ ไตพบการอักเสบรุนแรงและมีปัสสาวะคั่งค้างในกระเพาะปัสสาวะประมาณ 100 มิลลิลิตร และระบบทางเดินอาหารพบการอักเสบของกระเพาะอาหารที่รุนแรงมีลักษณะแผลหลุมกระจายทั่วผนังกระเพาะ และมีหญ้าทะเลอัดแน่นอยู่ 150 กรัม ผนังลำไส้เล็กเริ่มมีการอักเสบและผนังหนาตัวขึ้น ลำไส้ใหญ่พบลักษณะการคั่งค้างของอาหารและพบลำไส้บางส่วนไม่สามารถบีบตัวส่งอาหารต่อไปได้ ร่วมกับมีการสะสมของแก๊ส

นอกจากนี้ พบต่อมน้ำเหลืองบริเวณเยื่อแขวนลำไส้เริ่มมีการตอบสนองต่อการอักเสบ สรุปผลการเสียชีวิตมาจากภาวะการช๊อคเหตุพิษติดเชื้อ (Septic shock) ซึ่งมีผลมาจากการอักเสบของกระเพาะอาหารที่รุนแรงและเรื้อรัง (Severe Chronic gastritis) ทำให้มีผลต่อการทำงานของระบบทางเดินอาหารทำให้ระบบการย่อยอาหารผิดปกติ เกิดอาการท้องอืดและมีอาการปวดเสียดรุนแรง ร่วมกับมีการอักเสบติดเชื้อทั่วร่างกาย โดยการตายของยามีลส่วนหนึ่งเกิดจากการอักเสบเรื้อรังภายในกระเพาะอาหารซึ่งมีมาก่อนการเกยตื้น ส่งผลให้เกิดเป็นแผลหลุมขนาดใหญ่ โน้มนำให้เกิดการติดเชื้อแทรกซ้อน และนำไปสู่การติดเชื้อทั่วร่างกาย ร่วมกับความเจ็บปวดที่เกิดขึ้นอย่างรุนแรง ทำให้เกิดภาวะช็อก และเสียชีวิตในที่สุด

นายจตุพร บุรุพัฒน์ อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กล่าวทิ้งท้ายว่า กรมฯ ขอเน้นย้ำให้ใช้งานวิชาการเป็นฐานในการกำหนดมาตรการที่เหมาะสม ให้มีการลาดตระเวนทางทะเลเชิงคุณภาพร่วมกับชุมชนในพื้นที่ ให้มีการปรับเปลี่ยนเครื่องมือประมงที่เป็นสาเหตุการตายของพะยูนและส่งเสริมการท่องเที่ยวชมพะยูนอย่างถูกวิธี พร้อมกำชับให้อาสาสมัครพิทักษ์ทะเลเป็นศูนย์กลางในการทำงาน ตลอดจนร่วมมือกับจังหวัดและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น นอกจากนี้ ต้องขอขอบคุณทีมสัตวแพทย์ กองทัพเรือ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย วิทยาเขตตรัง ทีมพิทักษ์ดุหยง อาสาสมัคร และผู้นำท้องถิ่น ที่ร่วมมือกันดูแล อนุบาล และฟื้นฟูมาเรียมและยามีลอย่างใกล้ชิดตลอด 24 ชั่วโมง ตั้งแต่แรกพบจนถึงห้วงเวลาที่พะยูนทั้งสองได้จากเราไปอย่างสงบและไม่มีวันหวนกลับมา ทำให้ทุกภาคส่วนหันมาตระหนักถึงความสำคัญในการอนุรักษ์พะยูน และการบริหารจัดการขยะอย่างเป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น

พร้อมกันนี้ กรม ทช. จะเร่งรัดการดำเนินการตามแผนการลดปริมาณขยะทะเล และจะจัดทำแผนอนุรักษ์พะยูนของประเทศไทย รวมทั้งถอดบทเรียนเพื่อให้เป็นประโยชน์ในการดูแลพะยูน เพื่อนำไปเป็นแนวทางสำหรับการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในการประชุมพะยูนโลกที่จะจัดในปีหน้าต่อไป

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
-ถอดบทเรียน 'มาเรียม' ส่งต่อดูแล 'ยามีล'
-“ขยะพลาสติก” และ ความตาย ของ “มาเรียม”
-ย้อนดูประวัติ 'มาเรียม' ผู้หญิงแห่งท้องทะเล ผู้มีความสง่างาม
-แพทย์สุดยื้อ 'ยามีล' ทำ CPR ช่วยไม่สำเร็จ