'คิม'ควรถูกเชิญร่วม'อาเซียน-เกาหลีใต้ซัมมิท'?

'คิม'ควรถูกเชิญร่วม'อาเซียน-เกาหลีใต้ซัมมิท'?

รายงาน : เหลือเวลาอีก 3 เดือนที่การประชุมสุดยอดอาเซียน-เกาหลีใต้ สมัยพิเศษ ครั้งที่ 3 จะเกิดขึ้นที่เมืองปูซาน เกาหลีใต้ ซึ่งระหว่างนี้มีคำถามถึงความเป็นไปได้ในการเชิญ "คิม จอง อึน" ผู้นำเกาหลีเหนือ เข้าร่วมงานนี้ด้วย

ในฐานะที่ประเทศไทยเป็นประธานอาเซียนปี 2562 อาจจะตอบคำถามนี้ ด้วยความกระอักกระอ่วนใจ 

ไอเดียการใช้เวทีอาเซียน เป็นอีกหนึ่งโอกาสสร้างความสงบสุขให้กับคาบสมุทรเกาหลี เกิดขึ้นในเดือน พ.ย. 2561

เมื่อประธานาธิบดีโจโก วิโดโดของอินโดนีเซีย นำแนวคิดที่ผู้นำเกาหลีเหนือและประธานาธิบดีมุน แจ อินของเกาหลีใต้ได้พบกันแบบตัวต่อตัวถึง 3 ครั้งในรอบ 10 ปี

สิ่งนี้อาจสะท้อนให้เห็นว่า ผู้นำเกาหลีเหนือมีความเชื่อมั่นต่อประธานาธิบดีมุนอยู่ระดับหนึ่ง อย่างที่เห็นว่า ผู้นำเกาหลีใต้มีบทบาทสำคัญในการทำให้ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ของสหรัฐได้พบกับคิม ทั้งที่สิงคโปร์ เวียดนาม และเขตปลอดอาวุธนิวเคลียร์ของ 2 เกาหลี

สิงห์ทอง ลาภพิเศษพันธุ์ เอกอัครราชทูตไทย ประจำกรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น เปิดเผยว่า ประเทศสมาชิก 10 ประเทศไม่ได้คัดค้านต่อแนวคิดดังกล่าว และนั่นเป็นสิ่งที่ได้ตกลงกันในการประชุมระดับรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนที่ผ่านมา 

แต่แล้ว เกาหลีเหนือกลับทำการทดสอบยิงขีปนาวุธอีกครั้ง ทำให้ชาติตะวันตกมองว่าเป็นการยั่วยุ

สิงห์ทอง ชี้ว่า การประชุมครั้งประวัติศาสตร์ระหว่าง ทรัมป์ กับ คิม ซึ่งเกิดขึ้นถึง 3 ครั้งเกิดขึ้นระหว่างปี 2561-2562 นั้น ไม่เพียงพอจะพิสูจน์ได้ว่าจะมีการเชิญคิมเข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียน-เกาหลีใต้ หรือไม่ 

ทั้งนี้ อาเซียนและเกาหลีใต้จะจัดการประชุมสุดยอดในวันที่ 25-26 พ.ย. เพื่อเฉลิมฉลองความสัมพันธ์ที่มีวาระครบรอบ 30 ปี

“เกาหลีเหนือยังต้องพิสูจน์อะไรหลายอย่างเกี่ยวกับการดำเนินงานปลดอาวุธนิวเคลียร์” สิงห์ทองอ้างถึงคำมั่นปลดอาวุธนิวเคลียร์ของทางการเกาหลีเหนือก่อนหน้านี้

เอกอัครราชทูตไทย ประจำกรุงโตเกียว ชี้ว่า อาเซียนและเกาหลีใต้ไม่ต้องการส่งสัญญาณผิด ๆ และทำให้เกาหลีเหนือคิดว่า ทุกประเทศให้การตอบรับ โดยที่เกาหลีเหนือไม่ต้องทำอะไร หากสถานการณ์ดำเนินไปอย่างถูกต้อง อาจมีการเชิญผู้นำเกาหลีเหนือเข้าร่วมก็เป็นได้ แต่ประเทศไทยไม่อาจล่วงรู้จริง ๆ และไม่ง่ายที่จะเข้าใจผู้นำเกาหลีเหนือ 

อย่างไรก็ตาม เกาหลีใต้จะเป็นฝ่ายตัดสินใจเกี่ยวกับการขยายคำเชิญไปยังคิมในฐานะเจ้าภาพจัดการประชุมสุดยอดกับอาเซียน

สิงห์ทอง มองว่า การประชุมอาเซียน-เกาหลีใต้ซัมมิต มีความหมายเป็นพิเศษต่อร่วมมือระหว่างกัน ซึ่งดำเนินอย่างต่อเนื่อง 30 ปี และสอดคล้องกับปีที่ไทยเป็นประธานอาเซียน ซึ่งการประชุมครั้งนี้จะเป็นโอกาสให้ทั้งสองได้ทบทวนการดำเนินงานตั้งแต่อดีตมาถึงปัจจุบัน เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและแสดงวิสัยทัศน์ต่อการกำหนดทิศทางความสัมพันธ์ที่มีต่อกันในอนาคต

"เราหวังว่า อาเซียนกับเกาหลีใต้จะมีความร่วมมือ เพื่อผลักดันให้เกาหลีเหนือดำเนินการลดอาวุธนิวเคลียร์ ซึ่งเห็นเป็นรูปธรรมมากกว่าภูมิภาคอื่น ๆ"

มีรายงานว่า 10 ประเทศสมาชิกอาเซียนได้ใช้ความสัมพันธ์ทางการทูตที่มีต่อเกาหลีเหนือ เพื่อแบ่งปันวิธีคิดที่คล้ายคลึงแบบฉบับประเทศเอเชียในการรักษาความสงบในคาบสมุทรเกาหลี ขณะที่เกาหลีใต้เป็นประเทศมีพรมแดนติดกับเกาหลีเหนือ อาจมีความอ่อนไหวเพราะมีความใกล้ชิดกันมาก แต่ถึงอย่างไร ความสนใจของอาเซียนและเกาหลีใต้ก็เชื่อมโยงกับท่าทีของสหรัฐและจีน

“เกาหลีใต้ ในฐานะประเทศคู่เจรจาของอาเซียน อาจพิจารณาจากสถานการณ์ และเพิ่มความร่วมมือในส่วนที่จำเป็น เพื่อบรรเทาผลกระทบที่เกิดขึ้นจากความไม่สงบในคาบสมุทรเกาหลีก็เป็นได้” เอกอัครราชทูตไทยระบุ

สิงห์ทอง กล่าวอีกว่า ในปีที่ไทยเป็นประธานอาเซียน  มีแนวคิดหลักที่ว่า "ร่วมมือ ร่วมใจ ก้าวไกล ยั่งยืน" ซึ่งมีความมุ่งมั่นที่จะบรรลุความยั่งยืนในทุกมิติ และส่งเสริมการพัฒนาครอบคลุมในทุกด้าน โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง และมองไปสู่อนาคตร่วมกัน 

ณ เวลานี้ ไทยทำหน้าที่ประธานอาเซียนไปแล้วครึ่งทาง นับตั้งแต่รับตำแหน่งต่อจากสิงคโปร์ เมื่อเดือน พ.ย. ปีที่แล้ว ซึ่งไทยได้ดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง ครอบคลุมประเด็นต่าง ๆ ภายใต้เสาการเมืองความมั่นคง เสาเศรษฐกิจ และเสาสังคมและวัฒนธรรม 

สิงห์ทอง กล่าวว่า สันติภาพบนคาบสมุทรเกาหลีมีความสำคัญในเชิงกลยุทธ์ต่อความมั่นคง และความเจริญรุ่งเรืองของอาเซียน ในฐานะที่ไทยเป็นประธานยังคงมีส่วนร่วมอย่างสร้างสรรค์กับเกาหลีเหนือ ผ่านช่องทางการหารือทวิภาคีและพหุภาคี อย่างการใช้ประโยชน์จากเวทีการประชุมอาเซียนว่าด้วยความร่วมมือด้านการเมืองและความมั่นคงในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก (เออาร์เอฟ) ภายใต้บรรยากาศเชิงบวก เพื่อให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องสามารถดำเนินการเจรจาและผลักดันประเด็นปลดอาวุธนิวเคลียร์ในคาบสมุทรเกาหลี