"ยามีล" ลูกพะยูน ป่วยอีก!

"ยามีล" ลูกพะยูน ป่วยอีก!

ทีมแพทย์ระดมกำลังรักษา เผยสาเหตุลำไส้หยุดทำงานอาการยังคงที่

กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง(ทช.) รายงานว่า ลูกพะยูนหลงฝูงเพศผู้อีกตัวที่ยังมีชีวิตอยู่และได้รับการดูแลในบ่ออนุบาลที่ศูนย์วิจัยทช. ทะเลอันดามันจังหวัดภูเก็ต ป่วยตั้งแต่วันที่19 สิงหาคม หลังจาก"มาเรียม" ลูกพะยูนหลงฝูงเพศเมียป่วยและตายลงในวันเสาร์ที่17 สิงหาคมที่ผ่านมา

โดยเช้าวันนี้ ทีมสัตวแพทย์ซึ่งได้ประสานงานกับทีมแพทย์เด็กของโรงพยาบาลวชิระภูเก็ตได้รายงานเข้ามาว่า ยามีลยังคงมีการสะสมของแก๊สในกระเพาะอาหารและบริเวณลำไส้ มีอัตราการเต้นหัวใจสูงและชักเกร็งเป็นบางครั้ง

ทางทีมแพทย์จึงให้ยาช่วยลดอาการปวดและยาซึม ส่วนผลการx-ray พบว่าอาหารส่วนที่เป็นของเหลวสามารถเคลื่อนที่ผ่านระบบทางเดินอาหารได้

โดยแนวทางการรักษาในวันนี้ จะพยายามนำอาหารซึ่งเป็นหญ้าทะเลที่ค้างในกระเพาะออกมาเพื่อลดการหมักหมม และให้สารน้ำและเกลือแร่ผ่านทางท่อให้อาหารร่วมกับการใช้ยาปฎิชีวนะ

ทางทีมแพทย์ระบุว่า"สถานะยังคงเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด"

ยามีล เป็นลูกพะยูนเพศผู้อายุประมาณ 2-3 เดือนที่ถูกพบเกยตื้นบริเวณหาดบ่อม่วง จังหวัดกระบี่ ต้นเดือนกรกฎาคม หลังการเกยตื้นของ"มาเรียม" ลูกพะยูนเพศเมียที่ถูกนำไปเลี้ยงดูในสภาพธรรมชาติเป็นครั้งแรกของโลก และกลายเป็นที่รักของผู้คนที่พบเห็นในโลกโซเชียลมีเดีย

อย่างไรก็ตาม ยามีลขณะที่ถูกพบครั้งแรก มีสภาพอ่อนแรงร่างการเต็มไปด้วยบาดแผล ทีมสัตวแพทย์จึงตัดสินใจนำไปเลี้ยงดูในบ่ออนุบาล ก่อนที่สมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีนารีรัตน์ราชกัญญาจะพระราชทานชื่อให้ว่า ยามีล แปลว่า ชายรูปงามแห่งท้องทะเลคู่กับมาเรียม และทรงรับลูกพะยูนทั้งสองตัวไว้ในโครงการอนุรักษ์แนวปะการังและสิ่งมีชีวิตใต้ทะเลไทยในพระราชดำริพระเจ้าหลานเธอพระองค์เจ้าสิริวัณณวรีนารีรัตน์

โดยเมื่อวานนี้ ทีมสัตวแพทย์ของศูนย์ฯ ได้ร่วมกับทีมแพทย์จากโรงพยาบาลวชิระภูเก็ต ประกอบด้วยแพทย์เด็ก แพทย์ศัลยกรรมวิสัญญี แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านการx-ray และทีมสัตวแพทย์ของศูนย์วิจัยโรคสัตว์น้ำจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตรวจและวินิจฉัยอาการโรคของยามิล โดยระบุว่าสาเหตุการป่วยเกิดจากสภาวะลำไส้หยุดทำงาน ซึ่งในคนมักจะพบได้ในเด็กเป็นอาการที่ลำไส้ไม่มีการเคลื่อนตัว ทำให้อาหารในระบบทางเดินอาหารไม่เคลื่อนที่ จึงเกิดการสะสมและเกิดการสร้างแก๊สขึ้นในระบบทางเดินอาหาร

แก๊สที่เกิดขึ้น ทำให้ผนังลำไส้บางลง เกิดการแตกของเส้นเลือดฝอยทำให้เกิดการติดเชื้อตามมา

นอกจากนี้ แก๊สที่เกิดขึ้นยังส่งผลกระทบไปดันบริเวณปอด ทำให้เกิดการหายใจติดขัดด้วย

ทางทีมแพทย์ได้วางแนวทางการรักษา โดยจะระบายอาหารที่เป็นของแข็งออกจากกระเพาะและลำไส้ ให้สารอาหารและเกลือแร่ประเภทของเหลว ให้ยาบรรเทาปวดเกร็งและยาปฎิชีวนะอย่างต่อเนื่อง พร้อมการเฝ้าระวังตลอด 24 ชั่วโมง และติดตามผลการทำงานของลำไส้โดยใช้เครื่องX-ray และอัลตร้าซาวด์

ทางทีมสัตวแพทย์ตรวจพบอาการเกร็งท้องมาตั้งแต่ช่วงคำ่ของวันที่ 19 สิงหาคม

ทีมแพทย์เฝ้าสังเกตอาการโดยและได้ให้ยาลดอาการอักเสบร่วมกับยากระตุ้นทางเดินอาหาร พร้อมสอดท่อระบายแก๊สทำให้ยามีลมีอาการดีขึ้นบ้าง แต่ยามีลยังมีอาการเกร็งท้อง จนต่อมาได้x-ray พบลำไส้เล็กมีการสะสมของแก๊สเป็นจำนวนมาก กระเพาะอาหารมีอาหารอยู่แต่ไม่มีการเคลื่อนตัว แต่ไม่พบวัตถุแปลกปลอม