สพฉ.เตือนประชาชนเช็คสภาพร่างกายตนเองให้พร้อมก่อนออกกำลังกาย

สพฉ.เตือนประชาชนเช็คสภาพร่างกายตนเองให้พร้อมก่อนออกกำลังกาย

สพฉ.เตือนประชาชนเช็คสภาพร่างกายตนเองให้พร้อมก่อนออกกำลังกายด้วยการวิ่ง ระบุผู้ป่วยกลุ่มโรคหัวใจไม่ควรออกกำลังกายด้วยการวิ่ง แนะวิธีสังเกตอาการหัวใจวาย อาทิ แน่นหน้าอกเหมือนมีอะไรหนักๆ มากดทับ จุกแน่นหรือแสบบริเวณลิ้นปี่ หายใจสั้น หอบ

เรืออากาศเอกนายแพทย์อัจฉริยะ แพงมา เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ กล่าวถึงกรณีที่มีนักวิ่งเสียชีวิตในงานวิ่งวังขนายมาราธอน ที่จังหวัดกาญจนบุรีถึง 2 รายว่า สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติต้องขอแสดงความเสียใจต่อครอบครัวของผู้สูญเสียทุกท่านด้วย ทั้งนี้ก่อนหน้านี้เราเคยมีข้อแนะนำสำหรับประชาชนทั่วไปที่จะออกกำลังกายด้วยการวิ่ง วันนี้ขอนำข้อแนะนำนั้นมาบอกกล่าวกับประชาชนอีกครั้งเพื่อให้ประชาชนได้ใช้เป็นข้อระมัดระวังและสำรวจตนเองในการออกกำลังกายให้เหมาะกับสภาพร่างกายของตนเองด้วย สำหรับการวิ่งให้ปลอดภัยแบ่งออกเป็น 2 กรณีดังนี้

เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ กล่าวว่า กรณีที่หนึ่งคือการวิ่งออกกำลังกายบนท้องถนนทั่วไป ที่ไม่ใช่งานวิ่งตามเทศกาลที่เขาจัดขึ้นตามงานต่างๆ โดยทางด้านสภาพแวดล้อมในการวิ่งผู้วิ่งควรจะต้องประเมินความปลอดภัยของสภาพแวดล้อมเป็นอันดับแรกโดยไม่ควรใส่หูฟังเพื่อฟังเพลงในขณะวิ่ง เพราะจะทำให้เราไม่ได้ยินเสียงจากสภาพแวดล้อมรอบตัวเราที่อาจทำให้เกิดอันตรายได้เช่นเสียแตรรถยนต์ เสียงรถที่อาจจะทำให้เราเกิดอุบัติเหตุ และหากวิ่งตอนกลางคืนผู้วิ่งควรใส่เสื้อสะท้อนแสงหรือเสื้อสีสว่างที่จะทำให้รถยนต์หรือคนอื่นๆเห็นผู้วิ่งได้ชัดเจน และที่สำคัญคือควรพกบัตรประจำตัวประชาชนและบัตรผู้ป่วยที่บอกโรคประจำตัวของเราอย่างชัดเจนพร้อมทั้งพกโทรศัพท์และเบอร์คนที่ผู้พบเห็นสามารถติดต่อได้อย่างรวดเร็วหากเกิดเหตุไม่คาดฝันกับเราได้

 

เรืออากาศเอกนายแพทย์อัจฉริยะกล่าวถึงกรณีที่สอง คือการวิ่งมาราธอนหรือการวิ่งระยะยาวในสนามต่างๆ ซึ่งขณะนี้มีประชาชนจำนวนมากหันมาออกกำลังกายด้วยการวิ่งชนิดนี้ สำหรับการวิ่งมาราธอนนั้นเป็นการวิ่งที่ผู้วิ่งต้องใช้ความแข็งแรงและความทนทานของกล้ามเนื้อ รวมถึงระบบหัวใจและหลอดเลือด เพราะการวิ่งในลักษณะนี้จะต้องใช้พลังงานในการวิ่งอย่างมากและต้องเคลื่อนไหวร่างกายอย่างต่อเนื่อง ดังนั้นผู้ที่จะออกกำลังกายด้วยการวิ่งมาราธอนนั้นจะต้องมีการเตรียมตัวให้ดีโดยต้องประเมินสุขภาพของตนเองก่อนวิ่งเป็นอันดับแรก และหากเรายังไม่แน่ใจว่าร่างกายของเราพร้อมกับการวิ่งหรือไม่เราควรพบแพทย์ เพื่อทำการตรวจสุขภาพว่าเราไม่ได้เป็นโรคที่เสี่ยงต่อการออกกำลังกายด้วยการวิ่ง

เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติกล่าวเพิ่มเติมว่า โรคที่เป็นอันตรายสำหรับการออกกำลังกายด้วยการวิ่งคือโรคที่เกี่ยวกับการทำงานของหัวใจอาทิโรคหัวใจขาดเลือด โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ โรคกล้ามเนื้อหัวใจโต หรือ โรคความดันโลหิตสูง โรคหอบหืด เบาหวาน และโรคที่เกี่ยวกับกระดูกหรือข้อ ซึ่งโรคต่างๆ เหล่านี้ไม่ควรออกกำลังกายด้วยการวิ่งมาราธอนหรือการวิ่งในสนามระยะยาว โดยเฉพาะผู้ป่วยที่อยู่ในกลุ่มโรคหัวใจอาจจะทำเกิดภาวะหัวใจวายได้ ซึ่งสัญญาณอันตรายก่อนจะเกิดอาการหัวใจวายผู้ป่วยจะรู้สึกแน่นหน้าอกเหมือนมีอะไรหนักๆ มากดทับ จุกแน่นหรือแสบบริเวณลิ้นปี่ หายใจสั้น หอบ อาจมีอาการเจ็บร้าวที่บริเวณแขน คอ ไหล่ และกราม เหงื่อออกท่วมตัว คลื่นไส้ หน้ามืด ใจสั่น ถ้าเราออกกำลังกายแล้วมีอาการข้างต้นอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือหลายอาการประกอบกันให้หยุดออกกำลังกายทันที แล้วแจ้งให้คนใกล้ตัวทราบ และต้องรีบไปพบแพทย์สนามในบริเวณของการวิ่งหรือหากไม่มีแพทย์สนามก็ให้รีบโทรแจ้งสายฉุกเฉิน 1669 ทันที

เรืออากาศเอกนายแพทย์อัจฉริยะ กล่าวถึงข้อแนะนำในการปฏิบัติก่อนทำการวิ่งด้วยว่า สำหรับผู้ที่ปรึกษาแพทย์และตรวจร่างกายอย่างสม่ำเสมอแล้วว่าตนเองไม่ได้อยู่ในโรคกลุ่มเสี่ยงต่อการออกกำลังกายด้วยการวิ่งนั้น การปฏิบัติตัวคือ ผู้วิ่งต้องควรจะต้องมีการอบอุ่นร่างกายและยืดเหยียดกล้ามเนื้ออย่างเพียงพอ งดการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อย่างน้อย 24 ชั่วโมงก่อนการวิ่ง รับประทานอาหารก่อนการวิ่งล่วงหน้า 1-2 ชั่วโมง ควรดื่มน้ำให้เพียงพอก่อนออกกำลังกาย 30 นาที เพื่อป้องกันร่างกายขาดน้ำ แต่ที่สำคัญคือไม่ควรดื่มมากจนเกินไปเพราะอาจทำให้ระดับเกลือแร่ในร่างกายผิดปกติและเกิดอาการสมองบวมตามมาได้ นอกจากนี้ในระหว่างวิ่งผู้วิ่งควรสังเกตปริมาณและสีของปัสสาวะ หากปัสสาวะน้อยและสีเข้มขึ้นแสดงว่าร่างกายยังขาดน้ำ ควรดื่มน้ำเพิ่ม แต่ถ้าปัสสาวะมาก สีจางใส และบ่อยกว่าปกติ มีอาการเวียนศีรษะ มึนงง อาจเป็นการแสดงว่าร่างกายได้รับน้ำมากจนเกินพอแล้ว และที่สำคัญที่สุดหากผู้วิ่งมีอาการหน้ามืดหรือมีอาการเจ็บหน้าอกให้หยุดวิ่งและควรรีบพบแพทย์สนามที่ผู้จัดงานวิ่งได้จัดเตรียมไว้ทันที