เครือข่ายประชาชนภาคตะวันออกคัดค้านแผนศึกษาถมทะเลรองรับปิโตรเคมีส่วนขยายของบริษัทน้ำมันใหญ่

เครือข่ายประชาชนภาคตะวันออกคัดค้านแผนศึกษาถมทะเลรองรับปิโตรเคมีส่วนขยายของบริษัทน้ำมันใหญ่

จี้ให้เปิดเผยข้อมูล หวั่นมลพิษซ้ำรอย

นายสมนึก จงมีวศิน ที่ปรึกษากลุ่มศึกษาการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก และเครือข่ายเพื่อนตะวันออก กล่าวถึงความคืบหน้าล่าสุดของแผนศึกษาการถมทะเลใกล้นิคมอุตสาหกรรมแหลมฉบัง จังหวัดชลบุรีที่นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม มอบหมายให้การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ไปทำการศึกษาว่า ทางเครือข่ายมีคำถามต่อข้อดำริดังกล่าวของรัฐมนตรี เนื่องจากที่ผ่านมา ทางกลุ่มเอ็กซอน โมบิล คอร์ปอเรชั่นเคยมีการติดต่อเจ้าหน้าที่ในจังหวัดในการจัดหาพื้นที่เพิ่มจากโรงกลั่นเอสโซ่ของทางกลุ่มที่มีอยู่ในพื้นที่อีกประมาณ 700-900 ไร่ แต่เมื่อมีกฏหมายอีอีซีออกมา พื้นที่ที่ทางบริษัทจัดหากลับขยายขึ้นไปเป็น 3,000 ไร่ และต้องถมทะเลด้วย ทำให้ประชาชนในพื้นที่เกิดข้อสงสัยในกิจกรรมที่กำลังจะเกิดขึ้นตามมา ซึ่งอาจรวมถึงการได้มาซึ่งแนฟทาซึ่งเป็นสารตั้งต้นของการผลิตพลาสติก และอื่นๆ ที่จำเป็นต้องมีกระบวนการศึกษาที่มากไปกว่าการทำแค่การศึกษาประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA)

“ประเด็นคือ คุณต้องการที่ดินใหญ่ขนาดนี้เพื่ออะไร คือต้องการจะจอดเรือแล้วขนถ่ายน้ำมันดิบขึ้นเลย? แล้วมันจะมีอะไรตามมานอกจากโรงกลั่นน้ำมันด้วยมั้ย แล้วถ้ามันเป็นแบบนั้น มันอาจต้องทำการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ ซึ่งเป็นไปไม่ได้เลยที่จะใช้เวลาเพียงแค่ 6 เดือน

"ถ้าจะผลิตแนฟทาจริง มันก็ไม่ใช่อุตสาหกรรม 4.0 แล้วมาใช้สิทธิ์ของ EEC ได้ยังไง?” นายสมนึกกล่าว

นายสมนึกกล่าวว่า ที่ผ่านมา ในพื้นที่มีการถมทะเลเพียงสองครั้ง นับตั้งแต่รัฐเริ่มพัฒนาอุตสาหกรรมในพื้นที่ตั้งแต่ปลายทศวรรษที่ 2520 โดยทั้งสองครั้งกินพื้นที่ใช้ประโยชน์รวมราว 4,000 ไร่ และใช้สำหรับการเป็นท่าเรือน้ำลึกเท่านั้น

ที่บริเวณนั้น จึงเหลือเพียงอ่าวอุดมที่ชาวบ้านเกรงว่าจะเอามาถมเพื่อจุดประสงค์ดังกล่าว ซึงเป็นพื้นที่ประมงแหล่งสุดท้ายแล้วของชุมชน

“เค้าไม่มาถามเราเลย ที่ชุมชนมีธรรมนูญชุมชนของตัวเองที่เป็นข้อตกลงกับพวกอุตสาหกรรม ที่ได้มาจากการต่อสู้และใช้มาตั้งแต่ปี 2556 ถ้าจะมาศึกษาและดำเนินการเลย เท่ากับคุณก้าวข้ามธรรมนูญชุมชนนี้เลยนะ” นายสมนึกกล่าว และเพิ่มเติมว่าทางชุมชนได้พยายามหาข้อมูลจนพบว่ามีแนวคิดที่จะผลิตแนฟทา

จากการเปิดเผยของนายสุริยะเมื่อวานนี้ ทางกลุ่มมีแผนใช้พื้นที่เพื่อ “โครงการปิโตรเคมีส่วนขยาย” ในบริเวณท่าเรือแหลมฉบัง มูลค่าการลงทุน 3.3 แสนล้านบาท ซึ่งเหตุผลที่ต้องคิดถมทะเล นายสุริยะอัางว่าเพราะ “ขณะนี้พื้นที่นิคมอุตสาหกรรมแหลมฉบังเต็มแล้วและไม่ขยายพื้นที่ไม่ได้”

รวมทั้งที่ผ่านมา เอ็กซอนโมบิลฯ เสนอถมทะเลบริเวณที่ติดกับโรงกลั่นน้ำมันเพราะโรงงานปิโตรเคมีที่จะตั้งใหม่ต้องใช้วัตถุดิบจากโรงกลั่นที่มีอยู่เดิม จึงต้องมีพื้นที่ติดกัน

ทั้งนี้ กนอ.มองว่าควรถมทะเล 3,000 ไร่ แบ่งเป็นการตั้งโรงงานปิโตรเคมีของเอ็กซอนโมบิล 1,500 ไร่ และเป็นพื้นที่ให้ กนอ.เพื่อพัฒนานิคมอุตสาหกรรมรองรับการลงทุนที่ใช้เทคโนโลยีชั้นสูงอีก 1,500 ไร่

ทาง กนอ. ได้เผิดเผยว่า ได้จ้างสถาบันปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย ศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการ ความคุ้มค่าการลงทุนและผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม โดยใช้เวลา 6 เดือน นับจาก เดือน ส.ค.นี้ 

ทั้งนี้ นายสุริยะ ยืนยันว่า หากผลศึกษาพบว่ามีผลตอบแทนคุ้มค่าการลงทุน กระทบกับสิ่งแวดล้อมน้อยก็ควรเดินหน้าต่อ เพื่อให้ประเทศได้ประโยชน์สูงสุดจากมูลค่าเศรษฐกิจ การจ้างงานที่เพิ่มขึ้น และการถ่ายทอดเทคโนโลยีชั้นสูง แต่หากผลศึกษาพบว่าไม่คุ้มค่าต้องยกเลิกโครงการนี้

“ทุกโครงการมีทั้งบวกและลบ แต่หากผลบวกสูงมากและบริหารจัดการให้มีผลกระทบน้อยที่สุดได้ก็ควรเดินหน้าโครงการ โดยการถมทะเลในต่างประเทศมีมานานแล้ว เช่น ญี่ปุ่น สิงคโปร์ ฮ่องกง และปัจจุบันเทคโนโลยีการถมทะเลก้าวหน้ามากจึงไม่กระทบกับสิ่งแวดล้อมมากนัก" นายสุริยะกล่าวอ้าง