ต้องจ่ายค่าโง่ 1.2 หมื่นล. ศาลไม่รับรื้อ 'คดีโฮปเวลล์'

ต้องจ่ายค่าโง่ 1.2 หมื่นล. ศาลไม่รับรื้อ 'คดีโฮปเวลล์'

ศาลยกคำร้อง "คมนาคม-รฟท." ขอพิจารณาใหม่คดีจ่ายโฮปเวลล์ตามวินิจฉัยอนุญาโตฯ กว่า 1.2 หมื่นล้าน เหตุอ้าง ยังไม่เข้าเกณฑ์พิจารณาคดีใหม่

เมื่อวันที่ 23 ส.ค.62 ที่ศาลปกครองกลาง ถ.แจ้งวัฒนะ ศาลมีคำสั่งไม่รับคำขอให้พิจารณาคดีใหม่ ในคดีหมายเลขดำที่ 107/2552 , 2308/2551 , 1379/2552 (คดีหมายเลขแดงที่ 366,367,368/2557) ที่ กระทรวงคมนาคม กับการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เป็นผู้ร้อง และบริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด คู่สัญญาสัมปทานระบบการขนส่งทางรถไฟและถนนยกระดับใน กทม. เป็นผู้คัดค้าน

โดยคดีพิพาทสัญญาสัมปทานดังกล่าว "ศาลปกครองสูงสุด" ได้มีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 21 มี.ค.62 ให้บังคับตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ ข้อพิพาทหมายเลขดำที่ 119/2547 หมายเลขแดงที่ 64/2551 ลงวันที่ 30 ก.ย.51 โดยให้ "กระทรวงคมนาคม" และ "รฟท." ผู้ร้องทั้งสอง คืนเงินค่าตอบแทน ที่ "บ.โฮปเวลล์ฯ" ผู้คัดค้าน ชำระและใช้เงินในการก่อสร้างโครงการ พร้อมดอกเบี้ย ให้แก่ผู้คัดค้าน ตามคำวินิจฉัยของคณะอนุญาโตตุลาการ

ต่อมาวันที่ 18 ก.ค.62 "กระทรวงคมนาคม" และ "รฟท." ผู้ร้องคดีดังกล่าว ได้ยื่นคำร้องต่อ "ศาลปกครองกลาง" อีก ขอให้ศาลพิจารณาคดีใหม่ อ้างว่าศาลปกครองสูงสุด รับฟังข้อเท็จจริงผิดพลาด และมีคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี แต่งตั้งคณะทำงานตรวจสอบและรวบรวมพยานหลักฐานกรณีโฮปเวลล์ ซึ่งหากได้พยานหลักฐานใหม่จะนำเสนอศาลปกครองสูงสุดต่อไป

อีกทั้งยังได้โต้แย้งเรื่องความสามารถในการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าวในประเทศของ "บ.โฮปเวลล์ฯ" ผู้คัดค้านในขณะเข้าทำสัญญาพิพาทด้วย รวมทั้งอ้างว่า การที่ศาลปกครองสูงสุด ไม่ได้ย้อนสำนวนให้ศาลปกครองชั้นต้นวินิจฉัยในประเด็นเนื้อหาแห่งคดีถือว่า เป็นข้อบกพร่องในกระบวนการยุติธรรม ตามหลักเกณฑ์การยื่นคำร้องขอพิจารณาคดีใหม่ ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542 มาตรา 75

"ศาลปกครองกลาง" ได้วินิจฉัยคำร้องขอให้ศาลพิจารณาคดีใหม่ของ "กระทรวงคมนาคม" และ "รฟท." แล้ว เห็นว่าข้อเท็จจริงที่ผู้ร้องทั้งสอง โต้แย้งประเด็นที่ศาลปกครองสูงสุดได้วินิจฉัยเรื่องระยะเวลาการใช้สิทธิเสนอข้อพิพาทต่ออนุญาโตตุลาการ , การเลิกกันของสัญญาพิพาท และการกลับคืนสู่ฐานะเดิมของผู้ร้องทั้งสองและผู้คัดค้าน มีลักษณะเป็นการโต้แย้งดุลพินิจในการพิพากษาคดีและผลของคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด

สำหรับกรณีที่อ้างว่า ศาลปกครองสูงสุด ไม่ได้ย้อนสำนวนให้ศาลปกครองชั้นต้นวินิจฉัยนั้น ก็เป็นดุลพินิจของศาลปกครองสูงสุดที่จะวินิจฉัยข้อพิพาทตามคำอุทธรณ์ได้เอง ไม่มีบทกฎหมายที่บังคับให้ศาลปกครองสูงสุด ต้องส่งคำพิพากษาของศาลปกครองชั้นต้นที่ยังไม่ได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย หรือระเบียบวิธีพิจารณาคดีปกครอง กลับไปให้พิจารณาพิพากษาใหม่ทุกกรณี

อีกทั้งคดีนี้ศาลปกครองสูงสุดได้วินิจฉัยแล้วว่า คดีมีข้อเท็จจริงเพียงพอที่ศาลปกครองสูงสุดจะพิจารณาพิพากษาชี้ขาดคดีต่อไปได้ เพื่อประโยชน์แก่การพิจารณาพิพากษาคดี จึงไม่ถือว่ามีข้อบกพร่องสำคัญในกระบวนพิจารณาพิพากษาที่ทำให้ผลของคดีไม่มีความยุติธรรม

ส่วนข้อโต้แย้งเรื่องความสามารถของ "บ.โฮปเวลล์ฯ" ผู้คัดค้าน ในขณะเข้าทำสัญญาว่าเป็นการดำเนินการของคนต่างด้าวนั้น เอกสารหลักฐานดังกล่าวไม่ได้เป็นพยานหลักฐานที่ปรากฏขึ้นใหม่ อันมีผลทำให้ข้อเท็จจริงที่ฟังยุติแล้วเปลี่ยนแปลงไปในสาระสำคัญ ประกอบกับขณะที่ยื่นคำขอให้พิจารณาคดีใหม่นี้ "กระทรวงคมนาคม" และ "รฟท." ผู้ร้องทั้งสองไม่มีพยานหลักฐานที่จะนำเสนอต่อศาลปกครองสูงสุด ซึ่งเป็นพยานหลักฐานใหม่ อันมีผลทำให้ข้อเท็จจริงที่ฟังยุติแล้วเปลี่ยนแปลงไปในสาระสำคัญ

ดังนั้นคำขอให้ศาลพิจารณาคดีใหม่ จึงไม่เข้าหลักเกณฑ์ ตามพ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542 มาตรา 75 วรรคหนึ่ง (1) และ (3) ประกอบวรรคสอง "ศาลปกครองกลาง" จึงมีคำสั่งไม่รับคำขอให้พิจารณาคดีใหม่ไว้พิจารณา

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า อย่างไรก็ดีคำสั่งไม่รับพิจารณาคดีใหม่นี้ เป็นคำวินิจฉัยของศาลชั้นต้น โดยหากคู่ความยังมีปประเด็นโต้แย้งสามารถยื่นอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุดได้ภายใน 30 วัน

สำหรับข้อพิพาทคดีดังกล่าว ศาลปกครองสูงสุดได้มีคำพิพากษาถึงที่สุด ให้ "กระทรวงคมนาคม" และ "รฟท." ปฏิบัติตามคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตฯ เมื่อวันที่ 30 ก.ย.51 และ 15 ต.ค.51 ที่ให้ชดใช้เงินค่าเสียหาย 3 ส่วน ให้กับ “บจก.โฮปเวลล์ฯ” จากกรณีบอกเลิกสัญญา ด้วยเหตุที่เห็นว่าไม่สามารถดำเนินการก่อสร้างให้เสร็จภายในเวลาที่กำหนดได้ ประกอบด้วยเงินค่าตอบแทนที่ “บจก.โฮปเวลล์” ชำระไว้จำนวน 2,850,000,000 บาท และให้คืนหนังสือค้ำประกัน คืนค่าธรรมเนียมในการออกหนังสือค้ำประกัน จำนวน 38,749,800 บาท และเงินในการก่อสร้างโครงการจำนวน 9,000 ล้านบาท รวมจำนวน 11,888,749,800 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี

โดยในส่วนของดอกเบี้ยเงินค่าตอบแทนกับเงินค่าธรรมเนียมนั้นให้นับตั้งแต่วันที่ได้รับเงินค่าตอบแทนแต่ละงวด และวันที่จ่ายเงินค่าธรรมเนียมให้กับธนาคาร ส่วนดอกเบี้ยของเงินก่อสร้างโครงการให้นับตั้งแต่วันที่คณะอนุญาโตฯ ชี้ขาด โดยศาลปกครองสูงสุด ให้ “กระทรวงคมนาคม -รฟท.” ปฏิบัติตามคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตฯ ให้เสร็จภายใน 180 วัน นับแต่วันที่คดีถึงที่สุด เมื่อ 22 เม.ย.62