ไทยเตรียมศึกษาผลกระทบเชิงนิเวศของการลดพื้นที่ป่าแก่งกระจานที่นำเสนอมรดกโลก

ไทยเตรียมศึกษาผลกระทบเชิงนิเวศของการลดพื้นที่ป่าแก่งกระจานที่นำเสนอมรดกโลก

นโยบายและแนวปฏิบัติต่อกลุ่มชาติพันธุ์ในพื้นที่ควรมีการทบทวน, วงเสวนา “แก่งกระจาน มรดก(หลุด)โลก” เสนอ

นายณัฐพงศ์ บรรเทิง เจ้าหน้าที่จากสำนักมรดกโลกทางธรรมชาติ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้เปิดเผยในวงเสวนาที่จัดโดยคณะวนศาสตร์เนื่องในงานรำลึกถึงสืบ นาคะเสถียรประจำปีของคณะ ว่า ทางคณะทำงานไทยเตรียมศึกษา “เชิงเปรียบเทียบ” เพื่อดูผลกระทบต่อความสมบูรณ์ของระบบนิเวศของกลุ่มป่าแก่งกระจาน ในฐานะถิ่นที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่าที่โดดเด่น ที่ประเทศไทยได้เสนอต่อคณะกรรมการมรดกโลกในเกณฑ์ “คุณค่าความโดดเด่นอันเป็นสากล”

ทั้งนี้ เนื่องจากคณะกรรมการมรดกโลกในการประชุมคราวล่าสุดเมื่อเดือนกรกฎาคมที่สาธารรรัฐอาเซอร์ไบจาน ได้แนะนำและท้วงติงถึงผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นต่อคุณค่าความเป็นมรดกโลกของพื้นที่ อันเนื่องมาจากการปรับลดขนาดพื้นที่นำเสนอ โดยเฉพาะพื้นที่ของอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานที่เป็นพื้นที่หลักของกลุ่มป่าที่มีแนวชายแดนติดกับพม่าและยังไม่มีข้อยุติเรื่องแนวเขตแดน โดยการปรับลดพื้นที่ดังกล่าว ทำให้พื้นที่นำเสนอลดลงไปประมาณ 15% ทำให้คณะกรรมการฯ มีความกังวลถึงผลกระทบดังกล่าว

นายณัฐพงศ์กล่าวว่า ทางคณะทำงานจะทำการศึกษาความอุดมสมบูรณ์ของระบบนิเวศของผืนป่าก่อนและหลังการปรับลดเพื่อเปรียบเทียบ เพื่อที่จะตอบให้ได้ว่าการปรับลดขนาดของพื้นที่ดังกล่าว จะมีผลหรือไม่มีผลกระทบต่อคุณค่าของผืนป่าที่ไทยนำเสนอต่อคณะกรรมการฯ

ประเด็นเรื่องแนวเขตแดนไทย-พม่าที่ยังไม่ได้ข้อยุติในอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน เป็นหนึ่งในสองประเด็นหลักที่คณะกรรมการมรดกโลกเลื่อนการพิจารณาการขึ้นทะเบียนกลุ่มป่าแก่งกระจานเป็นมรดกโลกที่ถูกนำเสนอโดยประเทศไทยมาตั้งแต่ปี 2554 และถูกหยิบยกมาเป็นประเด็นตั้งแต่การประชุมมรดกโลกในปี 2559 

อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยได้พยามแก้ไขหาข้อยุติ โดยได้ตกลงอย่างไม่เป็นทางการกับพม่าก่อนการประชุมในปีนี้ ด้วยการปรับลดขนาดพื้นที่ของกลุ่มป่าที่นะนำเสนอให้คณะกรรมการพิจารณาขึ้นทะเบียนมรดกโลกตามแนวชายแดนลง แต่การปรับลดดังกล่าวกลับเป็นข้อกังวลใหม่ที่เกิดขึ้น และคณะกรรมการฯ ต้องการให้มีการศึกษาเพื่อสร้างความมั่นใจว่าจะไม่กระทบต่อคุณค่าความเป็นมรดกโลกดังกล่าว

นอกจากประเด็นเรื่องเขตแดนแล้ว ยังมีประเด็นเรื่องสิทธิมนุษยชนของกลุ่มชาติพันธุ์ในพื้นที่ที่ทางคณะกรรมการมรดกโลกยังมีความห่วงใย และต้องการให้ไทยกลับไปแก้ไขโดยการปรึกษาหารือกับกลุ่มชาติพันธุ์ที่อาศัยในพื้นที่ให้เรียบร้อยจนไม่มีข้อกังวลตกค้างก่อนนำเสนอพื้นที่กลับมาเพื่อให้พิจารณาอีกครั้ง

นายมานะ เพิ่มพูน หัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน กล่าวว่า ทางอุทยานฯ ได้พยายามแก้ไขปัญหากลุ่มชาติพันธุ์ผ่านแนวปฎิบัติของกฏหมายอุทยานฯฉบับใหม่ที่ได้รับรองสิทธิในการอาศัยในป่าได้ พร้อมแนวทางจัดการการใช้ประโยชน์ในพื้นที่ โดยเขามองว่า ทางกรมอุทยานฯ ได้มีการเปลี่ยนแปลงตามบริบทปัจจุบันผ่านการปรับปรุงกฎหมายฉบับนี้แล้ว มติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองและฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวกะเหรี่ยงในปี 2553 ที่เขามองว่ายังมีความคลุมเคลือ ไม่ชัดเจนในแนวทางปฎิบัติเพราะไม่มีกฎระเบียบรองรับ จึงควรมีการทบทวนเพื่อให้สอดคล้องและไปด้วยกันกับกฎหมายอุทยานฯ

นางสาวพรเพ็ญ คงขจรเกียรติ จากมูลนิธิผสานวัฒนธรรมที่ทำงานกับกลุ่มชาติพันธุ์ในพื้นที่ กล่าวว่า การทำงานร่วมกันในอนาคตระหว่างรัฐกับชุมชนมีความเป็นไปได้ แต่จำเป็นที่ทางรัฐต้องมีกระบวนการปรึกษาหารือ และที่สำคัญคือการได้รับความยินยอมจากคนในพื้นที่ที่จะปรับเปลี่ยนวิถีไปตามบริบท  

นอกจากนี้ ความขัดแย้งในอดีต ควรได้รับการคลี่คลายและเยียวยามซึ่งยังมีบางประเด็นที่ยังอยู่ในกระบวนการยุติธรรม ไม่ว่าจะเป็นการรื้อสิ่งปลูกสร้างของชาวกะเหรี่ยงในพื้นที่ หรือการหายตัวไปของผู้ประสานงานของกลุ่มชาติพันธุ์ในพื้นที่ นางสาวพรเพ็ญกล่าว พร้อมเน้นย้ำถึงสิทธิชุมชนที่ควรได้รับการตระหนักถึง

ภาพ อช. แก่งกระจาน/ เครดิต: อช. แก่งกระจาน

ทำความรู้จัก กลุ่มป่าแก่งกระจาน พื้นที่นำเสนอการขึ้นทะเบียนมรดกโลกทางธรรมชาติแห่งที่ 3 ของประเทศ

ข้อมูลจากสำนักมรดกโลกทางธรรมชาติ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธ์พืช ระบุว่า กลุ่มป่าแก่งกระจานได้รับการนำเสนอขอขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกภายใต้เกณฑ์ข้อ 10 ด้วยเหตุผลที่ว่า กลุ่มป่าแก่งกระจานประกอบด้วยถิ่นที่อาศัยที่มีความสาคัญอย่างยิ่งสำหรับการอนุรักษ์ในถิ่นของความหลากหลายทางชีวภาพรวมถึงพบชนิดพันธุ์พืชและพันธุ์สัตว์ที่มีคุณค่ายิ่งด้านการอนุรักษ์และวิทยาศาสตร์

กลุ่มป่าแก่งกระจานมีความโดดเด่นและมีความสาลำคัญด้านถิ่นที่อาศัยของชนิดพันธุ์พืชและสัตว์ที่ถูกคุกคาม และเป็นเป้าหมายของการอนุรักษ์ระดับโลก ตลอดจนเป็นพื้นที่ที่สาคัญต่อการอนุรักษ์ในถิ่นของความหลากหลายทางชีวภาพสูง (In-situ conservation of biological diversity) เนื่องจากพื้นที่กลุ่มป่าแก่งกระจานตั้งอยู่ในพื้นที่ที่มีเทือกเขาตะนาวศรีทอดตัวผ่านเป็นเขตแดน ระหว่างประเทศไทยกับสหภาพพม่า มีการกระจายของเขตภูมิพฤกษ์( plant geographical characteristics) ซึ่งมีถึง 4 ลักษณะเด่นคือ

1.ลักษณะภูมิพฤกษ์อินโดเบอร์มีส(Indo-Burmese)หรือลักษณะภูมิพฤกษ์หิมาลายัน(Himalayan)

2.ลักษณะภูมิพฤกษ์อินโดมาเลเซียน(Indo-Malaysian) 

3.ลักษณะภูมิพฤกษ์อันนัมมาติก(Annamatic)

4.ลักษณะภูมิพฤกษ์อันดามันนิส(Andamanese)

รวมถึงสภาพของปัจจัยทางสิ่งแวดล้อมของพื้นที่ ทั้งสภาพภูมิอากาศ สภาพภูมิประเทศ และลักษณะความแตกต่างทางธรณีวิทยา จึงเป็นแหล่งรวมความหลากหลายทางชีวภาพ ทั้งทางพันธุกรรม ชนิดพันธุ์ และระบบนิเวศป่าบกถึง 5 ประเภท คือป่าดิบเขา ป่าดิบชื้น ป่าดิบแล้ง ป่าผสมผลัดใบ และป่าเต็งรัง 

กลุ่มป่าแก่งกระจาน ยังมีชนิดพันธุ์พืชที่จัดว่ามีความสาคัญด้านการอนุรักษ์และการศึกษาด้านวิทยาศาสตร์และเป็นชนิดพันธุ์ในถิ่นเช่น แตงพะเนินทุ่งที่พบแห่งเดียวในโลก และจำปีเพชรจำปีดอยที่พบแห่งเดียวในประเทศไทยที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน เป็นต้น

ผืนป่าแก่งกระจาน มีความหลากหลายของชนิดพันธุ์สัตว์ป่าอย่างน้อย 720 ชนิดประกอบด้วย สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม 91ชนิด นก 461 ชนิด สัตว์เลื้อยคลาน 87 ชนิด สัตว์สะเทิ้นนำ้สะเทิ้นบก 33 ชนิด และปลา 48 ชนิดด้วยกัน

ผืนป่าแก่งกระจานเป็นแหล่งที่อาศัยของสัตว์ป่าสาคัญที่หายากและใกล้สูญพันธุ์ของโลกหลายชนิดเนื่องจากอยู่ในเขตรอยต่อทางสัตวภูมิศาสตร์ของเขตภูมิศาสตร์ย่อยของ Indomalayan region ซึ่งตามสถานภาพของ IUCN (2007)พบชนิดพันธุ์ที่มีสถานภาพใกล้สูญพันธุ์อย่างยิ่ง(CR)คือ จระเข้นำ้จืด(Siamese Cricodile)

นอกจากนั้น ยังพบสัตว์ป่าชนิดพันธุ์ที่ใกล้สูญพันธุ์(EN)และมีแนวโน้มสูญพันธุ์(VU)อีกหลายสิบชนิด 

ทั้งนี้ IUCN ยังได้กำหนดให้เป็นพื้นที่สาคัญระดับภูมิภาคในการอนุรักษ์เสือโคร่ง(Tiger Conservation Landscape) พื้นที่สาคัญเพื่อการอนุรักษ์นก พื้นที่ที่มีความสาคัญในการอนุรักษ์ช้างป่า และพื้นที่ที่มีความสำคัญยิ่งในระบบนิเวศอินโด-พม่า(Priority Site for Indo-Burma Hotspot)

ผืนป่าแก่งกระจาน ยังมีขนาดติดต่อกันเป็นผืนใหญ่ถึง 482,225 เฮกตาร์และยังเชื่อมต่อกับป่าในประเทศสหภาพพม่า 

นอกจากนี้ ยังเป็นแหล่งต้นนำ้ของพื้นที่ชุ่มนำ้เขาสามร้อยยอด และพื้นที่เกษตรกรรมในจังหวัดราชบุรี เพชรบุรี และประจวบคีรีขันธ์ และยังได้รับการประกาศให้เป็นอุทยานมรดกแห่งอาเซียน(ASEAN Heritage Park) เมื่อปี พ.ศ. 2546

นายมานะกล่าวว่า ปัจจุบัน มีพื้นที่ที่มีคนอาศัยอยู่ในอุทยานฯแก่งกระจานประมาณ 39,000 ไร่ ประชากรราวพันกว่าคน โดยมีโป่งลึก บางกลอย เป็นหมู่บ้านที่อยู่ใจกลางผืนป่า