พณ. เผยใช้สิทธิ์เอฟที-จีเอสพี ส่งออกครึ่งปีแรก มูลค่า 3.6 หมื่นล้านดอลลาร์

พณ. เผยใช้สิทธิ์เอฟที-จีเอสพี ส่งออกครึ่งปีแรก มูลค่า 3.6 หมื่นล้านดอลลาร์

"กรมการค้าต่างประเทศ" เผยการใช้สิทธิประโยชน์ทางการค้า ในช่วง 6 เดือนปี 62 มีมูลค่ารวม 36,358.24 ล้านดอลลาร์ ลดลง 1.35% จับตาสงครามการค้า เศรษฐกิจคู่ค้าอ่อนแอ บาทแข็ง กดดันการใช้สิทธิ์ เตรียมเดินหน้าผลักดันการใช้สิทธิ์ส่งออกไปยังตลาดที่มีโอกาสสูง

นายอดุลย์ โชตินิสากรณ์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า การใช้สิทธิประโยชน์สำหรับการส่งออกภายใต้ความตกลงการค้าเสรี (FTA) และภายใต้ระบบสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรเป็นการทั่วไป (GSP) ตั้งแต่ม.ค.-มิ.ย. มีมูลค่าการใช้สิทธิประโยชน์ฯอยู่ที่ 36,358.24 ล้านดอลลาร์ มีอัตราการใช้สิทธิประโยชน์ฯ อยู่ที่ 78% หดตัวจากช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา 1.35% แบ่งเป็นมูลค่าการใช้สิทธิประโยชน์ภายใต้เอฟทีเอ จำนวน 13 ฉบับ ยกเว้นเอฟทีเอ อาเซียน-ฮ่องกงที่เพิ่งมีผลบังคับใช้ 11 มิ.ย.2562 มีมูลค่ารวม 33,755.81 ล้านดอลลาร์ คิดเป็น 79.02% ของการใช้สิทธิ์รวม ลดลง 2.65% และมูลค่าการใช้สิทธิประโยชน์ภายใต้จีเอสพี จำนวน 4 ระบบ คือ สหรัฐฯ สวิตเซอร์แลนด์ รัสเซียและเครือรัฐเอกราช และนอร์เวย์ มีมูลค่า 2,602.43 ล้านดอลลาร์ อัตราการใช้สิทธิ 66.88% ขยายตัวเพิ่มขึ้น 19.34%

สำหรับตลาดส่งออกที่ไทยมีมูลค่าการใช้สิทธิประโยชน์ภายใต้ความตกลงเอฟทีเอ สูงสุด ได้แก่ อาเซียน มูลค่า 12,386.53 ล้านดอลลาร์ ตามด้วย จีน มูลค่า 9,222.44 ล้านดอลลาร์ ออสเตรเลีย มูลค่า 4,078.06 ล้านดอลลาร์ ญี่ปุ่น มูลค่า 3,822.76 ล้านดอลลาร์และ อินเดีย มูลค่า 2,299.26 ล้านดอลลาร์ โดยตลาดที่มีการขยายตัวสูงสุดคือ เปรู ขยายตัว 24.51% รองลงมาคือนิวซีแลนด์ 4.76% สำหรับกรอบความตกลงการค้าเสรีที่มีอัตราการใช้สิทธิประโยชน์สูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ ไทย-ชิลี 100.36% 2 อาเซียน-จีน 98.67% ไทย-ญี่ปุ่น 91.19% ไทย-เปรู 87.96% และ อาเซียน-เกาหลี 84.19% ส่วนรายการสินค้าส่งออกที่มีมูลค่าการใช้สิทธิประโยชน์ฯ สูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ รถบรรทุก ผลิตภัณฑ์ยางสังเคราะห์ผสมยางธรรมชาติ ทุเรียนสด น้ำตาลจากอ้อย และผลไม้ประเภทฝรั่ง มะม่วง และมังคุด

นายอดุลย์ กล่าวว่า ในส่วนของการใช้สิทธิประโยชน์ภายใต้จีเอสพี สหรัฐฯ ยังคงมีสัดส่วนการใช้สิทธิมากที่สุด คือ ประมาณ 92% ของมูลค่าการใช้สิทธิจีเอสพี ทั้งหมด มีมูลค่าการใช้สิทธิอยู่ที่ 2,382.93 ล้านดอลลาร์ มีอัตราการใช้สิทธิ 75.16% ของมูลค่าการส่งออกที่ได้รับสิทธิจีเอสพี ซึ่งมีมูลค่า 3,170.52 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 13.59% สินค้าที่มีมูลค่าการใช้สิทธิประโยชน์ฯ ภายใต้ระบบจีเอสพีสูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ ส่วนประกอบเครื่องปรับอากาศ ถุงมือยาง อาหารปรุงแต่งอื่นๆ เลนส์แว่นตาทำด้วยวัตถุอื่นๆ โครงแซสซีส์หรือส่วนประกอบ และแว่นตา อื่นๆ

“หากปัจจัยสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อการส่งออกยังดำเนินต่อไป โดยเฉพาะผลกระทบจากสงครามการค้าระหว่างจีนและสหรัฐฯ ที่ยังคงกดดันเศรษฐกิจการค้าโลก ภาวะเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าที่อ่อนแอมากขึ้น ส่งผลให้อุปสงค์ของคู่ค้าชะลอตัวตาม ภาวะการเงินโลกที่ตึงตัว รวมถึงค่าเงินบาทที่ปรับตัวแข็งค่าจากการดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายของธนาคารกลางหลายประเทศทั่วโลก อาทิ เกาหลีใต้ อินโดนีเซีย ฮ่องกง สหรัฐฯ เป็นต้น ส่งผลให้มูลค่าการใช้สิทธิประโยชน์ฯ ลดลงไปเช่นกัน” นายอดุลย์กล่าว

นายอดุลย์ กล่าวว่า ยตลาดที่มีการใช้สิทธิประโยชน์ฯ ลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน ได้แก่ ตลาดอาเซียน หดตัว 3.99% มีการส่งออกลดลงในกลุ่มสินค้าส่งออกสำคัญ เช่น น้ำมันปิโตรเลียมและน้ำมันจากแร่บิทูมินัสอื่นๆ เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ น้ำตาลที่ได้จากอ้อยอื่นๆ เป็นต้น ตลาดออสเตรเลีย หดตัว 13.89% มีการส่งออกลดลงในกลุ่มสินค้าส่งออกสำคัญ เช่น รถยนต์และส่วนประกอบ พลาสติกและผลิตภัณฑ์ ปลาทูน่าปรุงแต่ง เป็นต้น ตลาดชิลี หดตัว 27.44% มีการส่งออกลดลงในกลุ่มสินค้าส่งออกสำคัญ เช่น ยานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์ อาหารทะเลแปรรูป เครื่องใช้ไฟฟ้า เป็นต้น อย่างไรก็ดี การใช้สิทธิประโยชน์ภายใต้ FTA ไทย-ชิลี ในภาพรวมอยู่ในระดับสูง (100%) ครอบคลุมในทุกกลุ่มอุตสาหกรรม และ ตลาดญี่ปุ่น หดตัว 7.66% มีการส่งออกลดลงในกลุ่มสินค้าส่งออกสำคัญ เช่น ทูน่าแปรรูป กุ้งแช่แข็ง พลาสติกและผลิตภัณฑ์ เป็นต้น

แม้ว่าการใช้สิทธิประโยชน์ฯ ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2562 จะลดลงในบางตลาดข้างต้น แต่ตลาดส่วนใหญ่ยังคงขยายตัวได้ดี โดยเฉพาะตลาดจีน อินเดีย เกาหลี นิวซีแลนด์ และเปรู เป็นต้น ซึ่งเป็นตลาดที่ยังมีศักยภาพในการส่งออกอยู่ ถือเป็นความท้าทายในการที่จะบรรลุเป้าหมายมูลค่าการใช้สิทธิประโยชน์ฯ ในปี 2562 ที่กรมฯ เคยตั้งไว้ที่ 9% หรือคิดเป็นมูลค่าการใช้สิทธิประโยชน์ฯ ประมาณ 81,025 ล้านดอลลาร์

0-5-17-728x439